เนื้อหาวันที่ : 2009-09-29 21:50:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1278 views

ศุลกากรจับมือกรมโรงงานฯ เดินหน้าเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตราย

กรมศุลกากร ร่วมมือกรมโรงงานอุตสาหกรรม โชว์ความสำเร็จการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตราย ก้าวสู่ National Single Window เล็งขยายสู่การพัฒนา Asian Single Window

.

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร และนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม แถลงข่าวความสำเร็จของการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตราย ระหว่างกรมศุลกากร กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อก้าวสู่ National Single Window 

.

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่กรมศุลกากรได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล และบริการภาครัฐ เพื่อการนำเข้าส่งออกและโลจิสติกส์ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้ง National Single Window โดยการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสารระหว่างกรมศุลกากร กับส่วนราชการต่างๆ จำนวนประมาณ 30 หน่วยงาน ที่ออกใบอนุญาต/ใบรับรอง/ใบสั่งปล่อย ในการตรวจสอบใบอนุญาตและใบรับรองต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนการตรวจปล่อยสินค้า และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงฯเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆไปแล้ว 16 หน่วยงาน ได้แก่               

.

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการค้าต่างประเทศ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมการขนส่งทางบก กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมสรรพสามิต กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 

.

อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า ปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานในลำดับต้นๆที่ได้มีการส่งข้อมูลสินค้าวัตถุอันตรายที่ต้องมีใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนการนำเข้าหรือส่งออก จำนวน 116 พิกัดศุลกากร เข้าสู่ฐานข้อมูลของกรมศุลกากร เช่น สาร CHLOROFLUOROCARBONS and its substitutions (CFC) สาร HYDROFLUOROCARBONS and its substitutions (HFC) เป็นต้น       

.

โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2252 มีบริษัทผู้นำเข้า- ส่งออกประมาณ 70 ราย ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และมีการผ่านพิธีการศุลกากรโดยตรวจสอบใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าอันตราย เพราะกรมศุลกากรสามารถตรวจสอบข้อมูลใบขนสินค้าที่ผู้ประกอบการส่งข้อมูลมายังกรมศุลกากรได้ อย่างถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็ว

.

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เปิดให้บริการยื่นคำร้องขอใบอนุญาตนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ประกอบสามารถส่งข้อมูลคำร้องผ่านเว็บไซด์กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ www.diw.go.th เมื่อกรมโรงงานฯ ตรวจสอบและออกใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว จะส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ฐานข้อมูลของกรมศุลกากร เพื่อใช้ในการตรวจสอบทางพิธีการศุลกากร          

.

และเมื่อผู้ประกอบการรับมอบสินค้าจากกรมศุลกากรแล้ว ข้อมูลการตรวจปล่อยสินค้าจะถูกส่งกลับไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบ และกำกับดูแล การใช้ การเก็บรักษา วัตถุอันตรายดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมคาดว่า การเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตรายจะเริ่มใช้อย่าง เต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป

.

การเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตรายนอกจากจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้ประกอบการ ในการลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมส่วนรวม โดยหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ สามารถควบคุมการนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งวัตถุอันตรายที่เลือกที่เหลืออีก 300 รายการในส่วนที่ กรมโรงงานฯ มั่นใจว่าควบคุมเพียงหน่วยงานเดียว สามารถแจ้งให้กรมศุลกากร Lock ระบบได้ทันที

.

ส่วนที่ควบคุมสองหน่วยงานขึ้นไปจะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเลขใบอนุญาตเฉพาะแล้วเสร็จ ความสำเร็จดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบเครือข่ายข้อมูลเพื่อนำไปสู่ National Single Window และสอดคล้องกับข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบ Single Window ขององค์การสหประชาชาติ และความตกลงอาเซียน สำหรับการพัฒนา Asian Single Window ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้า การลงทุน และทำให้กระบวนการโลจิสติกส์โดยรวมดีขึ้น 

.

ผลดีที่ได้รับจาการเชื่อมโยงข้อมูล หากสามารถดำเนินการตามขั้นตอน จะทำให้ กรมโรงงานฯ ทราบปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายที่แท้จริงแบบ Real time จะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบและควบคุมวัตถุอันตรายให้เกิดความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าส่งออกวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตป้องกันการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายที่ผิดกฎหมาย และเป็นการลดขั้นตอนการทำงาน ลดปริมาณเอกสาร ลดระยะเวลาทำงาน ลดบุคลากร ทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ประกอบการ