เนื้อหาวันที่ : 2009-10-21 12:13:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6215 views

ไต้หวัน มหัศจรรย์แห่งการพัฒนา

หลายประเทศในเอเชียใฝ่ฝันที่จะก้าวขึ้นเป็น "เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย" แม้ประเทศไทยเองก็เคยเกือบจะเป็น "เสือตัวที่ห้า" แต่ฝันก็มลายหายไปเมื่อเกิดวิกฤตปี '40 ปัจจุบันประเทศในเอเชียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เสือเศรษฐกิจ" มีสามประเทศกับหนึ่งเขตปกครองพิเศษ การจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจนเป็นเสือได้ มีอะไรเป็นปัจจัยบ้าง บทความนี้จะพาไปรู้จักกับหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่จะพาประเทศก้าวขึ้นสู่การเป็น "เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย"

ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ
ไต้หวัน มหัศจรรย์แห่งการพัฒนา

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของ "เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย" (Four Asian Tigers) มาบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ เพราะอย่างน้อยที่สุดประเทศไทยของเราก็เคยเกือบจะกลายเป็น "เสือตัวที่ห้า" แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งรุนแรงเมื่อปี พ.ศ. 2540 ความฝันของประเทศไทยที่จะเป็นเสือเศรษฐกิจก็มลายหายไป

.

ปัจจุบันประเทศในเอเชียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เสือเศรษฐกิจ" นั้นมีอยู่สามประเทศและอีกหนึ่งเขตปกครองพิเศษ (SAR) คือ เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ ไต้หวันและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ครับ

.

เสือเศรษฐกิจทั้งสี่นี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 60–90 จนนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าเป็นมหัศจรรย์ (Miracle) ของการพัฒนาเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าเสือเศรษฐกิจเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากชาวจีนโพ้นทะเล (Oversea Chinese) แทบทั้งสิ้น

.

การที่ประเทศเหล่านี้พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Knowledge Base Economy หรือเศรษฐกิจที่พึ่งพาฐานความรู้ในการขับเคลื่อนทำให้เกาหลีใต้สามารถสร้างโกลบอลแบรนด์ (Global Brand) ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่าง ซัมซุง (Samsung) จนติดตลาดโลกภายในไม่กี่สิบปี

.

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ที่การพัฒนา "องค์ความรู้" ใหม่ ๆ ซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ๆ เหล่านี้เราเรียกว่า "นวัตกรรม" (Innovation) นั่นเองครับ ขณะเดียวกันประเทศใดที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา การวิจัยและการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างจริงจังแล้วประเทศนั้นก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปได้มาก

.

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมไปถึง Know How ต่าง ๆ เช่นวิธีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมสามารถได้ประโยชน์สูงสุดจากการประหยัดต้นทุนหรือทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด

.

สำหรับซีรีส์ริมหน้าต่างเศรษฐกิจฉบับนี้ ผู้เขียนจะพาท่านไปชะโงกริมหน้าต่างดูมหัศจรรย์การพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน (Taiwan Miracle) กันครับ เพราะว่ากันว่าการที่ไต้หวันประสบความสำเร็จจนกลายเป็นสี่เสือเศรษฐกิจของเอเชียได้นั้นมีส่วนผสมหลายอย่างทั้งจากพื้นฐานของการเป็นคนจีน การเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นรวมไปถึงการได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

.
ไต้หวัน: มหัศจรรย์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทุกวันนี้เกาะไต้หวันหรือ Republic of China (R.O.C.) เป็นดินแดนที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกเนื่องจากจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีอิทธิพลอยู่ในองค์กรระหว่างประเทศหลาย ๆ องค์กร จนดูเหมือนว่าไต้หวันค่อนข้างเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวพอสมควร

.

แต่อย่างไรก็ตามโลกทุกวันนี้คบหาสมาคมกันด้วยผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนเป็นหลักครับซึ่งก็ทำให้ไต้หวันมีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลกหรือ WTO ร่วมกับประเทศอื่น ๆ เหมือนกัน

.

ตามตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจของไต้หวันนั้นนับว่าดูดีเลยทีเดียวเริ่มตั้งแต่มีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่อันดับที่ 24 ของโลกโดย GDP per capita (รายหัว) นั้นสูงถึง 16,590 เหรียญสหรัฐต่อปีเลยทีเดียวครับ และอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันตลอดสามทศวรรษหลังมานี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 8% นับว่าสูงไม่น้อย

.

หากมองในแง่ของการกระจายรายได้และความยากจนแล้วประชากรไต้หวันที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) อยู่ที่ระดับแค่ 0.95% เท่านั้นเองครับ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1.8% ขณะที่การว่างงานมีเพียง 4.27%

.

ตัวเลขทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งของไต้หวันนับตั้งแต่มีการก่อร่างสร้างประเทศขึ้นมา อย่างที่ทราบกันดีว่าไต้หวันนั้นแยกออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่หลังจากที่พรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ของนายพลเจียง ไค เช็ค พ่ายแพ้สงครามกลางเมือง (Chinese Civil War) ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตุง

.

ด้วยเหตุนี้เองคนจีนกลุ่มหนึ่งราว ๆ สองล้านคนที่ศรัทธาในอุดมการณ์ของก๊กมินตั๋งจึงอพยพหนีข้ามมาที่เกาะไต้หวันและมาร่วมกันสร้างประเทศใหม่โดยได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา

.

สัญลักษณ์ของพรรคก๊กมินตั๋ง
พรรคที่กุมอำนาจสูงสุดในเกาะไต้หวัน

.

