เนื้อหาวันที่ : 2009-11-13 11:48:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1127 views

ก.อุตสาหกรรมฝันปี 53 อุตฯไทยไปได้สวย ขยายตัวเป็นบวก

ก.อุตสาหกรรมคุยโวภาพรวมอุตสาหกรรมไทยส่งสัญญานฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังติดลบนาน 11 เดือน คาดตัวเลขปี 53 ขยายตัวเป็นบวก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-สิ่งทอต้นน้ำ ยิ้มรับออร์เดอร์ ขณะที่ Hard disk drive ยังแกร่ง ครองแชมป์แตะบวก 5 เดือนติด

.

กระทรวงอุตสาหกรรมคุยโวภาพรวมอุตสาหกรรมไทยส่งสัญญานฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังติดลบนาน 11 เดือน คาดตัวเลขปี 53 ขยายตัวเป็นบวก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-สิ่งทอต้นน้ำ ยิ้มรับออร์เดอร์ ขณะที่ Hard disk drive ยังแกร่ง ครองแชมป์แตะบวก 5 เดือนติด

.

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในปี 2552 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นแม้อัตราการขยายตัวจะยังติดลบแต่ติดลบน้อย โดยจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี และแนวโน้มในปี 2553 กลับมาขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนมาตรการกระตุ้นต่างๆจากภาครัฐเริ่มมีผล ทำให้การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นเป็นลำดับ

.

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีจุดต่ำสุดในช่วงเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา โดยหดตัวร้อยละ 25.6 แล้วเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ อัตราการหดตัวน้อยลงเรื่อยๆ และในเดือนกันยายน ที่ผ่านมากลับฟื้นตัวเป็นบวกร้อยละ 1 ครั้งแรกในรอบ 11 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

.

หากพิจารณารายไตรมาสพบว่าในไตรมาสที่ 1 ที่ถือเป็นจุดต่ำสุดของ MPI โดยหดตัวร้อยละ 22.0 ไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 10.7 และไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 5.5 ไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 และทั้งปีคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 8.5 สำหรับปี 2553 ทิศทางการขยายตัวจะดีขึ้นเป็นลำดับ โดยคาดว่าจะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 6.0-8.0 

.

สำหรับ GDP ภาคอุตสาหกรรม  ภาพรวมในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 5.9 และในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงร้อยละ 4.5-5.5 เช่นเดียวกับอัตราการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น จึงส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของ GDP ภาคอุตสาหกรรม

.

อีกปัจจัยหนึ่งคือการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยในเดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.7 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 15.9 นับเป็นการหดตัวน้อยลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

.

ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิต ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในไตรมาสที่ 3/52 อยู่ที่ร้อยละ58.0 จากไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 53.9 และ 9 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 54.7 โดยหลายอุตสาหกรรม ได้รับปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ที่เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น

.

อุตสาหกรรมที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสิ่งทอต้นน้ำ โดยเฉพาะ Hard disk drive ที่ยังคงขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น

.

ในส่วนของทิศทางการขยายตัวอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญโดย กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2552 เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตจะมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 10 แต่อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 4 จะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ทั้งการผลิตและการจำหน่าย เนื่องจากตลาดหลักทั้ง จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีการปรับตัวดีขึ้น

.

โดยแนวโน้มในปี 2553 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.24  และการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตหนึ่งที่สำคัญของโลก รวมถึงตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่ของโลก และเป็นตลาดหลักของไทยเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นแล้ว

.

อุตสาหกรรมรถยนต์ ในปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จะชะลอตัวโดยมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 970,000 คัน ลดลงร้อยละ 30.42  แต่คาดว่าในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มร้อยละ 5-10 ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับตลาดในประเทศ มีปัจจัยบวกจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ซึ่งจะมีค่ายรถยนต์เปิดตัว Eco Car ในช่วงต้นปี 2553

.

ทั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นตลาดได้อีกทางหนึ่ง และปัจจัยหนึ่งมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลต่อความต้องการหรือพฤติกรรมการเลือกซื้อรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

.

อุตสาหกรรมอาหาร ในปี 2552 เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตและส่งออกลดลงเล็กน้อย โดยการผลิตลดลงร้อยละ 0.5  ส่วนการส่งออกลดลงร้อยละ 8.4 เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย  โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทย

.

เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป แม้จะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลง ทั้งนี้คาดว่าในปี 2553 การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1.8

.

ขณะที่การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในรูปเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกจะปรับลดลง  ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก แต่จากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาคที่เป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า เช่น จีน เวียดนาม รวมถึงการปรับตัวในการรักษาความปลอดภัยของอาหารของทั้งสองประเทศที่ดีขึ้น อาจส่งผลให้การส่งออกอาหารของไทยไม่ขยายตัวมากนัก  

.

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิต การจำหน่ายในประเทศ การส่งออก รวมทั้งการนำเข้า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อย่างไรก็ตามเริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาบ้างแล้วในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้  ซึ่งโรงงานหลายแห่งได้เพิ่มกำลังการผลิต ทำให้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมาโดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ

.

ในขณะเดียวกันการส่งออกเส้นใยสิ่งทอของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ มีแนวโน้มการส่งออกดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากแนวโน้มความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพของหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ขาดสิ่งทอต้นน้ำ

.

สำหรับในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2552 เนื่องจากแนวโน้มตลาดมีความต้องการมากขึ้น  โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จากการทำสัญญาภายใต้กรอบความร่วมมือ JTEPA ซึ่งคาดว่าไทยจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดตามคำสั่งซื้อของญี่ปุ่นจากร้อยละ 1.2 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 5 หรือมูลค่าส่งออก 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2555

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม