เนื้อหาวันที่ : 2009-10-12 17:26:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1068 views

สศอ. เล็งทุ่มงบพันล้านเพิ่มขีดความสามารถอุตฯ แม่พิมพ์ใน 5 ปี

ก.อุตฯ เตรียมทุ่มงบ 1,000 ล้านบาทเดินหน้าแผนพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เร่งเสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย หวังลดการนำเข้าแม่พิมพ์ เพิ่มมูลค่าการส่งออก

ก.อุตฯ เตรียมทุ่มงบ 1,000 ล้านบาทเดินหน้าแผนพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เร่งเสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย หวังลดการนำเข้าแม่พิมพ์ เพิ่มมูลค่าการส่งออก

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

.

บางครั้งเรื่องใกล้ตัวกลายเป็นเรื่องที่ห่างไกล เพราะการลืมนึกถึงหรือให้ความสำคัญ เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ต่างๆที่อยู่รอบตัว ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน หลายคนคงลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านั้น มีกระบวนการผลิตผ่านแท่นพิมพ์แทบทั้งสิ้น อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จึงต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถอย่างไม่หยุดยั้ง

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างน่าสนใจว่า

.

"ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมหลักมากมาย ทั้งเพื่อการส่งออกและบริโภคในประเทศ ชัดเจนที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมยาง เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับแม่พิมพ์ทั้งสิ้น เนื่องจากการใช้แม่พิมพ์สำหรับการขึ้นรูป ซึ่งช่วยให้การผลิตเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ดังนั้น หากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในประเทศแข็งแกร่งยิ่งจะเป็นแรงเสริมให้อุตสาหกรรมสาขาต่างๆแข็งแกร่งตามไปด้วย"

.

อุตสาหกรรมแม่พิมพ์มีความสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนพัฒนา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างยั่งยืน จนถึงปัจจุบันมีแผนปฏิบัติการเข้าสู่ระยะที่ 2 (ปี 2553-2557) โดยเป็นแผนการดำเนินงานต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท

.

"กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์หากมีความเข้มแข็งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย และช่วยลดการนำเข้าแม่พิมพ์จากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าโดยรวมปีละหลายหมื่นล้านบาท

.

โดยการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างบูรณาการ ระยะแรก 6 ปี (2547-2552) ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งได้มีการพัฒนาบุคลากร ด้านช่างเทคนิคแม่พิมพ์ไปแล้วกว่า 6,600 คน รวมถึงการยกระดับการพัฒนาแท่นพิมพ์ให้มีประสิทธิภาพทดแทนการนำเข้าได้อย่างน่าพอใจ ช่วยให้ตัวเลขการนำเข้าแม่พิมพ์ค่อยลดลงอย่างชัดเจนจาก 27,073 ล้านบาทในปี 2548 ลดลงมาเหลือ 20,195 ล้านบาทในปี 2551

.

ขณะที่การส่งออกมีทิศทางเพิ่มขึ้น จาก 4,600 ล้านบาทในปี 2548 เพิ่มเป็น 11,400 ล้านบาทในปี 2551 นอกจากนี้เพื่อให้มีความยั่งยืนจึงได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง(Excellence Center) 7 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแม่พิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและธนบุรี

.

มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีแม่พิมพ์ให้สูงขึ้น อันจะช่วยเสริมขีดความสามารถในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน" นายอาทิตย์ กล่าว

.

จากต้นธารแห่งความสำเร็จในระยะแรก หากไม่ได้รับการต่อยอดที่ดีอาจทำให้การดำเนินงานเกิดสะดุดได้อย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การพัฒนาในระยะที่ 2 (ปี 2553-2557) จึงมีความเข้มข้นขึ้นไปอีก

.

นายอาทิตย์ กล่าวเสริมว่า "กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์มีความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี จากนี้ไปกับงบประมาณ 1,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้น โดยเฉพาะด้านบุคลากรในระดับช่างเทคนิคและวิศวกรใหม่ให้มีทักษะและความชำนาญการเป็นเลิศ ให้มีความสามารถในการออกแบบแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนและเที่ยงตรงสูง

.

รองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญๆ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยมุ่งหวังไปถึงขั้นให้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของประเทศไทย เป็นที่ยอมรับของนานานชาติ อันจะช่วยคงสถานะขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้ในที่สุด

.

นอกจากนี้แล้วเป้าหมายที่สำคัญสำหรับการดำเนินโครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ระยะที่ 2 คือ การพัฒนาช่างเทคนิคและวิศวกรเพื่อก้าวสู่โรงงานโดยตรง จำนวน 660 คน ซึ่งบุคลากรในจำนวนนี้จะมีขีดความสามารถถึงขั้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและพัฒนาเทคโนโลยีสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ

.

รวมทั้งมุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะในระดับรองลงมาให้มีความรู้ และเพิ่มพูนทักษะให้ชำนาญขึ้นอีกจำนวน 3,525 คน ขณะที่การเชื่อมโยงไปยังสถาบันการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ตั้งเป้าไว้ 5 แห่ง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปสู่การผลิตผลงานวิจัยร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญและโรงงานไม่น้อยกว่า 100 โครงการต่อปี และมีการพัฒนาระบบการจัดการในโรงงานแม่พิมพ์อีกไม่น้อยกว่า 145 แห่ง"

.

ในมิติทางเศรษฐกิจเช่นกันการพัฒนาอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นคือการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เมื่อเกิดความเข้มแข็งก็สามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ต่อไป อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ก็มีแนวทางในการเดินไปสู่จุดนั้นเช่นกัน

.

"การดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในระยะแรก เห็นได้ชัดว่าสามารถลดการนำเข้าและเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อย่างชัดเจน ในระยะที่ 2 จะยิ่งตอกย้ำความสามารถที่เพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าแม่พิมพ์จากต่างประเทศลดลงปีละ 300 ล้านเป็นอย่างน้อย และสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท

.

สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ได้ปีละ 1,800 ล้านบาท ซึ่งการวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยมีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า และยังจะส่งผลสะท้อนทางอ้อมมาสู่เศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น

.

แหล่งสร้างงานให้กับแรงงานอีกหลายหมื่นอัตรา ทั้งในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เองและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เสมือนการก้าวไปข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป็นไปในลักษณะฟันเฟืองหลายๆชิ้น ที่คอยส่งพลังขับไปข้างหน้าอย่างมีพลังต่อไป" ผอ.สศอ.กล่าว

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม