เนื้อหาวันที่ : 2006-12-04 16:50:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 863 views

ธปท.เดินหน้าศึกษาแนวคิดเก็บภาษีเงินทุนระยะสั้นหวังผลความผันผวนเงินบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรเงินบาท โดยเฉพาะในบัญชีของผู้มีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศ หรือนอนเรสสิเดนท์ หลังจากพบว่า ต่างชาติใช้ช่องทางนี้ในการเก็งกำไรเงินบาทเป็นจำนวนมาก โดยห้ามสถาบันการเงินซื้อขายตราสารหนี้ทุกประเภททุกอายุสัญญา

สำนักข่าวไทยธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรเงินบาท  โดยเฉพาะในบัญชีของผู้มีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศ หรือนอนเรสสิเดนท์  หลังจากพบว่า  ต่างชาติใช้ช่องทางนี้ในการเก็งกำไรเงินบาทเป็นจำนวนมาก  โดยห้ามสถาบันการเงินซื้อขายตราสารหนี้ทุกประเภททุกอายุสัญญาในลักษณะ  Sell Buy Back  และกำหนดให้การไถ่ถอนเงินลงทุนของต่างชาติทำได้เฉพาะกรณีที่ถือครองตราสารหนี้เกิน  6  เดือน  ขณะเดียวกัน  ก็เดินหน้าศึกษาแนวคิดการเก็บภาษีเงินทุนระยะสั้น  หากมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้ผล  ด้าน  รมว.คลัง-รมว.พาณิชย์  มั่นใจ  ธปท. มีมาตรการดูแลเงินบาทได้

.

นางธาริษา  วัฒนเกส  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) กล่าวว่า  ในช่วงที่ผ่านมา  มีเงินทุนต่างชาติจำนวนมาก  โดยเฉพาะในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย  โดยเป็นการลงทุนในช่วงเวลาสั้น ๆ  เมื่อสถานการณ์เหมาะสมก็มีการขายตราสารดังกล่าวเพื่อนำเงินออกไป  ซึ่งนักลงทุนได้ผลตอบแทนทั้งการลงทุนในตราสารหนี้  และค่าเงินบาทที่แข็งค่า  ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนและกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินของประเทศ  ธปท. จึงมีหนังสือลงวันที่ 4 ธันวาคม  ขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้สถาบันการเงินซื้อขายตราสารหนี้ทุกประเภททุกอายุสัญญากับผู้มีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศ  (นอนเรสสิเดนท์) ในลักษณะการขายโดยมีสัญญาซื้อคืน (Sell Buy Back) โดย  ธปท.  พบว่ามีนักเก็งกำไรใช้ช่องทางดังกล่าวเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทค่อนข้างมาก  โดยพบว่าในช่วงต้นปี  2549  มีเงินในบัญชีนอนเรสสิเดนท์  ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และเพิ่มเป็น 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในกลางเดือนพฤศจิกายน

.

นอกจากนี้  ธปท. ก็ขอความร่วมมือธุรกิจเอกชนให้หลีกเลี่ยงการออกตราสารหนี้ระยะสั้น  หรือหุ้นกู้ ที่ขายให้กับนอนเรสสิเดนท์  โดยพบว่าเอกชนมีการออกตราสารหนี้ระยะสั้นและหุ้นกู้เพิ่มขึ้นมาก  โดยมียอดตราสารหนี้คงค้าง  200,000  ล้านบาท  และหุ้นกู้อีก  600,000  ล้านบาท รวม 800,000 ล้านบาท  และขอให้สถาบันการเงินหลีกเลี่ยงการขายตราสารหนี้ระยะสั้นและหุ้นกู้เอกชนให้กับนอนเรสสิเดนท์

.

นางธาริษา  กล่าวด้วยว่า  ธปท. ได้ขอความร่วมมือสถาบันการเงินรับการไถ่ถอนเงินลงทุนจากนอนเรสสิเดนท์  ในการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล  ตั๋วเงินคลัง  ที่ถือครองเกิน  3  เดือนเท่านั้น  รวมทั้ง  ธปท. ได้ปรับมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรเงินบาทในส่วนที่สถาบันการเงินกู้ยืมเงินบาทจากนอนเรสสิเดนท์  และมีสัญญาขายคืนกรณีที่ไม่มีธุรกรรมรองรับ  จากเดิมที่กำหนดอายุเกินสัญญา 3 เดือน  เป็นสัญญาเกิน 6 เดือน  เพื่อให้เป็นการกู้ยืมในระยะยาวขึ้น

.

มาตรการที่ออกมาเพื่อลดความผันผวนในตลาดเงินตราต่างประเทศ  และเชื่อว่าจะทำให้เงินบาทมีความผันผวนลดลง  โดย  ธปท. ได้ระมัดระวังให้มีผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรและตลาดตราสารหนี้ให้น้อยที่สุด  ซึ่งจะติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด  แต่หากจำเป็น  ธปท. ก็พร้อมพิจารณาการออกมาตรการเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่ง  ธปท. ได้เตรียมมาตรการเสริมสร้างสภาพคล่องให้ตลาดไว้อย่างเพียงพอ  จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาต่อตลาดเงินโดยภาพรวม  นางธาริษา  กล่าว

.

ผู้ว่าการ  ธปท. กล่าวว่า  เงินบาทที่แข็งอย่างรวดเร็ว  เป็นผลจากปัจจัยภายนอก  เพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่า  และเศรษฐกิจไทยรวมทั้งในภูมิภาคมั่นคง  ทำให้เงินทุนในรูปดอลลาร์เข้ามาลงทุนในเอเชีย  การที่  ธปท. ออกมาตรการดูแลเงินทุนนำเข้าระยะสั้น  เพื่อลดความผันผวนของเงินบาท  เพราะเงินหมุนเร็วทำให้เงินบาทผันผวนมาก

.

ด้านนายสุชาติ  สักการโกศล  ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนและสินเชื่อ  ธปท.  กล่าวว่า  ธปท. กำลังศึกษามาตรการการเก็บภาษีนำเข้าเงินทุนระยะสั้นเหมือนที่ในต่างประเทศใช้อยู่  หากว่าการสกัดกั้นการเก็งกำไรเงินบาทไม่ได้ผล  ซึ่งยอมรับว่ามีผลกระทบค่อนข้างมาก  จึงจะต้องมีการหารือและได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังก่อน

.

ขณะที่  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวหลังหารือกับนายเกริกไกร  จีระแพทย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ว่า  ทางกระทรวงพาณิชย์  ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์  เป็นคณะกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)   คงจะมีการหารือในที่ประชุมร่วมกับ ธปท.  เร็ว ๆ นี้  ขณะที่ ธปท. ก็จะมีมาตรการออกมาดูแลผู้ประกอบการ  และเชื่อมั่นว่าจะสามารถดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป  และเชื่อมั่นว่าเอกชนจะสามารถปรับตัวได้

.

นายเกริกไกร  กล่าวว่า   การหารือกับ  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เป็นการหารือกันเพียงเล็กน้อย  แต่กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางศึกษาการช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นรายกลุ่ม  แต่ในส่วนของการค้ากับสหรัฐ  เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก  เพราะสัดส่วนการค้ากับสหรัฐลดลงเหลือร้อยละ 16-17 ของตลาดรวม  หลังจากได้พยายามกระจายตลาดมากขึ้น  และเมื่อ  ธปท. ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือ  ประกอบกับแนวทางของกระทรวงพาณิชย์ ก็น่าจะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้  แต่ยอมรับว่าการแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลดีต่อการนำเข้าสำหรับสินค้าที่จำเป็น  แต่เกรงว่าจะมีการนำเข้ามากเกินไปในระยะยาว  ดังนั้น  จึงต้องหาแนวทางดูแล.