เนื้อหาวันที่ : 2009-09-22 17:38:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2117 views

ความเข้ากันไม่ได้ของเขื่อนกับความพอเพียง

โครงการเขื่อนฮัตจีบนแม่น้ำสาละวิน อีกหนึ่งโครงการพัฒนาที่ต้องแลกมาด้วยวิถีชีวิตแบบพอเพียงที่ดำเนินมานับร้อยนับพันปีของชาวบ้าน ขณะที่ใครบางคนเรียกร้องหาการเสียสละเพื่อให้ประเทศก้าวหน้าตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ชาวบ้านก็มีสิทธิเรียกร้องเพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรและวิถีชีวิตเช่นกัน

คำถามถึงฮัตจี: ความเข้ากันไม่ได้ของเขื่อนกับความพอเพียง

อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ

.

.

กล่าวได้ว่าวิถีชีวิตแบบธรรมดาสามัญๆ แบบที่คนสมัยนี้เรียกว่า ''วิถีชีวิตแบบพอเพียง'' กำลังอยู่ในยุคสมัยที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ''อินเทรนด์ หรือเข้ากับกระแส'' อย่างถึงที่สุด มีการเอาคำว่าพอเพียงไปแปะติดท้ายประโยคอะไรต่อมิอะไรมากมายเพื่อทำให้โครงการนั้นเข้ากับยุคสมัยมากที่สุด

.

ความพอเพียงในชีวิตแบบคนชนบทก็เป็นลักษณะที่ว่าตื่นเช้าขึ้นมากินข้าวแล้วก็เข้าไร่ เข้าสวน หาเก็บเอาผักหญ้าแถวนั้นเพื่อกลับมาทำอาหารกินกันเป็นครอบครัวที่บ้าน บ่ายไม่มีอะไรทำก็ต้องนอนฟังเสียงใบไม้ไหว ตกเย็นก็หว่านอาหารไก่อาหารปลา แล้วตำน้ำพริกเก็บผักมากินเป็นอาหาร ก่อนเข้านอนอย่างแสนสุข

.

แต่ถ้าหากเป็นชีวิตแบบคนกรุง ตื่นเช้ามาพวกเขาต้องออกไปทำงาน แน่นอนว่าการโดยสารรถแบบคาร์พูล ไปด้วยกันมาด้วยกันนั้นเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เขาพอเพียง และอย่างแน่นอนว่าการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อให้พอดีกับการวางแผนเงินในอนาคตนั้นต้องดำเนินไปอย่างมีวินัยมากถึงมากที่สุด ค่าใช้จ่ายอะไรต่างๆ นานาที่ไม่จำเป็นต้องตัดออกไปให้หมด ดูได้แต่อย่าซื้อ ให้อดใจไว้ก่อน หรือถ้าไปเดินห้างตามที่คนกรุงคนเมืองถนัด (เอาแค่ร้านสะดวกซื้อติดแอร์ก็ยังดี) ได้แต่อย่าจ่ายตังค์ นั่นล่ะคือวิถีพอเพียงแบบสุดๆ

.

อาจจะดูเหมือนดีถ้าหากทั้งสองส่วนต่างดำเนินวิถีของตนไปไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน แต่ทว่ามันเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ยิ่งในยุคสมัยใหม่ด้วยแล้ว แต่ละส่วนคงต้องเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มาก น้อย ก็ว่ากันไปตามแต่ละกรณี

.

ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่ไปยังบ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนปกาเกอะญอที่ผู้เขียนเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นมีวิถีชีวิตแบบเป็นอุดมคติของความพอเพียง อยู่กินกับป่าและสายน้ำสาละวิน บางทีอาจจะเกิดขึ้นก่อนที่วาทกรรมความพอเพียงจะถูกเอามาใช้นานนับร้อยนับพันปี

.

ผู้คนที่หมู่บ้านนี้ราวพันคน กับอีกนับแสนนับล้านคนที่กระจายตัวกันอยู่ในแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสาขา ล้วนมีชีวิตที่ขึ้นกับธรรมชาติอย่างแท้จริง หมายความว่าฤดูหาปลาก็ลงเรือหาปลา วางแน่ง(เครื่องมือประมงคล้ายแห) ปลูกข้าว ปลูกพริก แต่พอในฤดูน้ำลด หาดทรายริมตลิ่งก็จะเผยโฉมให้เห็นบนเนื้อที่ทอดยาวไปตามริมฝั่ง ณ ที่แห่งนั้นตลอดฤดูน้ำหลาก สายน้ำได้พัดพาตะกอนทราย ปุ๋ยชีวภาพชั้นยอดไหลรินจากต้นน้ำเซาะเอาแร่ธาตุๆ ทับถมลงบนหาดทรายริมน้ำ กลายเป็นพื้นที่การเกษตรอันสุดวิเศษ ชาวบ้านจะใช้เวลาราว 5-6 เดือนจัดการแปลงพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นแปลงปลูกพืชผัก สร้างรายได้ของพวกเขาให้พออยู่พอกินพอใช้กันไปเป็นปีๆ เป็นอย่างนี้มาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปี

.

การรอคอยของชาวบ้านแสนงดงาม ไม่ได้รอคอยแบบเพ้อเจ้อ ไม่ได้รอคอยแบบสิ้นหวัง น้ำขึ้นและลงทุกปี ปลูกพืชปลูกผักริมตลิ่งกันทุกปี ในส่วนบนพื้นราบก็ปลูกข้าวทุกปี มีรายรับเพื่อไปซื้อของกินของใช้ที่พวกเขาไม่สามารถผลิตได้

.

พอเพียงไหมละครับ?

แต่ข่าวคราวการสร้างเขื่อนฮัตจีบนแม่น้ำสาละวินก็สร้างความหวั่นไหวให้กับชาวบ้านไม่น้อย! แม้ว่าพื้นที่หัวงานก่อสร้างเขื่อนจะอยู่ห่างจากบ้านสบเมยไปตามลำน้ำสาละวินราว 45 กิโลเมตร ในรัฐกระเหรี่ยงประเทศพม่าก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านใจชื้นขึ้นแม้แต่นิดเดียว

.

ด้วยรูปแบบของเขื่อนฮัตจีจะเป็นเขื่อนที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ใช้ความยาวของลำน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำแทน นั่นหมายความว่าระดับน้ำที่เคยขึ้นลงตามธรรมชาติของเขาจะหยุดนิ่งเท่าเดิม หรืออาจจะขึ้นลงตามตามที่ประตูเขื่อนเปิดหรือปิดน้ำ มีคำชี้แจงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกมาว่า

.

''กฟผ. ได้ชี้แจงว่า ระดับน้ำท่วมของเขื่อนฮัตจีอยู่ที่ระดับ 48 เมตรของระดับน้ำทะเลปานกลาง  แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการลงพื้นที่ตรวจสอบที่หาดทรายบริเวณบ้านสบเมย ตำบลแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่เหนือจากที่ตั้งเขื่อนขึ้นมาประมาณ 50 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่อยู่ที่ระดับ 40 เมตรของระดับน้ำทะเลปานกลาง

.

ดังนั้นบริเวณที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยริมน้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน รวมตลอดทั้งแม่น้ำสาขาบางบริเวณ ย่อมต้องถูกน้ำท่วมถาวรเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การประกอบอาชีพของชุมชนริมแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินยังอาศัยพื้นที่ริมตลิ่งในการปลูกพืชผักต่างๆ เมื่อน้ำลดทำให้วิถีชีวิตของชุมชนดังกล่าวไม่อาจใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรมจากริมตลิ่งต่อไปได้''

.

ก็มีข้อถกเถียงออกมาจากฝ่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเรื่องระดับน้ำ แต่ก็ยังไม่มีใครนอนใจถ้าหากสร้างแล้วผลกระทบเกิดขึ้นจริง อย่างเช่นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ มาแล้ว นั่นหมายความว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เคยลงมือทำกันเป็นวงจรการผลิตตลอดปีนั้นจะหายไปครึ่งหนึ่ง!

.

ครึ่งหนึ่งที่จะนำไปสู่อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งยังไม่ได้นับรวมเอาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านที่ทหารพม่าอาจจะยกกำลังเข้าปราบปรามชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่จะเกิดขึ้นอีกครั้งและจะนำไปสู่การอพยพอีกมากมายมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าจุดหมายปลายทางของคนเหล่านั้นอยู่ที่ฝั่งไทย

.

ยังไม่ได้นับรวมความจำเป็นของการใช้ไฟฟ้าที่ช่วงปลายปี 2551 ต่อปี 2552 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเองนั้นต้องยกเลิก หรือเลื่อนโครงการความร่วมมือที่จะก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ อีกหลายต่อหลายโรง

.

ยังไม่รวมถึงการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่บังคับให้การลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศของหน่วยงานรัฐจะต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งกฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจจะต้องปฏิบัติตามแต่ขั้นตอนนี้ถูกเพิกเฉยไป ยังไม่นับรวมปริมาณพลังงานสำรองของประเทศที่มีเกินค่ามาตรฐานไปมากในทุกๆ ปี และการเกินมาตรฐานนั้นหมายถึงภาระที่ถูกผลักมาที่ผู้บริโภคอย่างถ้วนหน้า นั่นล้วนเป็นภาระที่ชาวบ้านในบ้านสบเมยต้องจ่าย...บางทีอาจจะด้วยชีวิตของเขา

.

ใครบางคนอาจถามหาความเสียสละ เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่อให้ประเทศก้าวรุดไปข้างหน้า อย่างประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย พวกเขาต่างยืนยันว่าแน่นอนต้องมีคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวมเพื่อประเทศชาติ ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นคำที่ใหญ่มาก เสียสละส่วนรวมเพื่อประเทศชาติ แต่...เขาเหล่านั้นจะต้องทำเพื่ออะไร

.

ชาวบ้านที่ปากมูล หรือชาวบ้านรอบๆโรงไฟฟ้าที่จะนะยังไม่พออีกหรือกับคำว่าเสียสละ กับเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าที่สร้างขึ้นมาข้างบ้านโดยที่พวกเขาไม่ได้ต้องการ พวกเขาต้องสูญเสียวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่มาเป็นร้อยเป็นพันปี แล้วกลายไปเป็นแรงงานราคาถูกในเมืองให้คนหมิ่นหยาม อยู่ในภาวะที่กลับไม่ได้ไปก็ไม่ถึง

.

นานเท่าไหร่แล้วที่พวกชาวบ้านเหล่านี้ต้องทนอยู่กับความเสียเปรียบเชิงโครงสร้างที่รัฐไทยดำเนินมาเป็นเวลาราว 50 ปีตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเริ่มบังคับใช้ ภาคการเกษตรที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศมาตลอดถูกละเลย พร้อมๆ กับกระแสตื่นทองในเมือง ที่แรงงานต่างทิ้งถิ่นทิ้งนาแห่แหนกันเข้าไป แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ปักหลักดำเนินวิถีชีวิตของเขาต่อไป ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงในวิถีไปบ้าง อย่างเช่นเรื่องปุ๋ย ยา รถไถนา แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไปแย่งเอาทรัพยากรธรรมชาติของเขามาเพื่อตอบสนองกับระบบทุนที่ตัวเองดำเนินไปอยู่

.

ดำเนินไปแบบที่ฐานของการก้าวย่างนั้นไม่แข็งแรง ใครๆ ก็รู้ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยง่อนแง่นแค่ไหน ประเภทที่ว่ายืนพิงเขาเสมอไป ไม่ได้โตแบบคนเดียวเดี่ยวๆ ที่ไหนล้มไทยคว่ำ ที่ไหนคะมำไทยก็หงายท้องแหง๋แซะ

.

ไม่ใช่มีเพียงพื้นที่ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาเท่านั้น โครงการโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สิชล อุตสาหกรรมที่จะนะ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 3-4 แห่งที่มีแผนจะเกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเดินย่ำไปบนหัวเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น ฐานทรัพยากรที่อยู่กับพวกเขามานานแสนนานล้วนกำลังจะถูกแย่งชิงไป จากทุน โดยมีรัฐ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ อิทธิพลเถื่อน ฯลฯ คอยเป็นมือตีนให้

.

คำถามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือว่าบนเส้นทางที่รัฐไทยกำลังดำเนินไป ใครกันที่เป็นผู้กำหนด ชาวบ้านเหล่านั้นแท้จริงแล้วมีสิทธิมีเสียงที่จะพูดจะบอกถึงความกังวลใจของเขาหรือไม่ เขามีสิทธิที่จะดำรงรักษาวิถีชีวิตของเขาหรือไม่ ความพอเพียง จะสามารถเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับพวกเขาไปตลอดการณ์โดยที่ไม่มีใครสามารถมาแย่งไปได้หรือเปล่า?

.

ณ บ้านหลังที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ ไฟฟ้าจะได้จากแผงโซล่าร์เซลส์ผ่านหม้อแบตเตอรี่ที่ทุกๆ บ้านจะเอาไปชาร์ต ณ โบสถ์ประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเริ่มเปิดไฟกันก็ต่อเมื่อเวลาย่างเข้ากลางคืนที่ท้องฟ้ามืดมิด ทีวีที่เปิดเสียงดังจะเป็นที่รวมของคนมากหน้าหลายตา ด้วยว่ามันมีเพียงไม่กี่เครื่องในหมู่บ้านเท่านั้น คำนวณคร่าวๆ ทั้งหมู่บ้านใช้ไฟฟ้าไม่เท่าไหร่

.

แล้วถามว่าจะคุ้มค่าไหมกับความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา และลูกหลานเหลนที่จะเกิดขึ้นมา ถ้าหากเขื่อนนั้นเกิดขึ้น เพื่อที่จะพาพวกเขาไปในทิศทางการพัฒนาที่ไม่มั่นคงในชีวิตเอาเสียเหลือเกิน

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท