เนื้อหาวันที่ : 2009-09-21 08:21:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1957 views

ชาวมาบตาพุดบุกพบนายกฯ "อภิสิทธิ์" เสนอองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ตัวแทนชาวชุมชนมาบตาพุด เข้าพบนายกฯ หารือแก้ปัญหามาบตาพุด "อภิสิทธิ์" เสนอองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นักกฎหมายหวั่นเป็นแนวทางว่างเปล่า เตรียมหันหน้าพึ่งศาล

ตัวแทนชาวชุมชนมาบตาพุด เข้าพบนายกฯ หารือแก้ปัญหามาบตาพุด "อภิสิทธิ์" เสนอองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นักกฎหมายหวั่นเป็นแนวทางว่างเปล่า เตรียมหันหน้าพึ่งศาล

.

.

ตัวแทนชาวชุมชนมาบตาพุด-บ้านฉาง รวมทั้งนักวิชาการ นักกฎหมายเข้าพบนายกรัฐมนตรี หารือแก้ปัญหามาบตาพุด นายกฯ เสนอ 5 กลไก โดยเฉพาะการมีองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษบริหารพื้นที่ ด้านนักกฎหมายระบุเป็นเพียงแนวทางที่ว่างเปล่า หวังพึ่งศาลบังคับเกิดการแก้ปัญหารูปธรรม

.

วานนี้ (20 ก.ย. 52) เวลา 8.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวชุมชนมาบตาพุด-บ้านฉาง รวมทั้งนักวิชาการ นักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า 20 คนเข้าพบหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-บ้านฉาง

.

โดยในที่ประชุมนายกรัฐมนตรียอมรับว่าปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สะสมมานานไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ ที่ผ่านมาจนกลายเป็นปัญหาหมักหมมแทบทุกด้าน รัฐบาลชุดนี้เพิ่งเข้ามาจึงจึงต้องค่อย ๆ แก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยอมรับกันในทุก ๆ ฝ่าย

.

นายกรัฐมนตรียังได้เสนอ 5 กลไกใหม่ในการแก้ไขปัญหา คือ ประการแรก ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวดขึ้นเพื่อจัดการแหล่งมลพิษต่าง ๆ ทั้งน้ำเสีย ขยะพิษ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่แอบลักลอบปล่อยหรือแพร่ออกมา

.

ประการที่สอง เห็นควรต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นมาบริหารจัดการ เนื่องจากมีประชากรแฝงอยู่ในพื้นที่มาก และปัญหาใหญ่โตมากเกินกว่าที่ท้องถิ่นปกติจะจัดการได้ซึ่งขณะนี้กำลังให้คณะกรรมการกระจายอำนาจไปพิจารณารูปแบบอยู่

.

ประการที่สาม ปัญหาการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นรัฐบาลยืนยันว่าจะปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในมาตรดังกล่าว เพียงแต่กฤษฎีกาให้ความเห็นมาว่าในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายที่บัญญัติรองรับเรื่องดังกล่าวไว้ก็น่าที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายเดิมไปก่อนได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงนั้นใครจะเป็นผู้กำหนด

.

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งออกระเบียบหรือกฎหมายออกมารองรับโดยเร็วก่อน โดยปัจจุบันได้ใช้ EIA เป็นตัวกรองในการจัดการปัญหาในเบื้องต้นก่อนเท่านั้น แต่ถ้าชุมชนไม่เห็นชอบด้วยก็สามารถฟ้องร้องได้

.

ประการที่สี่ การจัดตั้งองค์กรอิสระตามมาตรา 67 วรรคสองซึ่งเป็นองค์กรที่จะเข้ามาช่วยให้ความเห็นในการจัดทำโครงการขนาดใหญ่นั้น เห็นว่าต้องไม่ทำให้องค์กรที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นองค์กรที่มีอำนาจ เพราะมิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาการแทรกแซงของฝ่ายที่ต้องการเข้ามาเป็นกรรมการในองค์กรดังกล่าวได้

.

ประการสุดท้าย เป็นเรื่องของโครงการขนาดใหญ่ 55 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและนอกพื้นที่มาบตาพุดอีก 21 โรงงานที่ชาวชุมชนต้องการให้ชะลอการอนุมัติอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษเสร็จสิ้นเสียก่อนนั้น เห็นว่าควรที่จะนำรายละเอียดของโครงการทั้งหมดที่จะเพิ่มขึ้นใหม่มาดูเป็นรายโครงการร่วมกันว่าโครงการไหนเป็นโครงการประเภทรุนแรงหรือไม่ จะได้มีคำตอบที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดว่าโครงการไหนควรอนุญาตโครงการไหนไม่ควรอนุญาต  

.

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อไปว่าข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้กำหนดแนวทางของการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้วันเวลาเนิ่นนานเพียงใดในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมานายกฯได้พยายามใช้อำนาจทางปกครองเพื่อสั่งการให้หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตเร่งให้ใบอนุญาตการประกอบการให้กับโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยเร็วเพื่อกระตุ้นปัญหาเศรษฐกิจ

.

ดังนั้นแนวทางที่นายกฯ เสนอในที่ประชุมจึงเป็นเพียงความว่างเปล่าที่นักการเมืองชอบใช้กันเท่านั้น หากปัญหาเหล่านี้จะมีข้อยุติที่ชัดเจนนั้นเห็นทีจะต้องใช้คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลมาเป็นหลักในการดำเนินการเท่านั้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจที่จะประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ที่ต้องประกาศเป็นเพราะเป็นคำพิพากษาของศาลต่างหาก

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท