เนื้อหาวันที่ : 2009-10-13 12:05:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1123 views

แบงก์ชาติจี้สกัดเก็งกำไรเงินบาท ย้ำนโยบายเน้นดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวน

ธปท. ชี้ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคแต่ยังผันผวน แนะนลท.ประกันความเสี่ยง ยันไม่พบการเก็งกำไร พร้อมเตือนรัฐบาลเดินหน้าใช้จ่ายกระตุ้นศก. ตามแผน หากทำไม่ได้จะสูญเปล่า

ธปท. ชี้ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคแต่ยังผันผวน แนะนลท.ประกันความเสี่ยง ยันไม่พบการเก็งกำไร พร้อมเตือนรัฐบาลเดินหน้าใช้จ่ายกระตุ้นศก. ตามแผน หากทำไม่ได้จะสูญเปล่า

.

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

.

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานเสวนา "สินเชื่อเอสเอ็มอี และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยว่า ปัจจุบันข้อมูลจากสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สสว.) ว่า ค่าเงินบาทขณะนี้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค แต่ยังคงมีความผันผวน โดยช่วงที่ผ่านมาการที่เงินบาทแข็งค่ากว่าดอลลาร์ไม่ได้เกิดทุกวัน และ ธปท.ได้เข้าไปดูแลไม่ให้ผันผวนมาก

.

สำหรับสาเหตุเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น ล่าสุดเกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ประกอบกับการนำเข้าสินค้ายังค่อนข้างต่ำแม้การส่งออกจะยังลดลง และราคาทองคำสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าการคาดหมายค่าเงินบาทไม่ง่าย ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำประกันความเสี่ยง ส่วนทุนนำเข้า มีเข้ามาพอสมควรสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ความมั่นใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น

.

"ขณะนี้มีเงินเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว 60,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่เป็นการคาดหมายค่าเงินบาท ซึ่งไม่ง่ายที่จะเป็นไปตามคาดหมาย จึงมีความเสี่ยง ผู้เกี่ยวข้องควรป้องกันความเสี่ยง ขณะที่เงินทุนนำเข้าของต่างชาติ (เอฟดีไอ) มีเข้าปริมาณใกล้เคียงกับปีที่แล้วไม่ลดลงมากตามภาวะเศรษฐกิจโลก ธปท.ยังเน้นดูแลเงินบาทไม่ผันผวนส่วนการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมาสามารถลงทุนในตราสารต่างประเทศมากขึ้น"

.

ส่วนความต้องการสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอี นั้น ธปท.พยายามดูแล โดยต้องการให้สถาบันการเงินดูแลสภาพคล่องให้แก่เอสเอ็มอี บางรายธุรกิจอาจสะดุด ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ช่วยผ่อนปรนการชำระหนี้ ซึ่งขณะนี้ ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี

.

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวและเป็นช่วงเริ่มต้นที่เปราะบาง รัฐต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผน และมีประสิทธิภาพ หากทำไม่ได้อาจสูญเปล่า ด้านภาคเอกชน ต้องฟื้นอำนาจซื้อการใช้จ่ายของประชาชน จะเห็นได้จากการตอบสนองด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีการผลิตคิดเป็น 40% ของจีดีพี ส่งออกคิดเป็น 30% ของการส่งออกทั้งหมด

.

สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่หรือสถาบันการเงิน แต่เป็นวิกฤติของเอสเอ็มอี เนื่องจากความต้องการสินค้าลดลง ขณะที่ต้นทุนผลิตสูงขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอน ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อของเอสเอ็มอีชะลอลงอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลเดือน มิ.ย.ระบุว่าความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบ 8% ขณะที่สินเชื่อรวมทั้งระบบเพิ่มขึ้น 1% ชี้ให้เห็นว่าเอสเอ็มอีประสบปัญหา ธปท.จึงต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือ

.

ซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีทุกพื้นที่ยังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือในการปรับตัว โดยต้องการกำลังซื้อในประเทศทดแทนการส่งออกที่ลดลง ความยืดหยุ่นในการชำระหนี้และค้ำประกันสินเชื่อ อีกทั้งต้องการข้อมูลประกอบในการตัดสินใจทางธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูง ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้คาดว่าความต้องการสินเชื่อของเอสเอ็มอีจะสูงขึ้นตามฤดูการในการทำธุรกิจ

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง