เนื้อหาวันที่ : 2006-12-13 11:04:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2073 views

สวทช. เร่งยกระดับเทคโยโลยีการฉีด-หล่อ อะลูมิเนียมแก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

โครงการ iTAP สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฉีด หล่อ อะลูมิเนียม อัลลอย เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนจากอะลูมิเนียมอัลลอยแทนเหล็กในอุตสาหกรรมยานยนต์

.

โครงการ iTAP (สวทช.) สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฉีด หล่อ อะลูมิเนียม อัลลอย พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการหล่อโลหะชาวเยอรมัน หลังรอคอยมานานกว่า 1 ปีเข้าถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคการผลิตใหม่ๆ เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนจากอะลูมิเนียมอัลลอยแทนเหล็กในอุตสาหกรรมยานยนต์  คาด ภายใน 5 ปีข้างหน้าไทยได้ใช้แน่ หลังผู้นำค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งในยุโรป,อเมริกาและญี่ปุ่นหันไปใช้อะลูมิเนียมอัลลอยแล้วกว่า 60% 

.

อะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติเด่นหลายประการ คือ มีความแข็งแรงต่อหน่วยน้ำหนักสูง นำไฟฟ้าและความร้อนได้ดี น้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม สามารถขึ้นรูปด้วยกรรมวิธีต่างๆ ได้ง่าย และนำมาหมุนเวียนใช้ได้ใหม่โดยที่คุณภาพไม่เปลี่ยนแปลง จึงถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้า และมีแนวโน้มที่ดีในอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากคุณสมบัติที่ดีของโลหะชนิดนี้คือ มีน้ำหนักเบา หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของน้ำหนักเหล็ก ทำให้สามารถประหยัดพลังงานและมลพิษที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งมีความปลอดภัยสูงจากคุณสมบัติในการรับพลังงานกลได้ดี (Good Absorb Kinetic Energy)

.

ทำให้แนวโน้มของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในปัจจุบัน เปลี่ยนมาผลิตชิ้นส่วนจากอะลูมิเนียมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดน้ำหนักและลดต้นทุนการผลิต แต่จากศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าสูง ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และความชำนาญของบุคลากร ความสามารถนในการทำงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในขณะที่เทคโนโลยีทางด้านงานอะลูมิเนียมอัลลอยในต่างประเทศ มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว  ประกอบการแนวโน้มการใช้อะลูมิเนียมอัลลอยทั่วโลก มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น อาทิ ยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น   ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการของไทยด้วย หากเราไม่เร่งปรับตัว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

.

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “ The Modern Aluminium Alloy in Automobile” ภายใต้โครงการการให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการฉีด หล่อ อะลูมิเนียม ในอุตสาหกรรมยานยนต์ขึ้นเมื่อวันที่ 28 และ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค โดยได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วน , นักวิชาการ จากสถาบันการศึกษา และ นักวิจัยจากเอ็มเทค เข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้กันเป็นจำนวนมาก ถือเป็นผลตอบรับที่ดีเกินคาดหมาย

.

รศ.ดร. สมชาย  ฉัตรรัตนา  รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. กล่าวว่า  ปัจจุบันแนวโน้มการใช้อะลูมิเนียมอัลลอย ได้เข้ามาเป็นที่นิยมของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากอัลลอยมีคุณสมบัติในการใช้งานที่ดีกว่าเหล็กเพราะน้ำหนักเบา ช่วยลดการใช้พลังงาน นอกจากนี้ยังมีความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูง   โดยเฉพาะแนวโน้มการใช้อะลูมิเนียมอัลลอยในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ต่างหันมาใช้วัสดุที่ทำจากอะลูมิเนียมอัลลอยเพิ่มมากขึ้น  เพราะนอกจากจะมีน้ำหนักเบาแล้ว ยังช่วยลดปริมาณชิ้นส่วนรถยนต์ลง ช่วยให้การขึ้นรูปและการเชื่อมต่อง่ายขึ้นอีกด้วย

.

รศ.ดร. สมชาย  ฉัตรรัตนา  รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.

.

โดยจะเห็นได้จากปริมาณการใช้เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีสัดส่วนการใช้อะลูมิเนียมอัลลอยในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นจากน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ต่อรถ 1 คัน เป็น 200 กิโลกรัมต่อรถ 1 คัน เป็นการนำเอาอะลูมิเนียมอัลลอยเข้ามาใช้ทดแทนชิ้นส่วนที่ทำจากเหล็ก โดยประเทศในแถบกลุ่มยุโรปและอเมริกาหันมาใช้อะลูมิเนียมอัลลอยแทนเหล็กเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50  ขณะที่ญี่ปุ่นใช้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 โดยเฉพาะการนำอะลูมิเนียมอัลลอย มาผลิตเป็นตัวถังรถ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดในฐานะที่ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของโลก หรือ ดีทรอยต์แห่งเอเชีย ได้มีทักษะ และเรียนรู้เทคนิคในการผลิตอะลูมิเนียมอัลลอยที่ดี  มีคุณภาพตั้งแต่การเตรียมน้ำ และนำวิธีการผลิตที่ถูกต้องจากผู้มีประสบการณ์ไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป

.

ปัญหาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการฉีด หล่อ อะลูมิเนียมอัลลอยของไทยที่ส่วนใหญ่ประสบอยุ่ อาทิ การเกิดรูพรุน และความไม่เรียบบนผิวหน้า ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการควบคุมคุณภาพ และการเตรียมน้ำอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะที่ผู้รับจ้างผลิตไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะผลิตตามที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สั่งมาเท่านั้น ขณะที่อะลูมิเนียมบางชนิดมีความเหมาะสมกับวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน  นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนผู้รู้เกี่ยวกับอะลูมิเนียมอัลลอยอยู่มาก แม้แต่ในหลักสูตรการศึกษาในสถาบันการศึกษาเองก็ยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเพียงทฤษฎีขั้นพื้นฐานเท่านั้น ขณะที่การปฏิบัติในโรงงาน ยังเป็นการลองผิดลองถูกและไม่ถึงขั้นปฏิบัติงานเชิงลึก หรือ ระดับแอ็ดวานซ์ได้  และในส่วนของเครื่องจักร หรือ เทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ไม่มี know-how ของตนเอง ทำให้การผลิตที่ผ่านมา เกิดของเสียขึ้นเป็นจำนวนมาก

.

สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ทางโครงการ iTAP (สวทช.) เชิญมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ คือ Mr. Gerhard OST เป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสทางด้านการหล่อโลหะ โดยเฉพาะอะลูมิเนียมอัลลอยจากประเทศเยอรมัน จบการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีการหล่อโลหะ และมีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมมานานกว่า 35 ปี โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมน้ำอะลูมิเนียอัลลอย  และเทคนิคการปรับคุณสมบัติของอะลูมิเนียมอัลลอย  ทำงานมาแล้วหลายประเทศ ทั้งเยอรมัน , สวีสเซอร์แลนด์ , ออสเตรีย และ บราซิล  เป็นต้น

.

ยอมรับว่า ทางโครงการ iTAP (สวทช.) ต้องใช้เวลาในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ เข้ามาถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยเป็นเวลานานกว่า 1 ปี เนื่องจากในปัจจุบันผู้มีความรู้ และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการหล่ออะลูมิเนียมอัลลอยน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ และประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญนำไปปรับและประยุกต์ใช้ ที่สำคัญ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหล่ออะลูมิเนียมของไทย ทั้งเรื่องการใช้เครื่องจักรการผลิต เทคโนโลยีใหม่ๆ ความรู้และทักษะไว้รองรับในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยเราจะต้องนำอะลูมิเนียมอัลลอยมาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตามประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน  รศ.ดร.สมชาย กล่าว

.

Mr. Gerhard OST เป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสทางด้านการหล่อโลหะ

.

สำหรับเนื้อหาในหลักสูตรนี้ จะเป็นการแนะนำอะลูมิเนียมอัลลอยประเภทใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีความยาก และซับซ้อนมากขึ้น  , การแนะนำวิธีการหล่อแบบต่างๆ , การเลือกใช้อะลูมิเนียมผสมให้เหมาะกับงาน ตลอดจนแนะนำวิธีการทดสอบอัลลอย  การควบคุมคุณภาพ พร้อมถ่ายทอดความรู้ เทคนิคใหม่ๆ ในต่างประเทศ และแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีการฉีด หล่อ อะลูมิเนียม และการนำไปใช้เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ปฏิบัติงาน

.

ด้านนายอนันต์ ชื่นจิตรชม  ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ยูเอ็มซี ไดคาสติ้ง จำกัด กล่าวว่า ในการผลิตของบริษัทฯ เดิมมีของเสียเกิดขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากตัวอะลูมิเนียมเอง และ การขาดทักษะใหม่ๆ เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเรื่องของอะลูมิเนียมในประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีการเรียน การสอน เพิ่งเริ่มมีขึ้นในช่วงหลังๆมานี้เท่นั้น แต่การสอนนั้นยังเป็นเพียงขั้นพื้นฐาน แต่สำหรับในขั้นสูง อย่างเรื่องของ High Pressure Die Casting  (HPDC) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตขั้นสูงนั้นในประเทศไทยยังไม่เคยมี มาก่อน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในแต่ละบริษัทต่างก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน คือ ขาดความรู้ และทักษะเฉพาะทางด้านนี้  

.

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000   หรือ   www.nstda.or.th/itap