เนื้อหาวันที่ : 2009-10-07 10:58:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2670 views

แรงงานไทรอัมพ์ฯ ย้ำความรุนแรงไม่เคยจางหายไปจากกรรมกร

แรงงานไทรอัมพ์ฯ จัดงานสืบสานเจตนารมณ์ 6 ตุลา จัดเสวนา "สืบสารเจตนารมณ์ 6 ตุลากับความรุนแรงที่ไม่เคยจางหายไปจากกรรมกร" จวกรัฐไม่จริงใจในการแก้ปัญหา สองมาตรฐาน เข้าข้างนายทุนเอาเปรียบแรงงาน

แรงงานไทรอัมพ์ฯ จัดงานสืบสานเจตนารมณ์ 6 ตุลา จัดเสวนา "สืบสารเจตนารมณ์ 6 ตุลากับความรุนแรงที่ไม่เคยจางหายไปจากกรรมกร" จวกรัฐไม่จริงใจในการแก้ปัญหา สองมาตรฐาน เข้าข้างนายทุนเอาเปรียบแรงงาน

.

.

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เวลาประมาณ 18.00 น. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง "สืบสานเจตนารมณ์ 6 ตุลากับความรุนแรงที่ไม่เคยจางหายไปจากกรรมกร" เนื่องในโอกาสครบรอบ 33 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และครบรอบ 99 วันการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหากาารเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ณ บริเวณที่ชุมนุมหน้าบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ซอย 7/1 อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การต่อสู้ของนักศึกษา ชาวนา กรรมกรในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นการเคลื่อนไหวในสังคมประชาธิปไตย แต่รัฐก็เลือกใช้ความรุนแรงในการหยุดยั้งกระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น แม้ในสังคมประชาธิปไตยหรือสังคมที่มีรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกรัฐบาลที่อ้างว่าคุ้มครองเราใช้ความรุนแรงปราบปรามได้เสมอ

.

โดยการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 6 ตุลา 19 กรรมกรเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของการเคลื่อนไหว การนัดหยุดงานของกรรมกรจำนวนมากได้ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน

.

พิชญ์ กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐเลือกจัดการกับกรรมกรเพราะการรวมตัวของกรรมกรมีพลังในการหยุดยั้งทุนนิยมอย่างเป็นระบบ นักศึกษาทำได้ก็แค่หยุดการเรียนการสอน ชาวนาหยุดเพาะปลูก ก็ทำได้เพียงบางฤดูกาล แต่กรรมกรหยุดงาน เครื่องจักรหยุดทำงานทันที ทำให้การผลิตที่สร้างกำไรหยุดชะงักลง

.

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า ตรงนี้ทำให้เห็นว่า เมื่อกรรมกรเคลื่อนไหว มันไปไกลกว่าที่พูดว่า ประชาธิปไตยใสสะอาด ประชาธิปไตยมาจากหงาดเหงื่อคนทั่วไป ถ้าไม่ให้สิทธิการหยุดงาน ประชาธิปไตยก็เป็นแค่การปิดปากประชาชนด้วยเสถียรภาพทางการเมืองและความเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยแบบนี้ไม่พูดเรื่องสวัสดิการสังคม เป็นแค่การให้อำนาจต่อนักการเมืองขี้โกงโดยไม่สนใจทุกข์ยากของกรรมกร

.

นอกจากนี้ คุณูปการในการหยุดงาน 99 วันของคนงานไทรอัมพ์ซึ่งเป็นผู้หญิง ทำให้เห็นว่า ประชาธิปไตยเกี่ยวพันกับชีวิต ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแรงงาน เป็นแม่ของลูก แต่นายจ้างไม่ได้สนใจ มองเขาเป็นแค่ตัวเลข ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องจอมปลอม เศรษฐกิจที่มีอยู่ไม่เคยเห็นหัวคนจน และการชุมนุมเคลื่อนไหวไม่เคยเป็นที่ได้ยินของรัฐบาล สื่อ และไม่เคยมีหลักประกันว่าเราจะไม่ถูกปราบ

.

พิชญ์ กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการต่อสู้บนท้องถนน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความไม่ยุติธรรมต่อคนงานไทรอัมพ์ ว่ากรรมกรไม่มีปัญญาซื้อสินค้าที่ตัวเองผลิต ซ้ำยังถูกให้ออกจากงาน เมื่อชุมนุมประท้วงก็ถูกจัดการราวกับไม่ใช่คน ว่าไม่ใช่ภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องหาวิธีรณรงค์ให้คนภายนอกที่ต้องการช่วยเหลือคนงาน สามารถช่วยเหลือได้ตามความสามารถของพวกเขาด้วย

.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลากับการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์มีความเกี่ยวข้องกันเนื่องจากเกิดขึ้นในสภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีการขึ้นราคาสินค้า ปลดคนงาน สะท้อนว่า ทุนนิยมมีภาวะวิกฤตเกิดขึ้นตลอด เต็มไปด้วยความรุนแรงต่อคนจนที่สร้างเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการใช้อาวุธ ตำรวจ ไปข่มขู่ มีการปลดออกจากงาน จึงเป็นหน้าที่ของกรรมกรที่เป็นหัวใจหลักของทุนนิยมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม

.

เก่งกิจ กล่าวเสริมว่า การชุมนุมไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่พูดเรื่องประชาธิปไตยโดยตรง ทั้งยังสั่นคลอนความศรัทธาต่อประชาธิปไตยกระแสหลัก ทุนนิยม สังคมที่บอกว่าความสามัคคี การมีสถาบันชาติเป็นเรื่องที่ดี การชุมนุมตั้งคำถามว่า ทำไมชีวิตจึงแย่ลง มันเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เป็นหน่ออ่อนของสังคมใหม่ เป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ที่เกิดจากสถานที่ทำงาน การชุมนุมประท้วงเป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องการหย่อนบัตร หรือกราบไหว้บูชา นี่คือการปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่

.

เก่งกิจ เล่าถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกรในสหรัฐฯ เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วว่า กรรมกรในสหรัฐฯ เป็นคนคิดเรื่องการหยุดงานโดยนั่งอยู่ในที่ทำงาน หรือ sit-down strike เพราะจะออกไปบนถนนก็จะโดนตี แต่ถ้านั่งอยู่กับที่ นายจ้างก็ทำอะไรไม่ได้ ดังงนั้น กรรมกรไทยเองอาจต้องคิดถึงยุทธวิธีที่จะทำให้ไปถึงชัยชนะได้ด้วย เพราะพลังซ้ายขวานั้นก็สู้กันมาเป็นร้อยๆ ปี ต่างก็คิดวิธีสู้กันมาตลอด วันนี้ต้องคิดวิธีใหม่ว่าจะสู้กันอย่างไร

.

ทองขาว ทวีปรังสีนุกูล เลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา กล่าวว่า วันนี้ (6 ต.ค.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ชำระประวัติศาสตร์เดือนตุลา ซึ่งกรรมการสิทธิฯ หลายคนก็ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นี้ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำได้ เพราะมีอิทธิพลครอบงำอยู่

.

นอกจากนี้ ทองขาวยังวิจารณ์การนำมวลชนของผู้นำกรรมกรด้วยว่า ควรเป็นไปในลักษณะรวมหมู่ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้นำที่นำเดี่ยว ที่สุดกลายเป็นคนที่กลับมาเอาผลประโยชน์กับคนงาน เพราะนายจ้างรู้ว่าสามารถเข้าหาใครได้

.

บุญยืน สุขใหม่ คนงานจากภาคตะวันออก กล่าวว่า ความรุนแรงในปัจจุบันไม่ได้เหมือนในอดีตที่มาในรูปแบบอาวุธปปืนหรือไม้กระบอง แต่มาในรูปแบบของนโยบายจากภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมการลงทุนโดยบีโอไอ ที่ส่งเสริมให้เกิดการกดขี่แรงงาน ให้นายจ้างแสวงหาประโยชน์กำไรแล้วขนเงินไป โดยเอาเปรียบแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

.

.

นอกจากนี้ บุญยืน กล่าวว่า ความรุนแรงยังเกิดจากการที่ภาครัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น กรณีบริษัทจีเอ็ม ที่คนงานชุมนุมหน้าโรงงานก็ถูกแจ้งจับฐานบุกรุก พอเลื่อนออกมา ขวางการจราจร โดยเผื่อให้รถวิ่งหนึ่งเลน ก็ทราบข่าวว่า มีหมายศาลให้รื้อเต๊นท์ แสดงว่าทุนกับรัฐประสานงาน เอื้อประโยชน์ต่อกัน

.

โดยเมื่อนายจ้างละเมิดกฎหมายกลับไม่มีใครตำหนิ กว่าจะพิสูจน์กันได้ก็ต้องใช้เวลายาวนาน เช่น กรณี สมบุญ สีคำดอกแค อดีตคนงานที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้าง ใช้เวลากว่า 14 ปีในการตัดสินคดี แต่พอลูกจ้างแค่ต้องสงสัย นายจ้างแจ้งจับได้ทันที มิหนำซ้ำทรัพย์ของนายจ้างยังเป็นเหตุแห่งการเพิ่มโทษ นี่คือสองมาตรฐาน

.

เขากล่าวว่า ความรุนแรงยังเกิดจากการกระทำของนายจ้างโดยตรง โดยยกตัวอย่างบริษัทจีเอ็มในไทย ซึ่งตามปกติจ่ายโบนัสทุกเดือนมีนาคม แต่เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการเลิกจ้างคนงานกว่า 800 คนเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายโบนัส

.

อีกทั้งขณะนี้ยังใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสหภาพฯ โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งที่เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า ปี 2551 บริษัทมีกำไรตั้งกว่าพันล้านบาท และทำให้คนที่มาเรียกร้องสิทธิ กลายเป็นจำเลยสังคม ที่ถูกกล่าวหาว่า ทำให้สังคมเดือดร้อน

.

นอกจากนี้ ความรุนแรงยังมาจากทั้งทุนข้ามชาติ ที่มาลงทุนโดยได้เงินจากภาษีของเราเองสนับสนุน ความรุนแรงจากกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่โรงงาน แต่ไม่มีใครมาดูแลตรวจสอบอีกด้วย

.

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า ชีวิตของคนงานเกี่ยวพันกับการเมืองและเรื่องของความรุนแรงก็มีหลายประเภท ทั้งต่อชีวิต สิทธิเสรีภาพ การรวมตัว ปากท้อง การไร้ที่อยู่อาศัย หรือลูกไม่มีนมจะกิน ก็คือความรุนแรง สิ่งเหล่านี้ที่เราเผชิญล้วนเกิดจากน้ำมือรัฐและนายทุนทั้งนั้น

.

เธอเล่าว่า ที่โรงงานไทรอัมพ์ฯ ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งนามสกุลเวชชาชีวะ นามสกุลเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เวลายื่นหนังสือให้รัฐ ถามว่ารัฐจะแก้ปัญหาให้ใครก่อน เมื่อรัฐกับนายทุนคือคนๆ เดียวกัน มีความสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มี ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของคนงาน

.

เพราะคนงานไม่มีโอกาสเลือกผู้แทนในเขตสมุทรปราการที่ทำงานอยู่ ซึ่งนี่เกิดจากกฎหมาย ซึ่งกรรมกรไม่มีโอกาสได้เขียน เราไม่มีสิทธิกำหนดแรงงานของเราเองว่าจะทำงานที่ไหนถึงเมื่อไหร่ และเมื่อโรงงานเริ่มร่ำรวย คนงานเริ่มตาหูฝ้าฝางก็ถูกเลิกจ้าง รัฐก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะกลัวเสียการลงทุน

.

เมื่อคนงานไม่มีเงิน ไม่มีค่าเช่าบ้าน ไม่มีค่านมลูก ไม่มีเงินส่งให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด อาจนำไปสู่การเลือกทำบางอย่างที่ใครก็ไม่อยากทำ นอกจากนี้ เมื่อรัฐไม่แก้ปัญหา ต้องตกงานและไม่ได้ค่าชดเชยก็ถูกบอกให้ไปฟ้องศาล

.

ซึ่งกรณีนี้ เธอยกตัวอย่างคดีของสมบุญ สีคำดอกแค อดีตคนงานที่ฟ้องร้องต่อศาลแรงงานว่าเธอป่วยจากการทำงาน ต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะเสร็จสิ้น ขณะที่คดีของเธอเอง ซึ่งนายจ้างขอเลิกจ้าง มีการตัดสินในหนึ่งอาทิตย์ นี่คือความไม่มีมาตรฐาน หรือสองมาตรฐานของสังคม

.

จิตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตราบใดที่กรรมกรยังไม่มีความมั่นคงในการทำงานหรือการวางแผนชีวิตนั่นก็เป็นความรุนแรงที่ไม่หายไปจากกรรมกร ไม่ว่ากี่ปีก็ต้องลุกมาประท้วง ในอดีต คนงานถูกยิงตาย ถูกนักเลงตี ถูกข่มขู่ ล่าสุด ถูกหมายจับจากตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

.

พอจะชุมนุมครั้งหนึ่ง ตำรวจจะเดินดูว่าทำผิดอะไรบ้าง ขณะที่เวลาเจ้าของโรงงานมา ตำรวจจะมาดูแล นี่คือความต่าง เป็นเพราะกรรมกรไม่มีอำนาจรัฐ ถ้าเรามีอำนาจรัฐในมือ ชีวิตคงดีกว่านี้ นี่คือความรุนแรงโดยแท้

.

จิตรา กล่าวว่า 33 ปี กรรมกรก็ยังเป็นทาสเหมือนเดิม การชุมนุม 99 วันของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ อยากได้มาตรฐานที่ดีกว่าตามที่กฎหมายกำหนด ดีกว่าที่เขาบอกว่าดีแล้ว ซึ่งถึงแม้จะอีกยาวไกล แต่เราก็ขอเป็นจุดเริ่มต้น

.

หลังการเสวนา มีการแสดงจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ตอนหนึ่งเป็นแฟชั่นโชว์ชุดว่ายน้ำ จากนั้นเปลี่ยนเป็นชุดกระโจมอกผ้าถุงอย่างรวดเร็วและนำชุดว่ายน้ำและชุดชั้นในมาขว้างทิ้ง พร้อมชูป้ายผ้ามีข้อความ "ฉันรู้สึกแย่ เมื่อสวมใส่ไทรอัมพ์" เพื่อสะท้อนว่า ไม่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดำเนินกิจการที่ขูดรีดแรงงานและมีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

.

นอกจากนี้ยังมีละครสะท้อนชีวิตผู้ใช้แรงงานจากนักศึกษา ดนตรีจากกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหงและวงคุรุชน สลับกับการขึ้นปราศรัยของตัวแทนจากคนงานที่ต่างๆ เช่น สมาชิกสหภาพแรงงานไทยเรยอน อดีตคนงานจากบริษัท เอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ ไทยแลนด์ จำกัด

.

 โดยมีสมาชิกจากสมาพันธ์แรงงานนานาชาติ (International Trade Union Confederation: ITUC) หลายประเทศ อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เข้าร่วมสังเกตการณ์ ก่อนจบด้วยการจุดเทียนรำลึกและร่วมร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา 

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท