เนื้อหาวันที่ : 2009-09-28 09:12:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2695 views

ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งใหม่ผุดตำบลนาทับ

โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลเตรียมผุด เอช ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง แจงการก่อสร้างมีผลกระทบแน่ แต่เตรียมมาตรการชดเชยแล้ว ชาวบ้านหวั่นซ้ำรอยโรงไฟฟ้าจะนะ กระทบทรัพยากรทางทะเล หมดโอกาสทำประมง

นักข่าวพลเมือง

.

.

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 52 บริษัทเอช ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งใหม่ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านท่ายาง และหมู่ที่ 4 บ้านท่าคลอง ต.นาทับ จ.สงขลา ณ โรงเรียนท่าคลองโดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประมาณ 30 คน ตัวแทนจากบริษัทกล่าวว่าวันนี้บริษัทได้นำข้อเสนอรูปแบบของท่าเรือและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นพร้อมทั้งมาตรการแก้ไขปํญหาที่บริษัทวางไว้แล้วมานำเสนอ เพื่อให้พิจารณาว่าเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวหรือไม่

.

การก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกจะมีทั้งในส่วนของตัวท่าเรือและลานบนบกเพื่อวางตู้คอนเทนเนอร์ และเป็นอาคารต่างรวมเป็น 14 องค์ประกอบ ซึ้งหลังจากการรับฟังความคิดเห็น จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และจะจัดเวทีสัมมนาที่บีพีสมิหลาในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ 

.

ตัวแทนบริษัทกล่าวว่า การก่อสร้างมีผลกระทบอย่างแน่นอนและเตรียมมาตรการคือการชดเชยในหลายรูปแบบ เช่น ผลกระทบบนบก และทางทะเล โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากลั่นกรอง ในส่วนของพื้นที่สาธารณประโยชน์ไม่มีโฉนดจะไม่มีการชดเชยค่าที่ดิน เพราะถือเป็นที่ดินของรัฐ จะพิจารณาเฉพาะต้นไม้และสิ่งก่อสร้างบนที่ดิน แต่ต้องมีกรรมการหมู่บ้านหรือ อบต.รองรับ การชดเชยค่าเสียโอกาสในที่ดินขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่แต่งตั้งพิจารณา 

.

ส่วนทางทะเลการทำประมงเรือต้องมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมง มีคณะกรรมการตรวจสอบ และโดยการชดเชยจะพิจารณาตามวันที่สามารถทำประมงได้จริงไม่ได้ชดเชยตลอดทั้งปี เมื่อคณะกรรมการทั้งสองชุดพิจารณาแล้วต้องส่งเป็นขั้นตอน คือ ส่งให้กรม กระทรวง และครม.พิจารณาเหมือนเช่นกรณีของยายไฮ เขื่อนปากมูล

.

.

ชาวบ้านที่มาร่วมเวทีได้อภิปรายและแสดงความวิตกกังวลต่อการดำเนินโครงการอย่างมาก โดยเฉพาะวิตกกังวลกับการประกอบอาชีพประมง และผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล และคลองนาทับ ซึ่งมีประสบการณ์จากโรงไฟฟ้าจะนะมาแล้ว และสะท้อนว่าจากการฟังข้อมูลทำให้ รู้สึกว่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อประมงในระยะทาง 3 กิโลเมตร 

.

โดยกลุ่มชาวบ้านสะท้อนว่าออกทะเลวันเดียวแต่กินได้ตลอดทั้งปี หากจะเชดเชยเพียงระยะเวลา 3 ปีไม่ยุติธรรมเพราะโครงการดังกล่าวระยะยาวมากกว่า 30 ชาวบ้านไม่ยอมแน่ และได้มีการถามว่าใครเห็นด้วยยกมือขึ้นปรากฏว่าไม่มีใครยกมือ จากนั้นถามว่าใครไม่ยอมให้ท่าเรือเกิดชาวบ้านทั้งหมดยกมือ และมีการตั้งคำถามว่าน้ำจากท่าเรือจะไหลลงคลองนาทับไหม

.

ซึ่งตัวแทนบริษัทชี้แจงว่าจะมีบริเวณคลองทิงที่เป็นคลองสาขาที่ไหลลงนาทับแต่จะมีการสร้างกำแพงล้อมรอบ ชาวบ้านถามว่าแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ไหลลงคลองนาทับ ตัวแทนก็ได้ตอบว่าไม่ลง และถามว่าจะเข้าไปจอดเรือได้ไหมซึ่งคำตอบคือไม่ได้  ทั้งนี้ได้มีชาวบ้านคนหนึ่งในเวทีตะโกนถามว่าท่าเรือดังกล่าวย้ายไปปัตตานีได้ไหม แต่ตัวแทนบริษัทไม่ตอบ

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com)