เนื้อหาวันที่ : 2006-12-19 11:10:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2364 views

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสินค้าปลอมแปลงและสินค้าเลียนแบบ

ปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธกันได้แล้วว่า ปัญหาสินค้าปลอมแปลงและสินค้าเลียนแบบสำหรับตลาดเมืองไทยนั้นมีให้เห็นอย่างมากมาย

ปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธกันได้แล้วว่า ปัญหาสินค้าปลอมแปลงและสินค้าเลียนแบบสำหรับตลาดเมืองไทยนั้น เราต่างต้องยอมรับด้วยซ้ำว่ามีให้เห็นอย่างมากมาย ตั้งแต่สินค้าราคามูลค่าหลักสิบไปจนถึงสินค้ามูลค่าหลักหมื่นไปยันหลักแสนก็ยังมี สำหรับสินค้าปลอมแปลงและสินค้าเลียนแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเสมือนการปลอมแปลงและการเลียนแบบสินค้าเป็นการขโมยสมองของผู้คิดค้นและผลิต ซึ่งผู้ผลิตต้องใช้เวลาและใช้เงินในการลงทุน แต่เมื่อสินค้าติดตลาดก็กลับมีมือดีนำมาก๊อปปี้กันจนแทบเรียกง่าย ๆ ว่าไม่เห็นใจหัวจิตหัวใจของผู้ผลิตซะอย่างนั้น ทั้งที่ผู้ผลิตทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อให้ได้สิ่งที่มีความตั้งใจจะนำมาทำให้เกิดมูลค่าทางพาณิชยกรรม แต่เชื่อไหมว่าการปลอมแปลงและการเลียนแบบในสมัยนี้ ซึ่งปัจจุบันมีให้เป็นเครือข่ายตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่ แล้วจนไปลามถึงยังระดับประเทศก็มี จนกระทบกระเทือนแม้ระบบเศรษฐกิจในระดับชาติได้ นี่คือต้นเรื่องที่จะนำมาเสนอท่านผู้อ่านทุกท่านในฉบับนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางสหภาพยุโรปเองก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างหนักหน่วง จนต้องเกิดความร่วมมือที่ดีกับประเทศไทย แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เราลองมาติดตามอ่านกันต่อไปเลยค่ะ

.

สหภาพยุโรปจับมือกับไทยร่วมกันปราบปรามสินค้าปลอมแปลงและสินค้าเลียนแบบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบัน กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเครือข่ายการผลิตและการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ มีการกระทำกันในระดับสากลและมีการบริหารจัดการกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนกลายมาเป็นปัญหาที่หนักอก และส่งผลระทบต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของไทยมาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคการลักลอบปลอมแปลงสินค้ายังเป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยอีกด้วย

.

ข้อตกลงอันว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การค้าโลก หรือ TRIPS กำหนดให้กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ร่วมมือกันปราบปรามการผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้าปลอมแปลงกันอย่างจริงจัง ดังนั้น ภายใต้โครงการความร่วมมือทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป หรือ อีแคป2 (EC-ASEAN Intellectual Property Right Co-operation Programme)  และกรมศุลกากร จึงได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรในตำแหน่งสารวัตรศุลกากรหรือนายตรวจศุลกากร ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารวมทั้งข้าราชการจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาการค้าระหว่างประเทศ  กรมสอบสวนคดีพิเศษ  กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สำนักงานอัยการสูงสุดทางคดีเศรษฐกิจ   สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหอการค้าไทย   สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและตัวแทนเจ้าของสิทธิ์  ซึ่งรวมทั้งสิ้นประมาณ 60 ราย ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดทักษะเฉพาะด้านเกี่ยวกับหลักการของการบริหารความเสี่ยงในการตรวจปล่อยสินค้า เพื่อการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตามยุทธศาสตร์ของกรมศุลกากร อันว่าด้วยเรื่องมิติใหม่ในการควบคุมทางศุลกากร

.

สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการนั้น โดยมี ดร.สถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ อธิบดีกรมศุลกากร และ ดร.ฟรีดดริค ฮัมบวร์เกอร์ หัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ ในหัวข้อ การกำหนดเป้าหมาย โดยใช้การบริหารความเสี่ยง (APPLICATION OF TRAGETED RISK MANAGEMENT FOR CUSTOMS) ที่เพิ่งผ่านมาเร็ว ๆ นี้

.

การอบรมในครั้งนี้ นอกจากประเทศไทยจะได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ความชำนาญระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยและสหภาพยุโรปแล้ว ยังเป็นการรับทราบถึงเทคนิคใหม่และมีประสิทธิภาพที่สหภาพยุโรปได้ใช้ในการหยุดยั้ง การนำเข้า-ส่งออกสินค้าปลอมแปลงเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่แล้ว ยังพร้อมให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ ๆ เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานระหว่างกรมศุลกากรและหน่วยงานอื่น ๆ ได้ปรับบทบาทและวิธีการปฏิบัติงานให้ประสานงานสอดคล้องกับทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของกรมศุลกากร รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายในกรมศุลกากรสามารถปรับเปลี่ยนบทบาท และวิธีการปฏิบัติงานให้เป็นไปในลักษณะบูรณาการ เพื่อการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากันอย่างจริงจัง

.

สำหรับทางด้านผลงานการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของกรมศุลกากรไทยนั้น ได้ดำเนินการจัดชุดเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของภาคเอกชนสามารถติดตามการขยายผลการจับกุม ทั้งผู้กระทำผิดและการนำของกลางที่ถูกจับกุมมาทำลายเป็นจำนวนมาก โดยปีงบประมาณ 2548 ที่ผ่านมานั้น ทางกรมศุลกากรไทยสามารถจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไปได้ เป็นจำนวน 141 ราย ปริมาณ 1,881,797 ชิ้น ซึ่งรวมมูลค่าแล้วทั้งสิ้น 37.57 ล้านบาท

.

การลักลอบปลอมแปลงและเลียนแบบสินค้านั้น สามารถส่งผลกระทบต่อการค้าโลกด้วยเช่นกัน ในปี 2547 ด่านสหภาพยุโรปสามารถจับกุมสินค้าผิดกฎหมายได้เป็นจำนวน 103,000,000 ชิ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ถึงร้อยละ 12 และในปัจจุบันการปลอมแปลงสินค้ามิได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่เพียงสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยเท่านั้น   แต่ยังครอบคลุมไปถึงสินค้าอุปโภคและบริโภคทั่วไปอย่างเช่น ลูกกวาด หมากฝรั่ง และแม้กระทั่งแอปเปิ้ลรวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ เหตุผลหลักที่ทำให้สินค้าปลอมแปลงและเลียนแบบเพิ่มขึ้นในอัตราสูง นั่นคือ การค้าขายที่ให้ผลกำไรสูง เมื่อเทียบกับบทลงโทษที่ไม่หนักและไม่รุนแรง รวมถึง ความสามารถในการปลอมแปลงสินค้าที่ซับซ้อนขึ้นเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ละเมิดสิทธิ์สามารถผลิตสินค้าผิดกฎหมายได้คราวละมาก  

.

ทางด้านการจัดจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคนั้น สามารถสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปมาก เป็นเพราะผู้ผลิตผิดกฎหมายเหล่านี้สามารถดำเนินการทั้งหมดในตลาดมืด จึงทำให้ที่การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกได้ประเมินมูลค่าสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ตกประมาณปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5-7 ของการค้าโลกเลยทีเดียว (ข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่ ECAP II Programme Management Unit)

.

ซึ่งเป็นข่าวคราวที่ผู้ประกอบการค้าในเมืองไทยควรทราบไว้ถึงผลกระทบจากสินค้าในตลาดมืดเหล่านี้ สามารถส่งผลถึงระดับการค้าโลก ซึ่งประเทศไทยก็คือหนึ่งในสมาชิกที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ไม่น่าเชื่อนะค่ะว่า ผลกระทบนี้จะสามารถรุกลามไปถึงการค้าในระดับประเทศทั่วโลกได้อย่างทั่วถึง แต่เราก็สามารถเห็นได้จากการจับกุมสินค้าในตลาดมืดของแต่ละปี ซึ่งมีสถิติสูงขึ้นในระดับที่น่ากลัว ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงต้องยื่นขอความร่วมมือมายังศุลกากรไทยให้เพิ่มเติมระบบการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานสากล แต่ผลการดำเนินงานจะเป็นไปอย่างไรนั้น เราคงต้องมาลองติดตามกันต่อไปในปี 2549 นี้กันอีกค่ะ

.

ก็ต้องขอขอบพระคุณ คุณศริษา มงคลไชยสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมศุลกากร ที่ได้นำข้อมูลดี ๆ และมีความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยมานำเสนอในฉบับนี้ด้วยนะค่ะ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้า สวัสดีค่ะ