เนื้อหาวันที่ : 2009-09-18 09:33:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5305 views

กลุ่มสตรีเยาวชนต้านศึกษาเหมืองถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อย

ทีมวิจัยศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อย เผยข้อมูลเบื้องต้น กลุ่มสตรีเยาวชนต้านสุดฤทธิ์ กฟผ.ขีดวงยันทำเหมืองนอกเขตชุมชน พร้อมเลิกหากผลสรุปชุมชนไม่เห็นด้วย

.

ทีมวิจัยศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อย เผยข้อมูลเบื้องต้น กลุ่มสตรีเยาวชนต้านสุดฤทธิ์ กฟผ.ขีดวงยันทำเหมืองนอกเขตชุมชน พร้อมเลิกหากผลสรุปชุมชนไม่เห็นด้วย

.

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย โดยมีนายวิทยา พานิชพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน มีกรรมการและผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประมาณ 50 คน

.

นายจิระพันธ์ เดมะ อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาทรัพยากรถ่านลิกไนต์ ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาแบบชุมชนมีส่วนร่วม ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมและแผนปฏิบัติการโครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาทรัพยากรถ่านลิกไนต์ ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาแบบชุมชนมีส่วนร่วมต่อที่ประชุมว่า การดำเนินกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การเก็บข้อมูลพื้นฐาน ระยะที่ 2 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระยะที่ 3 การเก็บข้อมูลเพื่อสรุปผล

.

นายจิระพันธ์ รายงานว่า "สำหรับการดำเนินกิจกรรมระยะที่ 1 ได้แก่การเก็บข้อมูลพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ ความคิดเห็นและข้อกังวลเกี่ยวกับการศึกษาการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย และการพัฒนาเหมืองลิกไนต์สะบ้าย้อย จาก 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2.กลุ่มอิหม่าม ครูตาดีกา 3.กลุ่มสตรี 4.กลุ่มเยาวชน 5.กลุ่มข้าราชการในพื้นที่และ 6.กลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยการจัดเวทีสานเสวนา แต่กลุ่มที่ 5 และ 6 ยังไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้ยังได้จัดการเสวนาเป็นพิเศษกับกลุ่มชาวบ้านซาว หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งพอด้วย 2 กลุ่ม

.

จากการรับฟังข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องที่จะให้มีการศึกษาและเข้าใจว่าการศึกษาไม่ใช่การทำเหมืองลิกไนต์ ยกเว้นกลุ่มสตรีและเยาวชนเกือบ 100% ไม่เห้นด้วยที่จะให้ทั้งการศึกษาและทำเหมืองถ่านหิน โดยวิตกว่าเมื่อเข้ามาศึกษาแล้วก็จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ต่อ ส่วนชาวบ้านซาวส่วนใหญ่กังวลเรื่องการชดเชยมากกว่า

.

ส่วนการดำเนินกิจกรรมระยะที่ 2 ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ตามที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ ได้แก่ การจัดเวทีเรียนรู้บทเรียนประสบการณ์จากชุมชนที่มีโครงการขนาดใหญ่ โดยได้จัดไปแล้วกับบางกลุ่ม โดยเชิญปราชญ์ชาบ้านในพื้ที่ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะตั้งอยู่ เข้าไปเล่าบทเรียนและประสบการณ์

.

กิจกรรมต่อไป คือการจัดเวทีเรียนรู้ข้อกฎหมาย สิทธิชุมชนในพื้นที่โครงการ เวทีการสื่อสารกับชุมชน การทำความเข้าใจกรอบในการศึกษาโครงการ ซึ่งเวทีนี้ต้องให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) ในฐานะเจ้าของโครงการมาชี้แจง การศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยให้ชาวบ้านเลือกเองว่าจะไปศึกษาดูงานที่ไหน และกิจกรรมอื่นๆ ตามที่ชุมชนต้องการ

.

ระยะที่ 3 เป็นการเก็บข้อมูลสรุปผล ประกอบด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ และข้อมูลเชิงลึกโดยการสานเสวนา เพื่อหาข้อสรุปว่า ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ ข้อกังวลอย่างไร และยินยอมให้มีการศึกษาโครงการในพื้นที่หรือไม่ ถ้ายินยอมจะมีรูปแบบการมีส่วนร่วมอย่างไร โดยกิจกรรมระยะที่ 2 และ 3 ดำเนินการกับทุกกลุ่ม ทุกหมู่บ้านในตำบลทุ่งพอ แต่เน้นกลุ่มบ้านซาว

.

หากผลการศึกษามีข้อสรุปว่า ชุมชนเห็นด้วยให้มีการศึกษา ทางคณะวิจัยโครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาทรัพยากรถ่านลิกไนต์ ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาแบบชุมชนมีส่วนร่วม จะเสนอตัวขอเป็นกรรมการไตรภาคีในการศึกษาการพัฒนาเหมืองถ่านลิกไนต์สะบ้าย้อยด้วย"

.

นายสุกิตติ ธนพิทักษ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา จากการติดตามโครงการศึกษาดังกล่าว พบว่า กลุ่มที่เห็นด้วยเข้าใจว่าการทำเหมืองลิกไนต์สะบ้าย้อยไม่อยู่ในพื้นที่ชุมชน มัสยิดและกูโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิมไม่ต้องย้าย ชุมชนต้องการเป้นเจ้าของโครงการด้วยและให้มีหลักประกันเรื่องสุขภาพ  

.

ส่วนกลุ่มที่ไม่เห้นด้วย ไม่แน่ใจว่าชุมชน มัสยิดและกูโบร์ต้องย้าย และย้ายไปที่ไหน จะไม่มีที่ทำกิน และไม่เชื่อใจข้าราชการ ซึ่งทั้งหมดมีคำตอบให้กับชุมชนแล้วหรือยัง เพราะจังหวัดสงขลาได้บทเรียนมาแล้วจากการการคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่คนส่วนหนึ่งต้องเสียสละเพื่อให้คนส่วนมากได้ประโยชน์ แต่พวกเขาได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด

.

นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ อดีตที่ปรึกษา กฟผ.ในฐานะกรรมการที่ปรึกษา กล่าวว่า แหล่งถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อยมีทั้งหมด 4 แหล่งในตำบลทุ่งพอและ 1 แหล่งในตำบลคอลอมูดอ อำเภอสะบ้าย้อย ทาง กฟผ.มีการขึดวงชัดเจนว่าว่าจะดำเนินการในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านซาว ตำบลทุ่งพอเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตชุมชนหนาแน่น มีบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่เกิน 10 หลัง ซึ่งต้องได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม รวมทั้งสวนยางและสวนผลไม้ด้วย เพราะฉะนั้น ชุมชน มัสยิดและกูโบร์ไม่ต้องย้ายแน่นอน

.

นายพิชญา เพิ่มทอง หัวหน้าโครงการพัฒนาเหมืองสะบ้าย้อย ในฐานะกรรมการและเลขานุการ แจ้งว่า กฟผ. ได้เตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องแก่ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ส่วนการแต่งตั้งคณะทำงานการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น หากผลการศึกษาโครงการศึกษารูปแบบการพัฒนาทรัพยากรถ่านลิกไนต์ตำบลทุ่งพอ แบบชุมชนมีส่วนร่วมมีผลออกมาว่าชาวบ้านยินยอมให้ศึกษา ก็จะดำเนินการทันที่ แต่ถ้าไม่ยอม ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท