เนื้อหาวันที่ : 2009-10-27 15:58:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1510 views

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ พุ่งทำสถิติ 95.9 เหตุออเดอร์หวนคืน

สอท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 95.9 อานิสงส์ออเดอร์เริ่มหวนคืน บวกกับต้นทุนและผลประกอบการเริ่มดีขึ้น คาดอีก 3 เดือนพุ่งแตะ 102.1 จับตาปัญหามาบตาพุด หวั่นฉุดความเชื่อมั่นดิ่งเหวอีก

สอท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 95.9 อานิสงส์ออเดอร์เริ่มหวนคืน บวกกับต้นทุนและผลประกอบการเริ่มดีขึ้น คาดอีก 3 เดือนพุ่งแตะ 102.1 จับตาปัญหามาบตาพุด หวั่นฉุดความเชื่อมั่นดิ่งเหวอีก

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกันยายน 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,130 ตัวอย่าง

.

ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวขึ้นจากเดือนสิงหาคม ที่ระดับ 88.0 เป็นผลมาจากองค์ประกอบดัชนีทุกตัวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

.

ทั้งนี้เป็นเพราะกำลังซึ้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบลดลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำการผลิตได้ตามปกติ ระดับราคาน้ำมันขายปลีกซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนการขนส่งที่สำคัญลดลง นอกจากนี้ ยอดขายต่างประเทศสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น

.

อนึ่งการสำรวจในเดือนกันยายน ยังไม่รวมผลกระทบจากมาบตาพุดและปัญหาน้ำท่วม ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการในแต่ละภาคส่วน

.

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ102.1 ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 102.9 ในเดือนกันยายน 2552 เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ราคาขาย และผลประกอบการจะสูงขึ้น องค์ประกอบดังกล่าว ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวสูงขึ้น

.

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งนี้อุตสาหกรรมขนาดย่อม กลางและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการปรับตัวจากยอดขายในต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งในอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง, อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคโดยดัชนีในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ86.6, 80.3, 91.8, 98.8 และ 87.5 ในเดือนสิงหาคมตามลำดับ สู่ระดับ 95.7, 83.9, 94.5, 120.5 และ 93.6 ในเดือนกันยายนตามลำดับ 

.

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องติดตามของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกนี้ก็คือกรณีของมาบตาพุด ว่าสุดท้ายแล้วรัฐจะมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้เช่นไร เนื่องจากจะกระทบต่อการลงทุนในภาคตะวันออกและสร้างความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง

.

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า มีการปรับตัวขึ้นในทั้ง 2 กลุ่มตลาด ทั้งนี้เป็นเพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อมากขึ้น ในขณะเดียวกันการส่งออกในหลายอุตสาหกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย 

.

เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรรมยาง อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศอยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.6 ในเดือนกันยายน ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับเพิ่มจาก 86.1 มาอยู่ที่ระดับ 98.8 ในเดือนนี้

.

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต้นทุนในเรื่องของน้ำมัน สถานการณ์เศรษฐกิจโลก การเมืองภายในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามลำดับ โดยพบว่าร้อยละของผู้ประกอบการที่กังวลในหลายประเด็นลดลง ทั้งนี้เป็นเพราะการปรับตัวลงของราคาน้ำมันขายปลีก ทำให้ต้นทุนลดลง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยยังคงที่ 

.

และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ด้วยการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ควรมีมาตรการและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของมาบตาพุด และควรมีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วที่สุด

.

เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ส่งเสริมให้คนไทยใช้สินค้าไทย ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ามากเกินไปเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ได้ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กต้นน้ำ ตลอดจนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการมีความประสงค์ให้มีการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว