เนื้อหาวันที่ : 2009-11-16 14:18:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2018 views

ผ่ากึ๋นเยอรมนีกับสิ่งทอทางเลือก มองความหวัง อนาคตสิ่งทอไทย

ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้ยอดส่งออกวูบลงอย่างน่าใจหาย “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” ส่งออกลดลง 15.5% หลายฝ่ายต่างเร่งหาหนทางปรับตัว บวกกับนโยบาย Creative Economy ของรัฐบาลการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ชื่อว่า “สิ่งทอทางเลือก” จึงเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดในเวลานี้

.

จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่โหมกระหน่ำ ทำให้ระบบเศรษฐกิจซวนเซไปตามๆ กัน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบไปไม่น้อย ยอดการส่งออกในแต่ละสาขาตกวูบลงอย่างน่าใจหาย “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” ก็เช่นกัน โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ยอดการส่งออกลดลงร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายรวมถึงเหล่าผู้ประกอบการจึงไม่อาจอยู่นิ่งได้ ต่างเร่งหาหนทางใหม่ๆ สำหรับประคับประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤติ  

.

สอดคล้องกับนโยบาย Creative Economy ของรัฐบาล  ที่เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและยังเป็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมไทย การพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ชื่อว่า “สิ่งทอทางเลือก” หรือ Technical Textiles จึงเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดในเวลานี้

.

“สิ่งทอทางเลือก” (Technical Textiles)  เป็นสิ่งทอเทคนิค ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เป็นเสมือนความหวังของอนาคตอุตสาหกรรมไทยที่น่าจับตามอง เพราะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้มีคุณสมบัติพิเศษ เป็นการสร้างมูลเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ได้ โดยจะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างไปจากสิ่งทอแบบทั่วไป (Conventional Textiles) 

.

เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการนำไปใช้งานเฉพาะทาง มากกว่าผลิตขึ้นเพื่อความสวยงามหรือเพื่อการตกแต่ง  ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์สิ่งทอเฉพาะทางได้แก่ ถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เสื้อเกราะกันกระสุน ซึ่งมักเป็นการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยตรงจากเส้นใย เรียกว่าผ้าไม่ถักไม่ทอ หรือ นอนวูฟเวน (nonwoven) ซึ่งกำลังมีการขยายตัวค่อนข้างสูง

.

อีกทั้ง ตลาดสิ่งทอทางเลือก นับว่ามีอัตราที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี สูงกว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วไป ที่มีอัตราเติบโตในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น  และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงด้วย ในปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอของทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือจึงได้พัฒนาตนเองจากเดิมที่ผลิตสิ่งทอประเภท Conventional Textile ไปสู่ Technical Textiles มากขึ้น

.

จากการขยายตัวของ Technical Textiles ที่มีมากขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้ไปศึกษาดูงานเทคโนโลยีใหม่ๆ และการวิจัยพัฒนา วิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่จากบริษัทผู้ประกอบการ แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันวิจัยสิ่งทอเทคนิค ภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา 2552 และเข้าร่วมงาน Techtextil 2009  ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้า วัตถุดิบ และแนวความคิด

.

รวมถึงผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นสิ่งทอ แสดงให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดสิ่งทอเทคนิคที่มีสูงขึ้น ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยเฉพาะนวัตกรรมด้าน Technical Textiles   

.

เหตุที่ต้องเลือกเยือนถิ่นเมืองเบียร์เยอรมนี เนื่องจากมีส่วนแบ่งการตลาดส่งออกของ Technical Textiles เป็นอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 12.5 รองลงมาเป็น สหรัฐอเมริกา ครองส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 10.8 และ จีน ร้อยละ 8.8 ตามลำดับ

.

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนก็ยังเป็นคู่แข่งสำคัญที่ประเทศอื่นๆ ไม่ควรประมาท เนื่องจากมียอดส่งออกเติบโตในอัตราที่สูงมากและคาดว่าจะแซงหน้าเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้และการศึกษาดูงานเชิงลึกเสมือนกุญแจดอกสำคัญไขไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนา Technical Textiles ของไทย

.

เมื่อมองดูถึงตลาดเสื้อผ้าในเยอรมนีนั้น  มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ที่สำคัญๆ ได้แก่ จีน และ ตุรกี โดยมีสินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอดในระยะ 3 - 4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งสินค้าของไทยเองก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในเยอรมนีอยู่ และด้วยเหตุที่มีการนำเข้าเป็นหลัก จึงมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างรุนแรง

.

ปัจจัยหลักที่ใช้ในการพิจารณาซื้อสินค้าจึงอยู่ที่ราคาเป็นสำคัญ ส่วนรูปแบบและสีสรร เป็นปัจจัยรองลงมา ซึ่งโดยรวมแล้วจะต้องมีคุณภาพดีและราคาเหมาะสมจึงจะสามารถครองใจตลาดได้ ถึงแม้จะเป็นสินค้ามียี่ห้อ (Brand name) ใหม่ ก็มีสิทธิ์ได้รับความสนใจพอๆ กันกับสินค้าที่มียี่ห้อเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

.

หากมีคุณสมบัติดังกล่าว โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นำเข้าโดยทั่วไปมีราคาต่ำกว่าการผลิตในประเทศ เยอรมนีจึงให้ความสำคัญในการคิดค้น ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอประเภท High-Tech มากขึ้น ได้แก่ เส้นด้าย หรือผ้าผืน ตลอดจนเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ที่มาจากนวัตกรรมของ Technical Textiles

.

ส่วนในทวีปเอเชีย ก็มีการตื่นตัวให้ความสำคัญกับสิ่งทอทางเลือกนี้ เช่น ในไต้หวัน ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจในด้าน Technical Textiles จากเดิมร้อยละ 10 ของภาคธุรกิจสิ่งทอทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ประเทศอื่นๆ ที่เริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาและสนับสนุนสิ่งทอประเภทนี้มากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่มีอัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกลายเป็นม้ามืด ครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกสิ่งทอทางเลือกแซงหน้าประเทศอื่นได้ในที่สุด

.

สำหรับในประเทศไทย ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจกับ Technical Textiles มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมองเห็นช่องทางการขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี สศอ.และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงเป็นหัวหอกหลักในการผลักดันแผนพัฒนาในรูปแบบต่างๆ โดยอัดฉีดงบประมาณในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบหลายรายการ

.

ตลอดจนจัดสร้างฐานข้อมูลเชิงลึกเพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี 2552 ภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา สศอ.ได้สนับสนุนงบประมาณให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

.

ดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา Technical Textiles เพื่อหาแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอทางเลือกให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า รองรับความต้องการของตลาดที่เปิดกว้าง และมีส่วนแบ่งตลาดที่ขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานภาพของไทยในการพัฒนาสิ่งทอทางเลือกในขณะนี้ อาจจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศใน

.

แถบยุโรป ซึ่งมีการพัฒนาล้ำหน้าจนสามารถมีผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาดแล้ว เนื่องจากมีความได้เปรียบเรื่องความพร้อมทางเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งหากไม่เร่งยกระดับการพัฒนาจะเสียโอกาสในการแข่งขันในที่สุด

.

อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญของไทยในเวลานี้ จึงอยู่ที่เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการผลิต คือ การผลิตเส้นใยประสิทธิภาพสูง (high performance fiber) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่ก็คือ โรงงานสิ่งทอในประเทศเกือบทั้งหมดเป็นแบบสิ่งทอทั่วไป และมีการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากกว่าการพัฒนาขึ้นมาเอง

.

ทำให้การปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตเข้าสู่สิ่งทอเฉพาะทางนั้นเป็นไปค่อนข้างช้า จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาต่อไป โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต รวมไปถึงการเรียนรู้ และพัฒนาการออกแบบผลิตสิ่งทอเฉพาะทางรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้

.

หากวิเคราะห์ช่องทางการตลาดสำหรับ Technical Textiles ในประเทศไทย ช่องทางที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือการเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สนับสนุนในรถยนต์ เช่น พัฒนาเส้นใยขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเข็มขัดนิรภัย

.

รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ทั้ง พรมรถยนต์ ผ้าหุ้มเบาะ ถุงลมนิรภัย ไส้กรองน้ำมันเครื่อง ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ไส้กรองอากาศ ที่บังแดด รวมถึงเป็นผ้าใบไนลอนหรือผ้าใบโพลีเอสเตอร์ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์

.

โดยมีการคำนวณแล้วว่าในปัจจุบันรถยนต์แต่ละคันมีปริมาณการใช้ Technical Textile คิดเป็นน้ำหนักโดยเฉลี่ยราว 21 กิโลกรัม และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 26 กิโลกรัมและ 35 กิโลกรัม ในปี 2553 และปี 2563 ตามลำดับ การที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกสำคัญแห่งโลก จึงเสมือนเป็นการการันตีที่แน่นอนแล้วว่า Technical Textiles ย่อมมีที่ยืนอย่างมั่นคงแน่นอน

.

นอกจากนี้ สิ่งทอเทคนิคในยานยนต์ (Mobiltech) นับเป็นสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาดสูงและเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ตระหนักถึงความจำเป็น ในการหาหนทางอยู่รอดให้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย และพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวสู่การพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรม Technical Textiles ซึ่งเป็นสิ่งทอเทคนิคที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูง และมีคุณสมบัติ รวมทั้งรูปแบบเฉพาะที่สนองตอบวัตถุประสงค์ในการใช้งานได้ 

.

สิ่งทอทางเลือก จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจของไทย ที่ใช้ศักยภาพทางความคิดไปต่อยอดและพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นโอกาสในการก้าวสู่ตลาดโลก แม้ยังมิอาจเทียบชั้นประเทศเยอรมนีผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งของโลก แต่จุดเริ่มในการพัฒนาคือการตอกเสาเข็มแห่งความสำเร็จ เพียงแค่ได้รับการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีเพิ่มเติม ผสานกับการนำองค์ความรู้เข้าไปใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ถึงจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีโอกาสเติบโตได้ไม่ยากนัก

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม