เนื้อหาวันที่ : 2006-12-22 10:21:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1788 views

นักวิจัย จากสถาบันเอไอที ชี้ระบบเตือนภัยสึนามิไทยแจ๋ง

นักวิจัยให้ความมั่นใจนักท่องเที่ยวที่เดินไปภาคใต้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ไม่ควรวิตกกังวล เหตุขณะนี้ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิมีหอกระจายข่าวสำหรับเตือนภัยอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

นักวิจัยให้ความมั่นใจนักท่องเที่ยวที่เดินไปภาคใต้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ไม่ควรวิตกกังวล เหตุขณะนี้ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิมีหอกระจายข่าวสำหรับเตือนภัยอยู่แล้ว และการสื่อสารจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ จึงไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด  พร้อมเดินหน้าสร้างระบบเตือนภัยสึนามิระดับภูมิภาคขึ้น
ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายประเทศทั้งไทย  ฟิลิปปินส์  พม่า ศรีลังกา มัลดีฟ ฯลฯ เหตุเชื่อว่าการปลดปล่อยพลังงานของแผ่นดินไหวเมื่อปลาย 2547 ที่ทำให้เกิดสึนามิอาจจะยังไม่หมดไป โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะอันดามันไปจนถึงทางตอนใต้ของประะเทศพม่า จึงควรมีการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือจนกว่าจะวางใจได้

.

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง  วานิชชัย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) หัวหน้าโครงการวิจัย การลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย  โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดภัยสึนามิแล้วนั้น สถานการณ์การท่องเที่ยวในภาคใต้ยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร จึงอยากฝากให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ไม่ควรวิตกกังวลในเรื่องนี้ให้มากนัก อยากให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าขณะนี้ในพื้นที่เสี่ยงภัยนั้นมีหอกระจายข่าวสำหรับเตือนภัยอยู่แล้ว และการสื่อสารจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าจะต้องกังวลใจแต่อย่างใด ส่วนที่ว่าสึนามิจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่ในอนาคตนั้นไม่มีใครรู้ แต่ปัญหาของสึนามิที่พึ่งเกิดไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้นเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวในทะเลบนรอยต่อระหว่างเปลือกโลกที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดนี้โอกาสที่จะเกิดซ้ำนั้นมีน้อยมาก  ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แล้วก็จะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นจำนวนมาก

.
และอาจจะต้องใช้เวลาสะสมพลังงานบริเวณนั้นใหม่เป็นร้อยปีจึงจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้ง ปัญหาที่ทำให้เราต้องมานั่งเฝ้าระวังและจัดทำระบบเตือนภัย เป็นเพราะว่าเวลาเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แต่ละครั้ง ไม่ได้มีการปลดปล่อยพลังงานออกมาตลอดแนวตะเข็บ แต่จะมีการปลดปล่อยพลังงานเฉพาะบางช่วงเท่านั้น เช่นในครั้งที่แล้วเป็นการปลดปล่อยพลังงานบริเวณรอยตะเข็บที่อยู่บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ไล่ไปถึงหมู่เกาะนิโคบาร์ ส่วนบริเวณแนวตะเข็บที่อยู่เหนือขึ้นไปบริเวณอันดามันไปจนถึงทางตอนใต้ของประเทศพม่ายังมีพลังงานสะสมอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งหากบริเวณดังกล่าวมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดสึนามิที่รุนแรงได้
.

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวต่อว่า  การเกิดแผ่นดินไหวนั้นเป็นเรื่องไม่แน่นอน บางทีเมื่อเกิดแล้วก็จะหยุดไปนาน   แล้วก็จะไปเกิดในบริเวณใกล้เคียงอีกเมื่อเวลาผ่านไปนาน   แต่จากข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาการเกิดแผ่นดินไหวในบางแห่งของพื้นที่พบว่าในบางบริเวณมีการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เป็นชุด เช่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 – 9 ริกเตอร์หลายครั้งติดต่อกันในระยะเวลาสั้น เพียง 10 – 20 ปี แล้วจึงหายไป และจะเกิดขึ้นอีกครั้งต่อเมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ดังนั้นเมื่อกลับมาดูข้อมูลทำให้ไม่แน่ใจว่าการเกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยตะเข็บขนาดใหญ่มันจบลงแล้วหรือยัง  ทั้งนี้เพราะหลังจากเกิดสึนามิที่อาเจะห์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แล้วก็ยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกที่บริเวณเกาะ NIAS ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอาเจะห์   8.5 ริกเตอร์เมื่อเดือนมีนาคม 2548 ซึ่งเป็นแนวรอยตะเข็บเดิมจากที่อาเจะห์ ขณะนี้มีข้อกังวลว่าการเกิดแผ่นดินไหวนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในบริเวณตอนเหนือของอาเจะห์หรือไม่  ซึ่งบริเวณที่คิดว่าน่าจะยังมีการกักเก็บพลังงานในรูปของความเค้น ความเครียดในแผ่นเปลือกโลกอยู่คือบริเวณแถวหมู่เกาะอันดามันไล่ไปถึงทางตอนใต้ของประเทศพม่า ที่น้ำทะเลยังลึกอยู่ และถ้าหากเกิดการไถลตัวตัวของแผ่นเปลือกโลกแล้วก็จะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  และอาจทำให้เกิดสึนามิได้ แต่ในครั้งนี้คลื่นจะวิ่งมาหาประเทศไทยในทิศทางที่ต่างจากครั้งที่แล้ว 

.

โดยจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบคือพังงา  และระนอง ซึ่งคงจะเป็นจุดเดิมที่เคยเกิดมาแล้ว เพียงแต่ว่าคลื่นจะมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือแทน ส่วนที่ว่าถ้าเกิดสึนามิและมีคลื่นในลักษณะนี้คลื่นที่กระทบฝั่งจะมีความแรงหรือสูงมากน้อยเพียงใดนั้นขณะนี้เรายังมีข้อมูลไม่มากพออย่างไรก็ตามเพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการสร้างระบบเตือนภัยสึนามิระดับภูมิภาคขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหลายประเทศในภูมิภาคนี้คือ ประเทศไทย พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน กัมพูชา  ลาว  ศรีลังกา มัลดีฟ และบังคลาเทศ โดยงบประมาณที่ได้มาจากหลายแห่ง แต่มีประเทศไทยเป็นแกนหลัก และมีศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติแห่งเอเชียเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ (ADPC) 

.

โดยศูนย์นี้ตั้งอยู่ในแคมปัสชของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและ AIT ก็ให้การสนับสนุนและร่วมมือในการจัดตั้งระบบเตือนภัยนี้  สำหรับระบบเตือนภัยนี้มีทั้งระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศ  และมีระบบตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในหลายประเทศ ซึ่งศูนย์มีแผนจะติดตั้งสถานีวัดระดับน้ำผ่านดาวเทียมให้ได้ 5 สถานีภายในระยะเวลา 1-2 ปี  โดยขณะนี้สามารถติดตั้งได้แล้ว 2 สถานี  คือ 1.สถานีเกาะเมียง  บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน ประเทศไทย 2. สถานีเกาะตะเพาน้อย บริเวณเกาะภูเก็ต 3. บริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศพม่า 4. บริเวณอ่าวซูบิค ประเทศฟิลิปปินส์  และ 5. บริเวณประเทศเวียดนาม ส่วนสถานีวัดแผ่นดินไหวนั้นจะกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศพม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว และไทย

.

สำหรับประเทศไทยที่เลือก 2 สถานีเพราะเป็นสถานีตรวจวัดน้ำของเครือข่ายนานาชาติ ซึ่งดูแลโดยองค์กร IOC ของยูเนสโก เพียงแต่ว่าหลาย สถานีไม่ได้ส่งข้อมูลแบบทันท่วงที แต่ส่งข้อมูลช้าอาจเป็นสัปดาห์หรือเดือน แต่เมื่อเราเข้าไปปรับปรุงสถานีจะสามารถส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ใหม่ทำให้สามารถใช้ข้อมูลในการเตือนภัยได้ โดยข้อมูลที่แต่ละสถานีส่งให้จะเป็นข้อมูลดิบ เมื่อทางศูนย์ได้รับข้อมูลแล้วก็จะมีระบบรับและวิเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถ้าจุดที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในทะเล และอยู่ใกล้ชายฝั่ง พื้นที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงอาจจะต้องถูกเตือนภัยก่อน โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่เช่นข้อมูลแผ่นดินไหว เป็นต้น

.

ส่วนพื้นที่ที่อยู่ไกลอาจต้องรอดูข้อมูลจากเครื่องวัดระดับน้ำ เพื่อยืนยันการเกิดสึนามิว่าจะเกิดหรือไม่อย่างไร ถ้าไม่มีสึนามิเกิดขึ้นก็จะยกเลิกการเตือนภัย แต่ถ้าเกิดสึนามิก็จะเปลี่ยนจากการเตือนภัยมาเป็นการสั่งให้อพยพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงด้วย  ซึ่งคาดว่าภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ ระบบเตือนภัยสึนามิระดับภูมิภาคน่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ส่วนที่ว่าระบบนี้จะทับซ้อนกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ซ้อนทับกันแต่จะเป็นการเสริมประสิทธิภาพให้ศูนย์เตือนภัยสามารถทำงานได้ดีขึ้นโดยได้รับข้อมูลจากเครือข่ายสถานีวัดระดับภูมิภาคถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติแห่งเอเชียก็สามารถเตือนภัยได้พอสมควร

.

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติของประเทศไทยก็สามารถเตือนภัยได้อยู่แล้ว เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าหากมีการพัฒนาระบบเตือนภัยให้ดีขึ้น ก็จะช่วยให้การเตือนภัยทำได้แม่นยำ รวดเร็วขึ้น และข้อมูลรายละเอียดที่ส่งให้ประชาชนจะชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น ถึงขนาดบอกได้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีคลื่นสูงเท่าไหร่ และจะมาถึงในเวลาเท่าไหร่ แต่ขณะนี้สามารถบอกได้แค่เพียงว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่เท่านั้น รศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวต่อว่า เพื่อให้การรับมือกับภัยสึนามิมีความพร้อมมากขึ้น ขณะนี้ตนและเพื่อนร่วมงานได้เข้าไปร่วมมือกับทีมงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการศึกษาวิธีการออกแบบโครงสร้างอาคารในพื้นที่เสียงภัยสึนามิให้สามารถต้านทานแรงสึนามิได้

.

เพราะว่าบางพื้นที่น้ำสึนามิท่วมเข้าไปลึกมาก ต่อให้มีการเตือนภัยไปก็อาจจะหนีไม่ทัน จึงต้องมีอาคารสำหรับให้คนอพยพหนีภัยขึ้นแนวดิ่งได้ โดยอาคารดังกล่าวอาจเป็นอาคารที่สร้างใหม่เพื่อใช้สำหรับวัตุประสงค์นี้โดยตรง หรือเป็นอาคารที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นอาคารที่แข็งแรงเพียงพอ สามารถนำมาดัดแปลงเป็นอาคารอพยพได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการจำลองคลื่นสึนามิในขนาด 1 : 100 ในอุโมงค์คลื่น เพื่อหาแรงที่สึนามิกระทำกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง  แรงดันที่กระทำต่อผนัง แรงกระแทกที่กระทำต่อตัวอาคารด้วย ซึ่งขณะนี้แบบจำลองในเบื้องต้นสำเร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบกรณีตัวอย่าง

.

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียจึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำ ฐานข้อมูลด้านภัยพิบัติ ขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัยคือบริเวณภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดกาญจนบุรี โดยทำการรวบรวมข้อมูลอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างเพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งหากทำสำเร็จในอนาคตจะสามารถตรวจเช็คสถานการณ์แผ่นดินไหว พร้อมประเมินความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับทำแผนรับมือภัยพิบัติได้อย่างเป็น  ซึ่งคาดว่าการจัดทำฐานข้อมูลนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี และเมื่อแล้วเสร็จสามารถนำฐานข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการประเมินผลกระทบภัยพิบัติด้านอื่นได้ด้วยทั้งน้ำท่วม พายุได้ต่อไป