เนื้อหาวันที่ : 2009-09-23 09:43:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1448 views

เอดีบีชี้ปัญหาเศรษกิจโลก การเมืองรุมเร้า ฉุดจีดีพีไทยไม่ฟื้น

เอดีบี หวั่นหลายปัจจัยเศรษฐกิจโลก-การเมืองฉุดจีดีพีไทยไม่ฟื้น คาดทั้งปีจะติดลบ 3.2% ขึ้นอยู่กับปัญหาการเมือง ระบุปีหน้ามีสิทธิ์โต 3% นิด้าชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแย่สุดในเอเชีย

.

เอดีบี หวั่นหลายปัจจัยเศรษฐกิจโลก-การเมืองฉุดจีดีพีไทยไม่ฟื้น คาดทั้งปีจะติดลบ 3.2% ขึ้นอยู่กับปัญหาการเมืองอาจกระทบโครงการเข้มแข็งจะเดินหน้าไปตามแผนได้หรือไม่ ระบุปีหน้า ศก.มีสิทธิ์โต 3% ขณะที่นักวิชาการนิด้าชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่ำสุดของประเทศในเอเชีย

.

นายฌอง ปิแอร์ เวอร์บีสท์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนเอดีบี ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เอดีบีคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยรอบใหม่ คาดว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบ 3.2% จากเดิมคาดการณ์ไว้เดือน เม.ย.ติดลบ 2.0% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกและปัญหาการเมืองในเมืองไทยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาดการณ์เดิม โดยคาดการณ์ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% ซึ่งจะเป็นลักษณะ  V เชฟ เหมือนประเทศในเอเชีย

.

แต่ประเทศไทยจะเติบโตค่อนข้างช้า จากการคาดการณ์อยู่บนสมมุติฐานไม่มีการสะดุดหยุดชะงักของรัฐบาล ทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าตามแผน โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งที่มีวงเงินลงทุนภาครัฐ 1.43 ล้านล้านบาท ในช่วงงบประมาณ 2553-2555 จะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งแผนดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 5% ของจีดีพีแต่ละปี โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่า โครงการทั้งหมดจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.5 ล้านอัตรา ช่วยกระตุ้นการบริโภค การลงทุน และก่อให้เกิดการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง

.

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าที่จะเติบโต 3% นั้น แผนไทยเข้มแข็งมีส่วนกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน บริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะดีขึ้นจากการจ้างงานและราคาสินค้าเกษตรคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกดีขึ้น คาดว่าจะส่งผลทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าภาคการเกษตร จากการที่ส่งออกจะหด 18% ในปี 2552 คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 15% ในปี 2553

.

ขณะที่การนำเข้าจะขยายตัวเช่นกัน โดยปี 2553 จะขยายตัวถึง 28% ขณะที่การบริการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกและการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ปีนี้คาดว่าไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวก และทั้งปีอัตราเงินเฟ้อของไทยจะเฉลี่ยติดลบ 0.5%

.

ส่วนปีหน้าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 2% หลังจากที่ไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน เม.ย.52 อยู่ที่ 1.25% ซึ่งดอกเบี้ยที่ต่ำนี้ในเอเชียรวมถึงไทยต้องระมัดระวังการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะสูงเกินไปจนอาจส่งผลกระทบจนเป็นการกลับมาของปัญหาฟองสบู่อีกครั้ง

.

นายฌอง ปิแอร์ กล่าวเตือนว่า แม้การกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 58% ในปี 2555 จาก 37.4% ในปี 2551 แต่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะไทยยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การกระจุกตัวของการใช้หนี้คืน โดยเฉพาะการออกพันธบัตรเพื่อกู้ยืมเงิน ซึ่งหากมีระยะเวลาการคืนหนี้ใกล้เคียงกัน

.

เช่น 5 หรือ 7 ปี จะเกิดปัญหาต่อภาครัฐได้ ดังนั้นเมื่อรัฐจำเป็นต้องกู้ยืมเงินควรจะมีการจัดสรรอันดับให้ดี ซึ่งน่าจะมีการประสมประสานทั้งการกู้เงินในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของธนาคารระหว่างประเทศพร้อมให้กู้แก่รัฐบาล ขณะนี้มีการเจรจาในการกู้เพื่อนำไปใช้สำหรับโครงการที่จำเป็นต้องใช้สินค้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าระบบสาธารณสุข หรือระบบรถไฟฟ้า

.

โดยในส่วนของเอดีบีนั้นอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงการคลังในการกู้ยืมเงิน เพื่อสนับสนุนงบประมาณในปี 2553 วงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีการเจรจาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะมีการกู้ยืมเงิน 77.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างเส้นทางของกรมทางหลวงที่จะมีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

.

ทั้งนี้ไทยยังมีความโชคดีหลายด้านที่สามารถส่งออกสินค้าได้หลากหลาย และมีตลาดใหม่ในหลายประเทศ ประกอบกับมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมโดยเฉพาะอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย และมีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้นไทยจึงควรจะใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ

.

นายเอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีนิด้า บิสซิเนส สคูล กล่าวว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสถาบันการเงินในสหรัฐและลุกลามไปทุกภูมิภาคทั่วโลก มีจุดเริ่มต้นจากการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่แท้จริง ทำให้ภาคการผลิตและการลงทุนของเอกชนลดลง เกิดปัญหาการว่างงานตามมา ซึ่งจากการติดตามการแก้ไขปัญหา ได้แบ่งประเทศที่พบว่าเศรษฐกิจถดถอยเป็น 2 กลุ่ม คือ ประเทศในกลุ่มจี 3 สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศแถบเอเชียซึ่งรวมถึงไทย

.

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่าเศรษฐกิจประเทศไทยย่ำแย่มากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 52

.

ขณะนี้เริ่มมีสัญญาของการปรับตัวที่ดีขึ้นแล้ว จึงมั่นใจว่าประเทศไทยมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีไม่แพ้ประเทศอื่นๆ อีกทั้ง ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดปัญหาฟองสบู่แตกอย่างแน่นอน เนื่องจาก ขณะนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงราคาที่ดินก็ไม่ปรับตัวสูงขึ้นเกินราคาพื้นฐานเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง

.

นอกจากนั้น ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ก็ยังติดลบอยู่ จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่เอดีบีกังวลแน่นอน เนื่องจาก หากเศรษฐกิจจะเกิดปัญหาฟองสบู่สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อสู่ระบบเป็นจำนวนมาก

.

ทั้งนี้จากการเดินทางไปพบปะหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจและนักลงทุนประเทศอังกฤษที่ช่วงที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนยังมีมุมมองที่ดีในหลายๆ มิติต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ดัชนีหุ้นก็ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 400 จุด จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 700 จุด รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังก็มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องไปอีก 1 ปีข้างหน้า

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง