เนื้อหาวันที่ : 2006-03-14 18:13:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3519 views

เด็นโซ่ ลงทุน120 ล้านบาท ขานรับนโนบายรัฐเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร

พัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีทักษะและความชำนาญเตรียมความพร้อม สู่ Detroit of Asia ในปี 2553

นาย โยชิฮิโกะ ยามาดะ กรรมการผู้จัดการ  บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผยถึง การเปิดศูนย์ฝึกอบรม DENSO Training Academy (Thailand) เพื่อสนับสนุน โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Project : AHRDP)ของรัฐบาล ว่า จากแนวคิดหลักของเด็นโซ่ ที่มีความเชื่อว่า Monozukuri is Hitozukuri หรือ การสร้างงานเริ่มจากการสร้างคน ซึ่งหมายความว่า คนที่มีคุณภาพ ย่อมสามารถที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

.

ด้วยความเชื่อดังกล่าว เด็นโซ่จึงได้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรม DENSO Training Academy (Thailand) ในประเทศไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งเป็นแห่งที่ 3 ของโลกต่อจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบ และประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเงินลงทุน 120 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลของเด็นโซ่ ให้มีทักษะและความชำนาญมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าและบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และจะส่งผลในการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีทักษะความชำนาญ  นอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะก้าวสู่ความเป็น ศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์แห่งเอเชีย หรือ Detroit of Asia ในปี พ.ศ. 2553

.

ศูนย์ฝึกอบรม DENSO Training Academy (Thailand) เป็นการตอบสนองและส่งเสริมต่อนโยบายของรัฐบาลไทยในโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Project : AHRDP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยภาครัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะฝีมือ และยกระดับฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ทั้งนี้ เด็นโซ่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งเอเชีย หรือ  Detroit of Asia ในปี พ.ศ. 2553 และเด็นโซ่เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าบุคลากรที่มีประสิทธิภาพจะสามารถสร้างผลผลิตที่มีประสิทธิผล ซึ่งการสร้างบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญโดยผ่านการอบรมด้วยมาตรฐานระดับโลก จะสามารถส่งผลต่อการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ฐานการผลิตระดับโลกในที่สุด  มร. โยชิฮิโกะ ยามาดะ

.

สำหรับในปี 2548 กลุ่มบริษัทเด็นโซ่ประเทศไทย มีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 43,000 ล้านบาท และปี 2549 ได้ตั้งเป้าการเติบโตทางด้านรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10 % จากยอดของปี 2548 โดยมีสัดส่วนการทำตลาดในด้านต่าง ๆ แบ่งเป็น ตลาดการส่งออก 17 % ตลาดอาฟเตอร์มาร์เก็ต 5 % ตลาดโออีเอ็มและอื่น ๆ 78 % พร้อมกันนี้ในส่วนของการลงทุน ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน เป็นเงิน 7,500 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2548 นี้เป็นต้นไป ทางเด็นโซ่จะลงทุนเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องยนต์คอมมอนเรลและอื่น ๆ

.

ศูนย์ฝึกอบรม DENSO Training Academy (Thailand) เป็นศูนย์ฝึกอบรมสำหรับการพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมให้กับพนักงานในกลุ่มบริษัทเด็นโซ่ประเทศไทย รวมทั้งผู้รับช่วงงาน และผู้ผลิตงานส่งให้กับบริษัท ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงแรงงาน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ พร้อมกับปลูกฝังทางด้านแนวคิด ทัศนคติเชิงบวก เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการนำไปปฏิบัติงาน รวมทั้งสร้างเสริมศักยภาพในด้านทักษะฝีมือร่างกายและจิตใจให้มีความพร้อมในการทำงาน  สามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และสามารถสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ ๆ ให้องค์กรต่อไปได้ในอนาคต

.

สำหรับในช่วงแรกของการดำเนินการนี้ ทาง DENSO Training Academy (Thailand)  ได้เตรียมหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรที่สำคัญไว้ 4 ด้านด้วยกัน คือ  การบริหารงานและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน(Management & Mind) การพัฒนาทักษะการทำงาน (Technical Skills) วิศวกรรม (Engineering)  และความปลอดภัยในการทำงาน (Safety)โดยจัดหลักสูตรเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ การอบรมผู้สอน (Instructor Training) เป็นการเรียนเพื่อไปเป็นผู้สอนหรือผู้บรรยาย แล้วนำไปถ่ายทอดสอนให้กับพนักงานในบริษัทฯ  และ การอบรมทั่วไป (General Training) ซึ่งเป็นการเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และทักษะที่ได้  รวมทั้งแนวความคิด และการบริหารจัดการ สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงในการทำงานประจำวัน     ซึ่งเป้าหมายการจัดฝึกอบรมในปี พ.ศ. 2548 นี้ DENSO Training Academy (Thailand) จัดเตรียมหลักสูตรสำหรับการเป็นวิทยากร 23 หลักสูตร หลักสูตรฝึกอบรมทั่วไป 156 หลักสูตร ซึ่งสามารถรองรับบุคลากรได้กว่า 2,000 คน 

.

 ในปี พ.ศ. 2549 โดยหลักสูตรของการอบรม จะสอดคล้องและสนับสนุนกับโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Project : AHRDP)  ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทางด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีการทำแม่พิมพ์และการผลิต การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ และการปรับปรุงด้านคุณภาพ ด้านต้นทุน และการส่งมอบ (Quality, Cost, & Delivery : QCD) ของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลก เพื่อให้ไทยได้เป็น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งเอเชีย ภายในปี พ.ศ. 2553 ตามแผนยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนด