เนื้อหาวันที่ : 2009-09-23 09:21:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1324 views

กทช. ไฟเขียว จัสเทล สร้างโครงข่ายเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทเกตเวย์ในภูมิภาค

จัสเทล เน็ทเวิร์ค เฮ! กทช. ไฟเขียวให้สร้างโครงข่ายเชื่อมต่อวงจรระหว่างประเทศกับผู้ให้บริการต่างประเทศได้โดยตรง เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ

บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด ในเครือ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่และเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของไทยผู้ได้รับใบอนุญาตเกตเวย์แบบมีโครงข่ายเป็นของตนเอง  จาก กทช. ให้เชื่อมต่อวงจรระหว่างประเทศกับผู้ให้บริการต่างประเทศได้โดยตรงสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ  สอดรับความต้องการใช้แบรนด์วิธในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น  มั่นใจเปิดประตูปั้นไทยสู่ไอทีฮับของภูมิภาคได้เร็วขึ้น

.

นายสมชาย ตรีรัตนนุกูล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด เปิดเผยว่า การได้รับอนุมัติเชื่อมต่อวงจรระหว่างประเทศกับผู้ให้บริการต่างประเทศเพื่อเปิดให้บริการอินเตอร์เน็ทภูมิภาคเพิ่มอีก 5 จุด ใน 4 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย จาก คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทำให้จัสเทลฯ เป็นเอกชนรายแรก ที่เชื่อมต่อวงจรดังกล่าวข้ามพรหมแดนระหว่างประเทศได้ครบถ้วน

.

ซึ่งการได้รับอนุญาตดังกล่าว ส่งประโยชน์ภาพรวมต่อผู้บริโภคที่จะสามารถใช้ช่องสัญญาณ (แบรนด์วิธ)ได้เพิ่มขึ้น ทั้งลดต้นทุน ช่วยทำให้ประเทศไทยมีการเชื่อมต่อออกต่างประเทศมากขึ้นและได้รับผลกระทบน้อยลงในกรณีเส้นทางหลักได้รับความเสียหาย และยังเป็นการรับแนวทางเปิดเสรีอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ไปต่างประเทศต่อไป สอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ของจัสเทลฯ ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็นฮับ หรือศูนย์กลางการสื่อสารของภูมิภาคเอเชีย

.

"การอนุญาตให้เชื่อมต่อดังกล่าว ประกอบด้วยจุดเชื่อมต่อ 5 จุด ใน 4 ประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย  ทั้งนี้การเชื่อมต่อดังกล่าวเป็นการเพิ่มจากโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก) ที่มีอยู่แล้ว  ซึ่งในการลงทุนช่วงปีแรก จัสเทลฯ จะเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีโครงข่ายอยู่แล้วในแต่ละประเทศ          

.

รวมทั้งในประเทศไทยโดยจะลงทุนเฉพาะการวางไฟเบอร์ออฟติกข้ามไปยังชายแดนเชื่อมต่อเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 20 ล้านบาท  โดย 4 จุดแรกใน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จะแล้วเสร็จภายในปี 2552 ส่วนที่พม่าจะแล้วเสร็จต้นปีหน้า"

.

ทั้งนี้ จุดเชื่อมต่อดังกล่าว ยังเป็นจุดที่สามารถไปเชื่อมต่อกับโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำในสิงคโปร์  จีน ฮ่องกง และเวียดนาม เพื่อกระจายจุดเชื่อมต่อไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลก สำหรับในอนาคตอันใกล้นี้ จัสเทลฯ ยังคงเร่งเดินหน้าพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการสูงสุดของทุกกลุ่มเป้าหมาย  และมีโครงการพัฒนาการวางโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุญาตจาก กทช. ในการเปิดเสรีดังกล่าว ที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารของภูมิภาคอย่างแท้จริง.

.