ในช่วงทศวรรษที่ 50 และ 60 นั้น เป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้เองสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ระบอบทุนนิยมจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่เข้าไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งการสนับสนุนทางการเงินก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกใช้เป็นแนวทางป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ครับ

.

เกาะไต้หวันจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นฐานจับตามองจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะ "พี่รอง" ของค่ายคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น

.

นอกจากไต้หวันได้รับอานิสงค์จากการช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาแล้ว ในอดีตนั้นไต้หวันเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นร่วมห้าสิบปีโดยญี่ปุ่นเข้ามายึดครองหมู่เกาะไต้หวันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (ระหว่าง ค.ศ. 1895-1945) ด้วยเหตุนี้เองทำให้ไต้หวันได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม วิธีคิดทางการค้าและการลงทุนจากคนญี่ปุ่น 

.

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาของไต้หวันจึงมีส่วนผสมทั้งจากตะวันตกและตะวันออกซึ่งส่งผลให้ไต้หวันกลายเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชียในที่สุด
 ในช่วงทศวรรษที่ 60 ได้มีนักวิชาการชาวญี่ปุ่นอธิบายรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียว่ามีลักษณะคล้ายกับฝูงห่านบิน หรือ Flying Geese Model ครับ  

.

ซึ่งโมเดลนี้อธิบายว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งพัฒนาเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม (Industrialization) แล้ว ประเทศอื่น ๆ จะเดินตามรอยเปรียบเสมือนฝูงห่านที่ต้องมีจ่าฝูงบินนำหน้าไปก่อน ซึ่งในที่นี้จ่าฝูงห่านที่บินนำหน้าไปก่อน คือ ญี่ปุ่น ที่กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมไปตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว หลังจากนั้นฝูงห่านบินที่ตามมาก็ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงค์โปร์ และไต้หวันครับ 

.

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมมักจะมุ่งผลักดันให้ประเทศกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมเนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมสามารถขายได้มีราคากว่าสินค้าเกษตรกรรม ดังนั้นหลายต่อหลายประเทศจึงเริ่มต้นดำเนินกลยุทธ์ (Strategy) ในการเป็นประเทศอุตสาหกรรมด้วยการใช้กลยุทธ์ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือ Import Substitution ก่อน

.

ทั้งนี้กลยุทธ์การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้านั้นเป็นกลยุทธ์ที่ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ หรือ ช่วยเหลือคุ้มครองอุตสาหกรรมของประเทศตัวเองก่อน แต่อย่างไรก็ดีกลดังกล่าวอาจส่งผลเสียในเรื่องของการสร้างอุตสาหกรรมเฒ่าทารกให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศเนื่องจากอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมไม่รู้จักที่จะพัฒนาตัวเองเพราะรอการช่วยเหลือหรือการคุ้มครองจากรัฐบาลตลอดเวลา

.

นอกจากกลยุทธ์การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแล้ว กลยุทธ์ที่ทำให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้ คือ กลยุทธ์การผลิตเพื่อส่งออกหรือ Export Oriented ครับ ซึ่งกลยุทธ์ตัวนี้จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายมักจะมีแบรนด์ที่เป็นโกลบอลแบรนด์ซึ่งการสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองให้ติดระดับโลกได้นั้นต้องใช้เวลาในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณภาพสินค้าตัวเองก่อน

.

กลยุทธ์ทั้งสองที่กล่าวมานี้เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันสามารถเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตัวเองจากการเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาสินค้าเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศที่สร้างรายได้จากสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก

.

อย่างไรก็ตามปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ไต้หวันนั้นเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา คือ ความสำเร็จในการปฏิรูปที่ดิน หรือ Land Reform ครับ เพราะที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ทำให้คนในสังคมมีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากสังคมใดที่ดินไปกระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คนแล้ว โอกาสในการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพย่อมลดลงไป ด้วยเหตุนี้เองตอนที่ไต้หวันเริ่มสร้างประเทศใหม่ ๆ จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ดินเป็นอันดับแรก

.

การพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีเป้าหมายและรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจนเป็นระบบ การก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมภายในช่วงเวลาสามสิบกว่าปีไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอนครับ ทั้งนี้ไต้หวันได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่แพ้ประเทศตะวันตกหรือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เลย 

.

ปัจจุบันไต้หวันมี Technology Park หลายแห่งเช่น Tainan Science Park, Changbin Industrial Park, Kaohshing Science Park แต่ที่น่าจะมีชื่อเสียงมากที่สุดนั้นอยู่ที่ Hsinchu Science and Industrial Park ใกล้กรุงไทเป ครับ ซึ่งที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางสำคัญที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก      

.

และที่ Technology Park แห่งนี้มีบริษัทคอมพิวเตอร์ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญ ๆ หลายรายอย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Ltd., United Microelectronic Cooperation, D-Link, Realtek เป็นต้น

.

Hsinchu Science and Industrial Park
Technology Park ที่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญที่สุดในโลก

.

Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Ltd
หรือ TSMC ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

.

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในสี่เสือเศรษฐกิจของเอเชียนั้นอยู่ที่การวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจนมีทิศทาง ถึงแม้จะเป็นประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่และยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกด้วยซ้ำ …แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.
เอกสารและภาพประกอบการเขียน

1. www.wikipedia.org
2. Paul Krugman, The Myth of Asia Miracle, ฐกิจกทรอนิกส์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ราคาริ่มสร้างประเทศใหม