เนื้อหาวันที่ : 2009-11-02 14:35:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4287 views

ภาพรวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รอบโลก และประสบการณ์จากฝรั่งเศส

ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังเคลื่อนตัวอย่างเงียบกริบในประเทศไทย ถึงขั้นมีการสำรวจพื้นที่เหมาะสม 5 แห่งสุดท้ายแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งทั่วโลกกลับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ลง หรือแม้กระทั่งปิดตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงเรื่อย ๆ การสร้างโรงไฟฟ้านิเคลียร์จะเป็นทางเลือกด้านพลังงานในอนาคตที่ถูกต้องจริงหรือ?

ไมเคิล ชไนเดอร์: ภาพรวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รอบโลก และประสบการณ์จากฝรั่งเศส (1)

.

ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังเคลื่อนตัวอย่างเงียบกริบในประเทศไทย มีการบรรจุแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า มีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ และสำรวจพื้นที่เหมาะสม 5 แห่งสุดท้ายแล้ว เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากฝรั่งเศสมาบอกเล่าประสบการณ์ให้คนไทยได้รับฟัง 

.

Mycle Schneider เป็นที่ปรึกษาอิสระระดับสากลด้านพลังงานและนโยบายนิวเคลียร์ นำเสนอข้อมูลการศึกษาภาพรวมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก รวมถึงข้อมูลอีกด้านของประเทศซึ่งมีขนาดพื้นที่ ประชากรใกล้เคียงกันกับประเทศไทย และใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนถึง 80% 

.
ต่อไปนี้คือการเรียบเรียงข้อมูล จากการบรรยายของเขาที่สมาคมนักข่าวฯ และที่วุฒิสภา เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคมที่ผ่านมา 

.
1.กลับมาฮิตติดลมบนอีกครั้ง ? 

หากจะหาช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เห็นจะอยู่ในช่วงทศวรรษ 1970 -1980 ช่วงนั้นมีการก่อสร้างกันเป็นร้อยโรงต่อปี แล้วยอดก็เริ่มตกลงมาเรื่อย ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ระบุว่า ในปี 2005 เหลือ 26 เตา ในปี 2009 อาจดูเพิ่มมานิดหน่อยเป็น 52 เตา แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับยุครุ่งแห่งความรุ่งโรจน์ ที่สำคัญแม้โครงการก่อสร้างจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ส่งไฟเข้าระบบได้จริงอาจไม่เป็นไปตามนั้น 

.

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงสุดท้ายที่ต่อเข้าสายส่งได้จริง เกิดขึ้นในปี 2007 ที่โรมาเนียหลังจากปลุกปล้ำก่อสร้างกันมา 24 ปี หลังจากนั้นยังไม่มีโครงการใหม่เลย 

.

กราฟเปรียบเทียบจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่อง (สีเขียว) และที่ปิดตัวลง (สีส้ม)

.

ในจำนวน 52 เตาที่กำลังก่อสร้างกันในปัจจุบัน ในจำนวนนี้ 16 เตาอยู่ในประเทศจีน และครึ่งหนึ่งของจำนวนที่อยู่ในจีนนั้นก็เรียกได้ว่าล่าช้ากว่ากำหนดเป็นอย่างมาก อีกครึ่งเริ่มสร้างเมื่อไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา 

.

หรือถ้านับรวม 4 ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ จะพบว่ามีอยู่ 36 เตา ขณะที่ประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์อย่างฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ กลับสร้างเพียงประเทศละ 1-2 เตา 

.

ตารางจำนวนโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างในประเทศต่างๆ

.

หรือหากมองภาพรวมทั่วโลก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งมีอยู่ใน 31 ประเทศนั้น กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ หลายประเทศมีโรงงานนิวเคลียร์แต่ไม่ได้ใช้เพื่อไฟฟ้ามากนัก ในปี 2007 กำลังการผลิตติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกลดลง 2% เทียบกับ 28% ในการผลิตไฟฟ้าระดับชุมชน ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

.

2 ใน 3 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ใน 6 ประเทศและครึ่งหนึ่งก็เป็นประเทศที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ คือ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รัสเซีย นอกจากนั้นคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี 

.

ตารางจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังเดินเครื่องและกระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ 

.

นับถึงปี 2007 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกสามารถส่งไฟเข้าระบบได้ 27,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 5.5% ของพลังงานพื้นฐานเชิงพาณิชย์ของทั่วทั้งโลก อย่างไรก็ตาม พลังงานลมและแสดงอาทิตย์เพิ่มกำลังส่งเข้าระบบสูงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งพลังงานชีวมวลที่เริ่มใช้กันมาก็ไม่ถูกนับเป็นพลังงานพื้นฐานเชิงพาณิชย์ของประเทศต่างๆ 

.

กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก พลังงานนิวเคลียร์ ลม และแสงอาทิตย์
ระหว่างปี 1990 -2008

.
2.พลังงานเสถียร มั่นคง ? 

กราฟของอียูก็เช่นเดียวกับของทั่วโลก คือ หลังทศวรรษ 1990 แล้วมีการลดลงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเห็นได้ชัด ช่วงปี 2008-2009 ก็มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ ลดน้อยลง 34 เตา เมื่อเทียบกับปี 1990 จริงๆ แล้วพบว่าทั้งในอียู อินเดีย เยอรมนี ญี่ปุ่น มีหลายเตาที่หยุดส่งไฟเข้าระบบ 

.

ดังนั้น การบอกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าฐานหรือกำลังการผลิตพึ่งพาได้ ก็ยังเป็นที่น่าสงสัย

.

การก่อสร้างที่ชะงักไปนั้น มีหลายเหตุผล ตั้งแต่กรณีที่การก่อสร้างบางส่วนบางขั้นตอนยังไม่ได้มาตรฐาน  การถูกชาวบ้านในพื้นที่ฟ้องร้องและอยู่ระหว่างดำเนินคดี บางแห่งมีปัญหาการขอใบอนุญาต

.

ขณะที่ประเทศออสเตรียมีปัญหาว่า มีการทำประชามติหลังก่อสร้างเสร็จแล้ว ปรากฏชาวบ้านมีมติไม่ให้เปิดใช้โรงไฟฟ้าดังกล่าว หรือบางที่ก็พบว่ามีอุปกรณ์บางส่วนเสียแล้วไม่คุ้มกับการซ่อมจึงตัดสินใจเลิกเดินเครื่อง ส่วนในญี่ปุ่นหลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการก็ตัดสินใจปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งเพื่อความปลอดภัย เพราะพบว่ามีการรั่วของกัมมันตภาพรังสี 

.

นอกจากนี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่บอกว่าเตาปฏิกรณ์จะมีอายุใช้งานประมาณ 40 ปี แต่อายุขัยเฉลี่ยของเตาปฏิกรณ์ที่พอจะยอมรับกันจะอยู่ที่ 25 ปี แต่ถ้าดูจาก 117 เตาที่ปิดไปแล้ว จะพบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 22 ปีเท่านั้น ถือว่าอายุค่อนข้างสั้น จริงๆแล้วตัวเลขจะย่ำแย่กว่านี้หากไม่มีบางเตาที่มีอายุยาวนานถึง 40 กว่าปี ซึ่งไม่ใช่เตาเพื่อผลิตไฟฟ้าแต่เป็นเตาเพื่อผลิตอาวุธ

.
3. ไฟฟ้าราคาถูก ?

แม้ไฟฟ้าจากการดำเนินการผลิตจะค่อนข้างถูก แต่ต้นทุนในการก่อสร้างนั้นมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงการหลายๆ แห่งล่าช้ากว่ากำหนดอยู่เสมอตัวอย่างความล่าช้าในการก่อสร้าง อันหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ตัวอย่างจากประเทศจีน

.

ซึ่งมีการประมาณการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ตั้งแต่ปี 1985 ว่า ภายในปี 2000 จะผลิตไฟฟ้าได้ 20,000 MW แต่ทำได้จริงแค่ 2,185 MW หรือทำได้จริง 11% ของที่ประมาณการไว้ ต่อมาจึงเลื่อนปีประมาณการไปเป็นปี 2010 ปรากฏว่าก็ยังทำได้เพียง 10,282 (ในปี 2009) หรือทำได้จริง 51% ที่ประมาณการไว้ ล่าสุด จึงเลื่อนเป้าหมายไปที่ปี 2020 โดยประมาณการว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 40,000 เมกะวัตต์ 

.

ตารางแสดงความเปลี่ยนแปลงในการประมาณการกำลังการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศจีน

.

ไม่แน่ใจนักว่าตัวเลขผลผลิตไฟฟ้าที่สูงเช่นนั้นมาได้อย่างไร และมีแผนจะทำอย่างไรต่อไปบ้าง แต่ที่แน่ชัดแล้วก็คือแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังออกมาเปิดเผยว่าไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ และ “เราควรดำเนินการไปอย่างช้าๆ จะดีกว่า เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยให้มากขึ้น แทนที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้น”

.

อีกตัวอย่างหนึ่งคือโครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟินแลนด์  โครงการนี้วางแผนเมื่อปี 1998-1999 เริ่มสร้างจริงเมื่อปี 2005 ตามแผนกำหนดว่ากลางปี 2009 จะต้องต่อสายส่ง แต่จากการก่อสร้างที่ล่าช้าไป 3 ปี ทำให้งบประมาณเกินเพิ่มขึ้นมา 2.3 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นสูงถึง 50% ของมูลค่าต้นทุนการก่อสร้างทั้งหมด

.

อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันก่อนในระหว่างการก่อสร้าง เจ้าหนาที่ที่ควบคุมคุณภาพสั่งให้หยุดการเชื่อมตัวอาคาร เพราะมีปัญหาไม่ได้คุณภาพที่เหมาะสม นี่ชี้ให้เห็นว่าขนาดประเทศมหาอำนาจดำเนินการก็ยังมีปัญหาได้เช่นกัน 

.

.

นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ก็แพงมาก เพราะต้องการความปลอดภัยสูง ยิ่งเทคโนโลยียิ่งใหม่ ยิ่งฉลาดเท่าไร ต้นทุนต่อหน่วยของพลังงานที่ผลิตได้ยิ่งสูง ในสหรัฐฯ บางโรงมีต้นทุนต่อหน่วยกิโลวัตต์ สูงถึง 10,000 เหรียญ เกินกว่าต้นทุนที่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์กล่าวอ้าง และนักลงทุนเอกชนเองก็เริ่มขยาดกับการลงทุนเองมากขึ้นทุกที

.

เมื่อขาดแคลนผู้ลงทุน ผู้ส่งเสริมการขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็หันมาหาประชาชนผู้เสียภาษี โดยรัฐบาลสหรัฐได้อุดหนุนเงินแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 1-5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงมาหลายทศวรรษแล้ว ในปี 2005 ซึ่งขาดแคลนคำสั่งซื้ออย่างมาก อตุสาหกรรมนิวเคลียร์ที่มีอิทธิพลทางการเมืองก็ได้รับเงินอุดหนุนจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5-9 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ 

.
4. ลดโลกร้อน ?

เราพบว่าหากใช้เงินจำนวนเท่ากัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะลดก๊าซเรือนกระจากได้น้อยกว่าอันอื่นๆ ตั้งแต่ 2-20 เท่า ระยะเวลาที่ใช้ก็มากกว่าเทคโนโลยีอื่นถึง 10 เท่าเพื่อจะลดปริมาณก๊าซ CO2 ในปริมาณเท่ากัน 

.

การใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (End-use efficiency) เป็นทางเลือกที่ถูกที่สุด และนั่นเป็นวิธีที่รัฐแคลิฟอร์เนียรักษาระดับการใช้ไฟฟ้าต่อหัวให้คงที่อยู่ได้มาถึง 3 ปีแล้ว สามารถประหยัดการลงทุนผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1 แสนล้านดอลล่าร์ มีงานวิจัยพบว่าการประหยัดไปฟ้าสามารถชดเชยการบริโภคไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตในปี 2030 ได้ 85% เพียงแค่สหรัฐอเมริกาทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ 10 รัฐที่ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทำอยู่ตอนนี้ 

.
5. ประเทศพัฒนาแล้วชอบนิวเคลียร์ ?

มีการ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ปรากฏว่ามีเพียง 2 ประเทศคือ บัลกาเรีย และสาธารณรัฐเช็ก ที่ประชาชนเห็นว่าควรเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉลี่ย 60% ของประชากรในสหภาพยุโรปเห็นว่าควรลดสัดส่วนการใช้นิวเคลียร์ 

.

ภาพแสดงจำนวนสัดส่วนประชาชนในประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย
กับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์

.
6. กากนิวเคลียร์รีไซเคิลได้ หายห่วง ?

บริษัทผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มักอ้างว่าสามารถแก้ปัญหาเรื่องกากนิวเคลียร์ซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีสูงและหาที่จัดเก็บยากลำบาก มีอายุยาวนานมากได้แล้ว โดยปัจจุบันสามารถนำแท่งยูเรเนียมมาสู่กระบวนการผลิตเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ แต่จริงๆ แล้วกระบวนการ reprocessing นั้นถึงที่สุดเมื่อหมดอายุการใช้งานก็กลายเป็นขยะนิวเคลียร์อยู่ดี  

.

แทนที่จะเป็นขั้นตอนง่ายๆ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์กลับทำให้มันซับซ้อน แล้วอ้างว่าเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งที่จริงแล้วเป็นการสร้างกากนิวเคลียร์ในรูปแบบต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว

.

Mycle Schneider

.

ทำงานเป็นที่ปรึกษาอิสระระดับสากลด้านพลังงานและนโยบายนิวเคลียร์ ระหว่างปี 2526 - เมษายน 2546 ไมเคิล ชไนเดอร์ เป็นผู้อำนวยการบริหารแผนกข้อมูลด้านพลังงานขององค์กร WISE ปารีส และเป็นบรรณาธิการใหญ่ของเว็บไซต์ Plutonium Investigation ตั้งแต่ปี 2543 

.

เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงสิ่งแวดล้อม เยอรมนี ตั้งแต่ปี 2547 เขายังรับผิดชอบต่อโครงการบรรยายด้านยุทธศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสาขาวิชามหาบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อการบริหารโครงการเพื่อวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่มหาวิทยาลัย Ecole des Mines ที่เมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศส

.

ในปี 2550 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสากลด้านวัสดุฟิสไซล์ (International Panel on Fissile Materials - IPFM) ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยพริ้นสตัน สหรัฐอเมริกา(www.fissilematerials.org) และยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อิสระ (Independent Group of Scientific Experts - IGSE)  ซึ่งทำหน้าที่สืบค้นโครงการการผลิตวัสดุที่สามารถใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ที่ทำแบบปกปิด (www.igse.org) เป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮัมบรูก ประเทศเยอรมันนี 

.

ในระหว่างปี 2549-2550 เขาเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาซึ่งทำการประเมินการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และปัญหาด้านเงินทุนของการจัดการของเสีย ในนามของคณะกรรมาธิการยุโรป ในปี 2548 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการจัดการกากกัมมันตรังสีแห่งสหราชอาณาจักร (UK Committee on Radioactive Waste Management - CoRWM) ทั้งยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารกองทุนทาคากิ เพื่อวิทยาศาสตร์ของประชาชนที่กรุงโตเกียวระหว่างปี 2544-2548 

.

ระหว่างปี 2541-2546 เขาเป็นที่ปรึกษาสำนักงานกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศฝรั่งเศส และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีพลังงานและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเบลเยียม 

.

ไมเคิล ชไนเดอร์ เคยให้ปากคำต่อรัฐสภาที่ประเทศออสเตรเลีย เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรและรัฐสภายุโรป เขาได้รับเชิญให้ไปบรรยายทั้งสี่ทวีปรวมทั้งที่มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน กรุงออตตาวา (แคนาดา) มหาวิทยาลัยชิงหัว (จีน) มหาวิทยาลัย Ecole de Commerce, Rouen (ฝรั่งเศส), มหาวิทยาลัย Freie Universität กรุงเบอร์ลิน (เยอรมนี) และมหาวิทยาลัย Ritsumeikan University กรุงเกียวโต (ญี่ปุ่น)

.

ไมเคิล ชไนเดอร์ ยังให้บริการข้อมูลและคำปรึกษากับผู้ใช้บริการหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นทบวงการพลังงานปรมาณูสากล (International Atomic Energy Agency - IAEA) Greenpeace International, International Physicians for the Prevention of Nuclear War (IPPNW), UNESCO, Worldwide Fund for Nature (WWF), the European Commission, European Parliament’s General Directorate for Research, the Oxford Research Group, the French National Scientific Research Council (CNRS) และ French Institute for Radiation Protection and Nuclear Safety (IRSN)

.

ผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกเคยสัมภาษณ์ขอข้อมูล ขอคำปรึกษา และมีการถ่ายทำบทสัมภาษณ์ทั้งที่ออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุ สื่ออิเลคทรอนิกส์และสื่อสิ่งพิมพ์

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท