เนื้อหาวันที่ : 2009-09-21 13:36:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1290 views

ทนงห่วงลงทุนไทยเข้มแข็งไม่ได้ผลตามเป้า หวั่นเกิดเงินเฟ้อรุนแรง

ทนง อดีตขุนคลัง ออกอาการห่วงการกู้เงินมาลงทุนแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ไม่เชื่อจะลงทุนตามแผนได้ เหตุยังมีอุปสรรครอบด้าน หวั่นเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง รัฐก่อหนี้ทำหนี้สาธาณะพุ่ง 60%

ทนง อดีตขุนคลัง ออกอาการห่วงการกู้เงินมาลงทุนแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ไม่เชื่อจะลงทุนตามแผนได้ เหตุยังมีอุปสรรครอบด้าน หวั่นเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง รัฐก่อหนี้ทำหนี้สาธาณะพุ่ง 60% 

.

นายทนง พิทยะ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

.

นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง แสดงความเป็นห่วงการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งว่า แผนการลงทุนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามเป้าหมายทั้งหมด เพราะยังมีอุปสรรคต่อการลงทุนทั้งในแง่กฎหมาย แนวความคิด การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ความโปร่งใสในการทำงานและการตรวจสอบ จึงไม่เชื่อว่าจะเกิดการลงทุนตามแผนได้ง่าย

.

อีกทั้งการระดมทุนโดยการกู้เงินในประเทศมากเกินไป อาจจะกระทบต่อเครดิตของประเทศลดลง และอาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงในอนาคตได้ รวมทั้งการก่อหนี้ภาครัฐที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะสูงถึง 60% ของจีดีพี เหนือกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ภายใต้การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตรา 5-6% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาดได้ 

.

"เชื่อว่าโครงการเหล่านี้คงไม่เกิดได้จริงในเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ เห็นได้จากอดีตที่การลงทุนภาครัฐตั้งเป้า 3 ปี แต่จะเกิดขึ้นจริง 10-15 ปีก็มี แต่หากทำได้ 3 ปี ก็ถือว่าเก่ง เพราะรัฐบาลพยายามสร้างความหวัง แต่ยังมีอุปสรรคอยู่อีกมาก...การกู้เงิน 8 แสนล้านบาทยังไม่มากเกินไป แต่ต้องทำให้ balance โดยการกู้เงินต่างประเทศด้วย

.

แต่การกู้เงินเยอะเกินไปจะกระทบเครดิตของประเทศให้ลดน้อยลง"นายทนง กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง"บริบทการเงินใหม่ หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก"ในการประชุมเชิงวิชาการด้านเศรษฐกิจมหภาคและบัญชีประชาชาติ ประจำปี 52 

.

อย่างไรก็ตาม ไม่ขอวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลชุดนี้เข้ามาภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัด ทั้งการเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ ในสภาพของรัฐบาลผสม ที่ผู้นำรัฐบาลดำเนินการได้เพียงแค่การดูแลให้เรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง ขณะที่ รมว.คลัง มีหน้าที่เพียงแค่การจัดหาเงินเพื่อใช้ตามนโยบายต่างๆ แตกต่างจากอดีต ที่ รมว.คลัง ซึ่งมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินแล้วจะต้องเป็นผู้จัดลำดับความสำคัญในโครงการใช้เงินของรัฐบาลด้วย 

.

นายทนง มองว่า ในปี 53 เศรษฐกิจไทย มีโอกาสขยายตัวเป็นบวกได้ในอัตรา 2-3% และจะยืนในอัตราดังกล่าวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า  แต่เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถขยายตัวได้ในอัตรา 5% ในช่วงเวลาสั้น ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ เพราะการบริโภคของโลก ยังไม่ขยายตัวมาก 

.

"สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการใช้สมรรถนะของเครื่องจักร  และในภาคการผลิต อยู่ที่ 50% ขณะที่ภาคเอกชนมีสมรรถนะการผลิตเป็นจำนวนอยู่มาก แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รัฐบาลจึงต้องผลักดันให้มีตลาดส่งออกใหม่ เกิดขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นภาคการส่งออก" อดีต รมว.คลัง กล่าว 

.

นายทนง กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นขณะนี้ เกิดจากกลไกการสร้างสภาพคล่องในตลาดเงินเป็นจำนวนมาก และอยู่นอกเหนือการการกำกับดูแลของธนาคารกลาง จึงเห็นได้ว่าภายใต้เศรษฐกิจที่เปิดเสรีของสหรัฐ และกำกับดูแลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของโลก ยังไม่สามารถป้องกันวิกฤติครั้งนี้

.

ทั้งนี้ บริบทการเงินใหม่ของโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้สร้างให้เกิดสภาพคล่อง เงินสะพัดเป็นจำนวนมาก ถึง 10 เท่า ของจีดีพีโลก จากที่เคยขยายตัวเพียง 2 เท่าของจีดีพีโลก  ทำให้การใช้จ่ายของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อการใช้จ่ายประจำวันแล้ว ยังมีสภาพคล่องเหลือนำไปลงทุนต่างๆ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์  พันธบัตร ตราสารหนี้ประเภทต่างๆ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวมากจนนำไปสู่การสร้างความเสียหายเกิดขึ้น 

.

ดังนั้นเห็นว่าจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ในส่วนของไทยที่มีหน่วยงานดูแลสภาพคล่องของประเทศ ทั้งธุรกิจประกันภัย ประกันชีวติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรมีการเชื่อมโยงการทำงานด้วยกัน 

.

โดยอาจมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน โดยปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง เพื่อได้ให้รับรู้ และบริหารสภาพคล่องโดยรวมของประเทศได้ และสามารถกำกับดูแลระบการเงินของประเทศภายใต้เครื่องมือการกำกับดูแลที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งหลายประเทศ เช่น อังกฤษ เริ่มดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวแล้ว 

.

"เห็นว่าหน่วยงานดูแลสภาพคล่องของประเทศ ควรให้มีบอร์ดร่วมกัน แทนที่จะอยู่ภายใต้ดูแลของ ครม. เช่น ก.ล.ต.ตอนนี้ รมว.คลังก็ไม่ได้เป็นประธานบอร์ดแล้ว ก็ถือว่าน่าพอใจ เพื่อให้มีระบบการเงินของประเทศมีการกำกับดูแลสภาพคล่องของประเทศที่เชื่อมโยงกัน" นายทนง กล่าว 

.

อดีต รมว.คลัง ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหรือไม่ แม้นักเศรษฐศาสตร์จะมีความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่จากการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีความกังวลว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้นานแค่ไหน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนให้เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกลับมาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ดังนั้นเห็นว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในลักษณะ ตัว "U" และฟื้นตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า 

.

ส่วนเศรษฐกิจไทย ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจโลก ดังนั้นรัฐบาลควรต้องวางแนวทางเพื่อพยุงเศรษฐกิจและลดผลกระทบของภาคการส่งออก รักษาอัตราการจ้างงาน และดูแลภาคการผลิตเป็นหลัก รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อยเกินไป แต่กลับอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก

.

ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเพราะเม็ดเงินจะหายออกจากระบบโดยเร็ว ไม่ได้เป็นการแก้โดยโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มสมรรถนะการผลิตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ควรมีการลงทุนเพื่อดึงดูดภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศที่สำคัญเช่นกัน