เนื้อหาวันที่ : 2006-12-12 09:22:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 886 views

ก.พลังงาน ฟันธงรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต้นปี 2550

กระทรวงพลังงาน เล็งขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เป็นไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ให้สอดรับนโยบายส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งให้กับประเทศ โดยเฉพาะเป็นนโยบายที่ยึดตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง

 

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนา เรื่อง การขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งบรรจุไว้ในนโยบายและแผนพลังงานของประเทศ โดยกำหนดให้มีการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เป็นไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เนื่องจากพบว่าผู้ประกอบรายเล็กจำนวนมากมีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้เกินกว่า 1 เมกะวัตต์ และเป็นการขจัดอุปสรรคหากต้องเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบตามระเบียบผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายจากการเชื่อมโยงระบบสูง 

.

ทั้งนี้ ระหว่างปี 25502551 กระทรวงพลังงานจะเปิดให้ VSPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน สามารถยื่นข้อเสนอขอส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ได้ โดยให้เงินส่วนเพิ่มแยกตามประเภทเชื้อเพลิง และหากเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายเกินกว่า 10 เมกะวัตต์ หรือ SPP ที่ต้องการได้ราคาส่วนเพิ่มดังกล่าว รัฐจะเปิดให้มีการประมูลแข่งขันรูปแบบเดียวกับปี 2544 ซึ่งประสบความสำเร็จและมีผู้ผลิตที่สนใจเข้ามาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังเตรียมเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) หลังจากยุติการรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2540 โดยอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าใหม่

.

นโยบายส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งให้กับประเทศ โดยเฉพาะเป็นนโยบายที่ยึดตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพราะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ ส่งผลช่วยลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชิงพาณิชย์ เช่น น้ำมัน ที่มีราคาแพงและผันผวนลงได้ ตลอดจนลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ ซึ่งหากมองศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก และหากเปรียบเทียบสัดส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบในปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 26,000 เมกะวัตต์ นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

.

อนึ่ง สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะมีต้นทุนที่สูงกว่า การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า จำนวน 30 สตางค์ต่อหน่วย ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า จำนวน 80 สตางค์ต่อหน่วย ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็กตั้งแต่ 50-200 กิโลวัตต์ ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า จำนวน 40 สตางค์ต่อหน่วย ผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ได้รับส่วนเพิ่มราคา จำนวน 2.50 บาทต่อหน่วย ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ได้รับส่วนเพิ่ม 2.50 บาทต่อหน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า 8 บาทต่อหน่วย