เนื้อหาวันที่ : 2006-12-13 09:06:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1141 views

เงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 9 ปี กระทบภาคเอกชน ฉุดส่งออก

ธปท.ยอมรับเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 9 ปีที่ระดับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินกว่าที่คาดไว้ แต่ก็เป็นไปตามกลไกของตลาด และที่ผ่านมามีมาตรการดูแลโดยตลอด ซึ่งต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่ง ส่วนผลกระทบต่อเอกชน มีทั้งผลกระทบในด้านบวกและลบ

สำนักข่าวไทยรายงาน ธปท.ยอมรับเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 9 ปีที่ระดับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินกว่าที่คาดไว้ แต่ก็เป็นไปตามกลไกของตลาด และที่ผ่านมามีมาตรการดูแลโดยตลอด ซึ่งต้องรอดูผลอีกระยะหนึ่ง ส่วนผลกระทบต่อเอกชน มีทั้งผลกระทบในด้านบวกและลบ ด้านสมาชิก ส.อ.ท.เสนอรัฐใช้มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เพราะบางมาตรการที่ประกาศใช้ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้

 

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าถึงระดับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำสถิติแข็งค่าในรอบ 9 ปีว่า เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากมีแรงแทขายเงินดอลลาร์สหรัฐออกมามากเพื่อซื้อเงินบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติของอุปสงค์และอุปทาน เพราะผู้ขายเงินดอลลาร์สหรัฐก็ยินดีที่จะขาย ขณะที่ผู้ซื้อก็เต็มใจซื้อ ซึ่งสะท้อนความต้องการของตลาดที่เป็นไปตามกลไกลตลาด

 

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้มีหลายมาตรการดูแลเงินบาทอยู่ตลอด ทั้งด้านปริมาณ ราคา และการสกัดกั้น ส่วนจะมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ ธปท.ต้องขอเวลาดูผลของมาตรการควบคุมการลงทุนในตราสารและพันธบัตรระยะสั้นของบัญชีผู้มีถิ่นฐานต่างประเทศ (นอนเรสซิเดนท์) อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากมาตรการหากมีออกมาบ่อยก็คงไม่เหมาะสม

 

นางสุชาดา กล่าวกับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในระหว่างการเสวนาเรื่อง ค่าเงินบาทแข็งตัว ภาครัฐ เอกชนจะปรับตัวร่วมกันอย่างไร? ว่า การแข็งค่าของเงินบาทมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ภาคเอกชนที่ส่งออกอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ๆ จำนวนประมาณ 20,000 บริษัท โดยการแข็งค่าของเงินบาทร้อยละ 1 จะกระทบการส่งออกร้อยละ 0.1 ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เงินบาทแข็งค่าประมาณร้อยละ 14 แต่หากคิดเฉลี่ยตลอดทั้งปีเงินบาทแข็งค่าร้อยละ 5.6 และสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดคือ กลุ่มซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก คือ อุตสาหกรรมเกษตร กุ้ง และรองเท้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นผลดีสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศให้มีต้นทุนนำเข้าที่ลดลง เช่น เหล็ก เบียร์ และเส้นใยต่าง ๆ

 

นอกจากนี้ การที่เงินบาทแข็งค่ายังเป็นผลดีในการช่วยลดหนี้ระยะสั้น เนื่องจากเมื่อพิจารณาในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้หนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ลดลง 74,000 ล้านบาท เมื่อแปลงจากเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท นางสุชาดา กล่าว  

 

สายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งชาติ ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ วิกฤตการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ากับผลกระทบของอุตสาหกรรมส่งออกของไทยปี  2550  ว่า ภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท จึงเสนอแนะให้มีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เช่น มาตรการทางภาษีในการดูแลเงินไหลเข้า การลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) การใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับธนาคารที่ทำการขายพันธบัตร โดยมีสัญญาซื้อคืนกับนอนเรสซิเดนท์ รวมทั้งเห็นว่ามาตรการของ ธปท.ที่ขยายระยะเวลาการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐจาก 7 วัน เป็น 15 วัน ไม่ใช่มาตรการที่แก้ปัญหาได้ เพราะยิ่งจะทำให้ผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดทุนมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ รายงานระบุว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลทำให้การขยายตัวของการส่งออกในปีหน้าอยู่ประมาณร้อยละ 9-12 โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 อัตราการเติบโตจะต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี  ประมาณร้อยละ 3-4 แต่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีมาอยู่ที่ร้อยละ 6 โดยเชื่อว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจปีหน้าจะอยู่ประมาณร้อยละ 4.5-5  .