เนื้อหาวันที่ : 2009-10-31 22:15:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3127 views

ภาคประชาสังคมไทย ร่วมร้องจีนระงับวางท่อก๊าซจากพม่าไปจีน

ภาคประชาสังคมไทย ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเฉว่ บุกถึงสถานทูตจีนร้องหู จิ่น เทา ระงับวางท่อก๊าซจากพม่าไปจีน ชี้ภัยละเมิดสิทธิ์-พื้นที่ความขัดแย้ง

ภาคประชาสังคมไทย ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเฉว่ บุกถึงสถานทูตจีนเรียกร้องจีนระงับวางท่อก๊าซจากพม่าไปจีน ชี้ภัยละเมิดสิทธิ์-พื้นที่ความขัดแย้ง

.

วันที่ 28 ต.ค. เวลา 2.30 น. กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเฉว่ (Shwe Gas Movement : DGM ) ร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคเหนือ กลุ่มเพื่อนพม่า และเครือข่ายภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นพม่า ราว 10 คน ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ นายหู จิ่น เทา ประธานาธิบดีจีน เพื่อให้มีการชะลอโครงการวางท่อขนส่งก๊าซและน้ำมันจากฐานขุดเจาะเฉว่ ในรัฐอาระกัน (ยะไข่)

.

ที่ดำเนินการโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีน คือ บริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (China National Petroleum Company: CNPC) เพื่อส่งก๊าซจากพม่าไปที่มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านทางสถานทูตจีน ในจังหวัดเชียงใหม่

.

บรรยากาศหน้าสถานทูตจีน จ.เชียงใหม่

.

กลุ่มผู้เรียกร้องในครั้งนี้ให้เหตุผลว่า โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับหลายพันชุมชนที่อาศัยอยู่ในแนวท่อก๊าซที่ยาวกว่า 980 กิโลเมตร ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการยึดที่ดินทำกิน การบังคับใช้แรงงาน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีท่อก๊าซจากฐานขุดเจาะยาดานาซึ่งเป็นการพัฒนารวมระหว่างประเทศฝรั่งเศสและยูโนแคลคอร์ปอเรชั่นของสหรัฐอเมริกา

.

อีกทั้งในพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มแนวร่วมกองทัพประชาธิปไตยแห่งชาติโกก้าง (Kokang Myanmar National Democratic Alliance Army / MNDAA) โดยในส่วนรัฐบาลจีนมีอำนาจที่จะระงับโครงการนี้ และถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดขึ้น

.

สำหรับจดหมายถึงประธานาธิบดีจีน ระบุข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปกป้องมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากภัยของการวางท่อก๊าซในพม่า 3 ประการ ด้วยวิธี 1.ระงับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันดังกล่าวชั่วคราว จนกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเบาบางลง 2.ให้หลักประกันว่าบริษัทจากจีนจะดำเนินโครงการในต่างประเทศโดยยึดกฎหมายจีนเท่าๆ กับยึดกฎหมายระหว่างประเทศ และปฏิบัติตามนโยบายที่จีนและบริษัทจีนยึดถือ

.

 3.ปฏิบัติตามความพยายามของประธานาธิบดีหู จิ่น เทา ก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้มีการเจรจาสามฝ่ายในพม่า อันเป็นหนทางของการปรองดองในชาติ การพัฒนา ประชาธิปไตย และรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค

.

อนึ่ง จดหมายดังกล่าวมีการลงนามจากองค์กรประชาสังคมและฝ่ายการเมืองจาก 20 ประเทศ กว่า 115 องค์กร และในวันเดียวกันได้มีการนัดหมายกันเพื่อส่งจดหมายนี้ในแก่ผู้นำจีน ผ่านทางสถานทูตในประเทศไทย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย สวีเดน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ

.

ทั้งนี้ มีการประมาณการณ์ว่า โครงการท่อแก๊ส-น้ำมันนี้จะทำให้พม่ามีรายได้อย่างต่ำ 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.015 ล้านล้านบาทใน 30 ปีข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกันผลกระทบของโครงการนี้ก็ได้เริ่มต้นแล้ว หลังจากที่มีกำหนดให้ดำเนินการตั้งแต่เมื่อกันยายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลพม่าได้ห้ามไม่ให้ชาวบ้านทำการประมงในพื้นที่ขุดเจาะนอกชายฝั่ง ตลอดจนมีการเวรคืนที่ดินในพื้นที่ที่จะมีการวางแนวท่อก๊าซในรัฐอาระกัน และเพิ่มกำลังทหารมากขึ้นตลอดแนวท่อส่งก๊าซโครงการดังกล่าว 

.

นายวง อ่อง (Wong Aung) ผู้ประสานงานสากลจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเฉว่ อ่านข้อเรียกร้อง

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าสถานทูตจีน และชูป้ายแสดงการคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและตำรวจสันติบาลคอยเฝ้าสังเกตการณ์อย่างแน่นหนา จากนั้นเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนได้มารับจดหมายโดยไม่ยอมให้สัมภาษณ์และไม่ยอมบอกชื่อแก่สื่อมวลชนที่ไปทำข่าว

.

ทั้งนี้ มีการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยถึงกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้ว่าไม่ควรยื่นจดหมายเกิน 10 คน โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมกับรัฐบาลพม่าว่าจะดูแลการใช้พื้นที่ประเทศไทยเพื่อการเรียกร้องในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับประเทศพม่า 

.

ยื่นหนังสือแก่เจ้าหน้าที่ของสถานทูต

.

ด้านเยาวชนพม่าที่เข้าสังเกตุการณ์การเคลื่นไหวในวันนี้ กล่าวยอมรับว่าเครือข่ายคนพม่าที่เคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับพม่าในประเทศไทย ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากองค์กรที่มาเคลื่อนไหวในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจดทะเบียน

.

ส่วนการเคลื่อนไหวในประเทศพม่าก็ทำได้ยากเพราะถูกปราบปรามโดยรัฐบาล และรัฐบาลพม่ายังได้ส่งคนเข้ามาแทรกแซงในองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าตำรวจดำเนินการจับกุมกลุ่มผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพม่า

.

นอกจากนี้ เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีเจ้าหน้าที่ทำการบุกเข้าจับกุมนักกิจกรรมชาวพม่าจำนวนหนึ่งถึงสำนักงาน แม้ต่อมาจะได้รับการประสานงานให้มีการปล่อยตัว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่คนทำงานในเรื่องสวัสดิภาพ และความปลอดภัย

.

เขากล่าวด้วยว่าประเทศไทยในฐานะประเทศที่เปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพ มีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมืองค่อนข้างมาก และไทยกับพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพม่าย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นปัญหาเฉพาะในพม่า อีกทั้งยังเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน จุดนี้จึงน่าจะเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นร่วมกัน

.

อีกทั้งในส่วนประเทศไทยเองก็มีความพยามยามเข้าไปลงทุนในพม่าเป็นเม็ดเงินปีละหลายร้อยล้านบาท เมื่อในพม่าไม่มีความสงบ ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองนั่นย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุน อีกทั้งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของนักลงทุนไทยบางโครงการก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนพม่าอันนำมาสู่ปัญหาผู้อพยพเช่นกัน

.

อย่างไรก็ตาม เยาวชนพม่าได้กล่าวว่า โดยส่วนตัวการออกมาเคลื่อนไหวนั้นไม่ว่าการเมืองภายในประเทศพม่าจะสงบหรือไม่ เขาขอให้มีการคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน โดยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ลงไปในพื้นที่ควรเป็นโครงการที่ยังยืนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ให้พวกเขาสามารถปกป้องวิถีชีวิต วัฒนธรรมของตนเองได้ การเคลื่อนไหวไม่ใช่แค่ทางการเมือง แต่เพื่อความยั่งยืนของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

.

เส้นทางวางท่อส่งก๊าซจากมหาสมุทรอินเดียด้านรัฐอาระกัน สหภาพพม่า ผ่านพื้นที่ตอนกลางของพม่าเพื่อเข้าสู่มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนระยะทางกว่า 2,380 กิโลเมตร (ที่มาของภาพ: Arakan Oil Watch)

.

ทั้งนี้ โครงการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติเฉว่ มีการสำรวจพบแหล่งก๊าซอยู่ใต้ทะเลบริเวณรัฐอาระกัน (ยะไข่) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า ใกล้กับชายฝั่งทะเลบังคลาเทศและอินเดีย ได้รับการสำรวจครั้งแรกโดยบริษัทแดวูอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 หลังจากนั้นจึงเริ่มมีบริษัทอื่นเข้ามาร่วมสำรวจ จนถึงปี 2548 มีบริษัทจากเกาหลีใต้ อินเดีย จีน และสิงคโปร์เข้ามามีส่วนแบ่งในการสัมปทานแหล่งก๊าซเหล่านี้ ส่วนประเทศที่ได้รับการลงนามซื้อขายก๊าซเพิ่งมีประเทศจีนเพียงประเทศเดียว

.

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันได้รับก๊าซธรรมชาติจำนวนหนึ่งพันล้านคิวบิคฟุตต่อวันจากประเทศพม่า และเป็นประเทศที่มีการลงทุนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามในพม่าตามหลังสิงคโปร์ และอังกฤษ โดยไทยได้รับก๊าซจากแหล่งยาดานา และเยตากุนในรัฐมอญ

.

หมายเหตุ: Shwe Gas Movement คือการร่วมมือกันขององค์กรจากพม่าที่อยู่ในประเทศไทย อินเดีย บังกลาเทศและพม่า ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.shwe.org

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท