เนื้อหาวันที่ : 2009-10-26 16:57:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2525 views

เตรียมพัฒนา "ทางหลวงอาเซียน" จีน-ญี่ปุ่นทุ่มช่วย 3 หมื่นล้านเหรียญ

ไทยเสนอรับเป็นศูนย์ทางหลวงอาเซียน หนุนให้เกิดการเชื่อมโยงในภูมิภาค เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันอาเซียนพัฒนารถไฟระบบรางคู่ จีน-ญี่ปุ่นทุ่มงบช่วยเหลืออีก 3 หมื่นล้านเหรียญ

.

ไทยเสนอรับเป็นศูนย์ทางหลวงอาเซียน หนุนให้เกิดการเชื่อมโยงในภูมิภาค เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันอาเซียนพัฒนารถไฟเป็นระบบรางคู่ จีน-ญี่ปุ่นทุ่มงบช่วยเหลือ 3 หมื่นล้านเหรียญ

.

24 ต.ค.52 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้นำประเทศมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม โดยใช้เวลาหารือนาน 1ชั่วโมง ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวขาดเพียงนางกลอเรีย มาคาปากัลป์ อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ที่เพิ่งเดินทางมาถึงไทยในช่วงเที่ยงของวันที่ 24 ต.ค.

.

ผลสรุปสำคัญของการหารืออย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียนที่มีการหารือประเด็นต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงเครือข่ายการติดต่อสื่อสารและคมนาคม การรับมือกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจโลก และการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

.
ไทยเสนอรับเป็นศูนย์ทางหลวงอาเซียน

โดยการสร้างความเชื่อมโยง ภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นถนน ทางรถไฟ การเดินทางทางทะเลและทางอากาศ การค้า และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงที่มากขึ้นในภูมิภาค ไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโต และการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ

.

รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการรวมตัวกันเป็นประชาคมของอาเซียน ไม่ใช่เพียงประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์เท่านั้น หากแต่ยังจะส่งผลให้อาเซียนสามารถเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพ  

.

ทั้งนี้ ไทยแสดงความพร้อมในการจัดให้มี "ศูนย์ทางหลวงอาเซียน" (ASEAN Highway Centre) และคาดหวังว่า อาเซียนจะพัฒนาเส้นทางรถไฟของอาเซียนให้เป็นระบบรางคู่ โดยการบรรจุประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนในแผนแม่บทด้านการเชื่อมโยงของ อาเซียนที่จะได้รับการจัดทำขึ้นในอนาคต

.
ตั้งกองทุนอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้นำอาเซียนย้ำถึงความสำคัญ ของการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังของประเทศอาเซียนไปจัดทำข้อเสนอแนะในการจัด ตั้ง "กองทุนอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน" โดยเชื่อมโยงกับกองทุนต่าง ๆ ที่จีนและญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นว่าจะเสนอให้จัดตั้งขึ้นในการประชุมสุดยอด ผู้นำอาเซียนครั้งต่อไป (ที่เวียดนาม) 

.
จีน-ญี่ปุ่นทุ่มงบช่วยเหลือ 3 หมื่นล้านเหรียญ

ทั้งนี้ ประเทศจีนได้จัดสรรเงินจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (350,000 ล้านบาท) จากกองทุนอาเซียน-จีนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค ซึ่งริเริ่มโดยจีน ขณะที่ญี่ปุ่นได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการจากญี่ปุ่นมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (700,000 ล้านบาท) แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

.

รวมไปถึงการรับรองแถลงการณ์ว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในอาเซียน ซึ่งเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อทำงานร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย

.

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก และองค์การอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้พัฒนาแผนแม่บทของอาเซียนว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาค และนำเสนอข้อเสนอแนะให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 รวมทั้งเราได้มอบหมายให้เลขาธิการอาเซียนพัฒนาขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนโดยเร็วที่สุด

.

ขณะเดียวกันยังเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ การเสริมสร้างการปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงินการธนาคารเพื่อป้องกันความล้มเหลวทางการเงินการธนาคารไม่ให้เกิดอีก

.

การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.2553 การกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการลงทุนภายในอาเซียน การสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ในอาเซียน

.

ผู้นำอาเซียนแสดงความคาด หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนสำรองพหุภาคีภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งกู้ยืมของประเทศที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจาก การสำรองอัตราแลกเปลี่ยน) ซึ่งมีมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเริ่มปฏิบัติงานได้ภายในปลายปี 52

.
จัดทำท่าทีร่วมอาเซียนในเวที G20

ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องว่า อาเซียนควรได้รับโอกาสต่อไปให้เข้าร่วมกลุ่ม G-20 และกระบวนการหารือระหว่างอาเซียนกับ G-20 ควรได้รับการทำให้เป็นกลไกถาวร ผู้นำอาเซียนจึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ด้านการคลังของแต่ละประเทศไปหารือกัน เพื่อจัดทำท่าทีของอาเซียนในเรื่องนี้ รวมทั้งเห็นชอบให้จัดตั้งกลุ่มติดต่อสื่อสารของอาเซียน (contact group)

.

โดยมีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนประเทศต่อไป อินโดนีเซีย ในฐานะสมาชิกของ G-20 และเลขาธิการอาเซียนเป็นสมาชิก เพื่อทำหน้าที่ประสานท่าทีของอาเซียนด้วย

.
สนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อน

ผู้นำอาเซียนแสดงความกังวลว่า ปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่มีนัยสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนแสดงความพร้อมที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะทำงานร่วมกันและร่วม มือกับประเทศอื่น ๆ ในการประชุม Copenhagen Summit (การประชุมผู้นำโลกเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2552)  

.

เพื่อให้การประชุมมีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์และเป็นที่ยอมรับได้ของทั้ง ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนา และในการนี้ ผู้นำอาเซียนเห็นว่า แถลงการณ์ของอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Statement on Climate Change ซึ่งผู้นำได้ให้การรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้) จะเป็นพื้นฐานที่อาเซียนจะใช้ในการประชุม Copenhagen Summit

.

ใน ประเด็นเกี่ยวกับการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือซึ่ง กันและกัน เพื่อให้อาเซียนมีการเตรียมความพร้อมที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ดี การมีกลไกการส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ทันท่วงที และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินการตามความตกลงของอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและการ รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Agreement on Disaster Management and Emergency Response)

.

ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปีนี้ โดยผู้นำอาเซียนได้รับทราบถึงความจำเป็นที่หน่วยงานด้านกลาโหมของประเทศ สมาชิกอาเซียน มีศักยภาพและบุคลากรในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ จะต้องมีส่วนร่วมในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ และเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะคงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ภายนอกภูมิภาค

.

รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารจัดการภัย พิบัติ และการเพิ่มพูนทักษะของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันเกี่ยวกับความจำเป็นของอาเซียนในการมีอาหารสำรอง (food reserve) เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย

.
พาณิชย์เล็งขอเงินกองทุนฯ สร้างถนนเชื่อมอาเซียน

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายเฉิน เตอ หมิง รัฐมนตรีพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรีว่า ไทยสนใจจะจัดทำโครงการโลจิสติกส์กับอาเซียน โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเงินกู้จีน-อาเซียน มูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จีนมอบให้อาเซียนกู้เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เชื่อมโยงอาเซียน-จีน

.

รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า โครงการโลจิสติกส์ดังกล่าว ประกอบด้วย การลงทุนสร้างถนนเส้นทางดานัง-ตราด-แม่สอด-มะละแหม่งกาญจนบุรี-ทวาย เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงจีน อาเซียน และอินเดีย และเส้นทาง R3 (คุนมั่ง-กงลู่) , R3E และ R3W (ยูนาน-กรุงเทพ-สิงคโปร์)

.

โดยขณะนี้ทั้ง 3 โครงการอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้า ในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างไทยกับจีน ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือไปแล้ว โดยหลังจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะจัดทำแผนพัฒนาการค้าระยะ 5 ปี และกำหนดแผนงานให้เป็นรูปธรรมภายในเดือนพ.ย.นี้

.

นางพรทิวา กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ ได้หารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย และการกำหนดราคากลางของศุลกากรจีน ซึ่งไทยได้เรียกร้องให้จีนขยายอายุใบอนุญาตออกไปจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี และเพิ่มจำนวนผลไม้ตามใบอนุญาตนำเข้า จาก 1 ชนิดเป็น 23 ซึ่งจีนรับที่จะมีการพิจารณาต่อไป 

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท