เนื้อหาวันที่ : 2009-10-28 12:10:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1115 views

สศค.คุยโวมาตรการรัฐหนุนจีดีพีติดลบ 3% ดันศก.ไทยไตรมาส 3 ผงกหัว

ข่าวดี! เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เริ่มผงกหัว สศค. แจงรับอานิสงส์มาตรการรัฐดันจีดีพีติดลบแค่ 3% ระบุการบริโภค-ลงทุน ฟื้นขณะที่โค้งสุดท้ายลุ้นพลิกเป็นบวก ด้านความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ก.ย.ทะยานติดลมบนสูงสุดรอบ 2 ปี 10 เดือน เหตุยอดสั่งออร์เดอร์เริ่มหวนคืน

ข่าวดี! เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เริ่มผงกหัว สศค. แจงรับอานิสงส์มาตรการรัฐดันจีดีพีติดลบแค่ 3% ระบุการบริโภค-ลงทุน ฟื้นขณะที่โค้งสุดท้ายลุ้นพลิกเป็นบวก ด้านความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ก.ย.ทะยานติดลมบนสูงสุดรอบ 2 ปี 10 เดือน เหตุยอดสั่งออร์เดอร์เริ่มหวนคืน

.

นายเอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหาภาค (สศค.)

.

นายเอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหาภาค (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเครื่องชี้เศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ย.และไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ว่า เศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ตัวเลขเศรษฐกิจแสดงถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่ต่างหดตัวลดลง

.

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวเป็นบวก แสดงให้เห็นถึงทิศทางเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอัตราการว่างงานที่กลับมาอยู่ในภาวะปกติที่1.2% ของกำลังแรงงาน สะท้อนถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งมาก ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐถือว่าเป็นระดับที่สูง

.

ทั้งนี้จากตัวเลขเครื่องชี้ทั้งหมดที่ สศค.มี ทำให้คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวเป็นบวก 2% และหากเปรียบเทียบไตรมาสที่ 3/52 กับไตรมาสที่ 3/51 สศค.ประเมินว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะอยู่ที่ติดลบ 3.5-4.0% ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ติดลบ 4.9%

.

สำหรับจีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ สศค.ยืนยันว่าจะพลิกกลับเป็นบวก 3-4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 51 ซึ่งจะทำให้จีดีพีครึ่งหลังของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 0% จากครึ่งปีแรกติดลบ 6% ซึ่งคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้อยู่ที่ลบ 3% จะต้องรอการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 3 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นทางการอีกครั้ง

.

นายเอกนิติ กล่าวว่า สำหรับการบริโภคภาคเอกชนในเดือน ก.ย.และไตรมาส 3 มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ก.ย. ติดลบ 9.6% ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัว 15.5% ต่อปี  

.

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ระดับ 68.4 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น  

.

โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในเดือน ก.ย.และไตรมาสที่ 3 ก็มีสัญญาณของการฟื้นตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือน ก.ย.ที่หดตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่งผลทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสที่ 3 หดตัวเหลือ 12.4% ต่อปี

.

สำหรับด้านการส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ เดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 14.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ลบ 8.5% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 41.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวชะลอลงที่ลบ 17.7% ต่อปี ชี้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของภาคส่งออกเริ่มชัดเจนขึ้น 

.

เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ส่วน การนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ พบว่ามีการหดตัวต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลง 28.0% ต่อปี

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ก.ย.52 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,130 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ว่า ค่าดัชนีเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ส.ค.ที่ระดับ 88 และเป็นดัชนีฯ ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปีกับ 10 เดือนนับตั้งแต่ พ.ย.49 เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อ การผลิต ต้นทุนและผลประกอบการเริ่มปรับตัวดีขึ้นมาก

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. ว่า ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 186.59  เพิ่มขึ้น 1% จากระดับ 184.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน หลังจากเผชิญภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่กลางปี 2551

.

เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยฟื้นตัวตามไปด้วยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก ฮาร์ดดิสไดร์ส การกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตเหล็ก ยานยนต์เริ่มฟื้นอย่างต่อเนื่อง

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง