เนื้อหาวันที่ : 2009-10-08 17:34:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1537 views

พลังงานเดินหน้าแผนปรับปรุงไฟฟ้า PDP ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ

พลังงานเดินหน้าตั้งคณะอนุกรรมการ PDP ปรับปรุงแผนผลิตไฟฟ้า โปรยยาหอมเน้นประชาชนมีส่วนร่วม เตรียมจัดทำเว็บไซต์ให้แสดงความคิดเห็น พร้อมวางกรอบพัฒนา Green PDP ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

พลังงานเดินหน้าตั้งคณะอนุกรรมการ PDP ปรับปรุงแผนผลิตไฟฟ้า โปรยยาหอมเน้นประชาชนมีส่วนร่วม เตรียมจัดทำเว็บไซต์ให้แสดงความคิดเห็น พร้อมวางกรอบพัฒนา Green PDP ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

.

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน

.

กระทรวงพลังงานตั้งคณะอนุกรรมการ PDP ปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้า พร้อมเดินหน้าประชุมนัดแรกวางนโยบายหลักมุ่งเน้นการสร้างระบบให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้และ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เตรียมจัดทำเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พร้อมวางกรอบแนวพัฒนาเป็น Green PDP ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

.

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งมีนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา  

.

โดยมีตนเป็นประธานและมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจาก 3 การไฟฟ้า ตลอดจนนักวิชาการเข้าร่วม 

.

คณะอนุกรรมการฯ มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) เพื่อให้การจัดหาไฟฟ้าในระยะยาวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศและการลงทุนขยายกิจการผลิตไฟฟ้าและระบบ ส่งไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 

.

นายณอคุณกล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมาได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการจัดทำแผน PDP ว่าให้ความสำคัญกับ 1)การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ใน การดำเนินการ

.

โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้เข้ามีส่วนร่วมในขั้นตอนการปรับแผนฯ จะจัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั้งกลุ่มย่อย และสัมมนาแบบเปิดกว้างในการทบทวนและปรับปรุงแผนฯ ทั้งนี้ จะจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมนำเสนอความคิดเห็นอีกช่องทางหนึ่งด้วยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ประมาณสัปดาห์หน้า

.

2)การพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยมุ่งเน้นความมั่นคงของกำลังการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คือ มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาในระบบของประเทศ

.

โดยการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Cogeneration) และการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 

.

สำหรับแผนการดำเนินการเพื่อปรับปรุงแผนผลิตไฟฟ้าตามนโยบายดังกล่าว ในระยะแรก จะพิจารณาทบทวนแนวทางการกำหนดสมมติฐานการจัดทำ PDP เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน เพื่อนำมาพิจารณาปรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการวางแผนการขยายการผลิตไฟฟ้าในอนาคต, การวิเคราะห์ผลประหยัดพลังงานไฟฟ้าและพลังไฟฟ้าสูงสุดจากโครงการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM),

.

ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต, การกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน, การกำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ การประมาณการราคาเชื้อเพลิงแต่ละประเภทในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น 

.

ในการดำเนินการตามแผนการปรับปรุงดังกล่าว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยศึกษาทบทวนแนวทางการกำหนดสมมติฐานดังกล่าวข้างต้นเพื่อนำไปจัดทำแผน PDP และนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้การจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2553