เนื้อหาวันที่ : 2009-09-14 11:34:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4035 views

มารู้จัก East-West Economic Corridor

ปี ค.ศ. 2009 นับเป็นปีสำคัญของประเทศไทยในฐานะที่เป็นประธานกลุ่ม "อาเซียน" ซึ่งบ้านทำหน้าที่เป็น "เจ้าภาพ" จัดการประชุม แม้จะมีอุปสรรคขัดขวางอยู่หลายประการแต่การประชุมก็ยังต้องดำเนินต่อไปเนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของ "ประชาคมอาเซียน" ทั้งภูมิภาคมิใช่แค่เป็นเพียงผลประโยชน์ของประเทศไทยประเทศเดียว

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ปี ค.ศ. 2009 นับเป็นปีสำคัญของประเทศไทยในฐานะที่เราเป็นประธานกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ "อาเซียน" ซึ่งบ้านเราต้องทำหน้าที่เป็น "เจ้าภาพ" จัดการประชุมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีอุปสรรคขัดขวางอยู่หลายประการแต่การประชุมดังกล่าวก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไปเนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของ "ประชาคมอาเซียน" ทั้งภูมิภาคมิใช่แค่เป็นเพียงผลประโยชน์ของประเทศไทยประเทศเดียว

.

ท่านผู้อ่านสังเกตหรือไม่ครับว่า ปัจจุบันนี้ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ เราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ เนื่องจากโลกของเราเชื่อมโยงติดต่อกันด้วย "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" ด้วยเหตุนี้เองแนวคิดเรื่อง "การค้าเสรี" (Free Trade) จึงเป็นแนวคิดที่ผลักดันให้ทุกประเทศหันมาค้าขายแข่งกันไง ล่ะครับ

.

แนวคิดเรื่องการค้าเสรีทำให้เกิดการก่อตั้ง "องค์กรการค้าโลก" หรือ World Trade Organization (WTO) ขึ้นมาประมาณปลายทศวรรษที่ 90 ซึ่งองค์กรแห่งนี้มีวิวัฒนาการมาจากการเจรจา GATTS ที่เริ่มต้นเจรจากันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงใหม่ ๆ 

.

WTO ได้กลายเป็นองค์กรโลกบาลที่ทรงอิทธิพลองค์กรหนึ่งในเรื่องการดูแลการค้าโลกและเผยแพร่แนวคิดเรื่องการค้าเสรี ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลายประเทศต้องปรับตัวทางการค้าด้วยการใช้นโยบาย "รวมกลุ่ม" กันครับ 

.

การรวมกลุ่มกันนั้นเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งในการสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้า ตัวอย่างการรวมกลุ่มประเทศที่ประสบผลสำเร็จคือการรวมกลุ่มของประเทศในทวีปยุโรปหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ "อียู" (European Union) ความสำเร็จของอียูพัฒนาไปถึงขั้นการใช้เงินตราสกุลเดียวกันรวมไปถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี เป็นต้น

.

แม้ว่า "กลุ่มอาเซียน" ของเราจะรวมตัวกันมานานแล้วแต่ในแง่ทางการค้านั้นนับว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนะครับ ทั้งนี้อาเซียนประกอบไปด้วยสมาชิกสิบประเทศซึ่งแต่ละประเทศก็มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป อย่างไรก็ดีภายในภูมิภาคอาเซียนก็ยังมี "กลุ่มย่อย" ลงไปอีกหรือที่เรียกว่า "อนุภูมิภาค" (Subregion) และอนุภูมิภาคที่สำคัญในแถบนี้คือ "อนุภูมิภาคอินโดจีน" ครับ

.

สำหรับซีรีส์ "ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ" ตอนนี้ ผู้เขียนจะพาท่านไปเกาะขอบหน้าต่างดูความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในแถบอินโดจีนโดยเฉพาะการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ที่เชื่อมอนุภูมิภาคอินโดจีนของเราเข้าด้วยกันจากตะวันออกสู่ตะวันตกนั่นคือเส้นทางที่เรียกว่า East-West Economic Corridor ครับ

.
จาก GMS สู่ East-West Economic Corridor

อนุภูมิภาคอินโดจีนมีจุดร่วมกันอยู่ที่ "ลุ่มแม่น้ำโขง" ครับ ด้วยเหตุนี้เองประเทศแถบนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ปัจจุบันประเทศที่อยู่ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีทั้งหมด 6 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และจีนตอนใต้แถบมณฑลยูนนาน ครับ

.

ว่ากันว่าพื้นที่บริเวณนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  มีประชากรรวมกันราว 250-ล้านคน อีกทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันอีกด้วย

.

การรวมกลุ่มของอนุภาคภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร บริการ สนับสนุนการจ้างงานตลอดจนยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ไปสู่ตลาดโลก

.

ในปี ค.ศ.2005 ได้มีการประชุมผู้นำ GMS Summit ที่ นครคุนหมิง ประเทศจีน และได้มีแถลงการณ์ร่วมคุนหมิง (Kunming Declaration) ในการสนับสนุนให้สร้างความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยมีเน้นความร่วมมือทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน การเกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

.

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดแผนงานโครงการสำคัญซึ่งแผนงานที่ดูจะได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การคมนาคมขนส่งที่เน้นการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจทั้งเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก และพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ โดยแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหล่านี้ถูกจะเชื่อมด้วย "ทางหลวงแผ่นดิน" ของแต่ละประเทศครับทำให้การคมนาคมขนส่งของทั้งหกประเทศนั้นมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

.

ปัจจุบันนี้แนวพื้นที่เศรษฐกิจหรือ Economic Corridor ของกลุ่มประเทศ GMS นั้นแบ่งออกเป็น 3 แนว ได้แก่ แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC), แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ - ใต้ (North–South Economic Corridor: NSEC) และ แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) ครับ

.

โดยแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก หรือ EWEC นั้นเชื่อมโยงเวียดนาม ลาว ไทยและพม่า ครับ ส่วนแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ–ใต้ หรือ NSEC เชื่อมโยง ไทย พม่า ลาว และจีน สำหรับแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้เชื่อมโยงไทย กัมพูชา และเวียดนาม ครับ

.

หากท่านผู้อ่านพิจารณาจากแนวพื้นที่ให้ดีจะเห็นว่าประเทศไทยได้กลายเป็นจุดเชื่อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหกซึ่งหากความร่วมมือดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังแล้ว ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือนี้มากที่สุดครับ

.

เส้นทางแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก
จากเมาะละแหม่ง สู่ ดานัง

.
East–West Economic Corridor จากเมาะละแหม่ง สู่ ดานัง

แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) มีจุดเริ่มต้นจากเมืองเมาะละแหม่ง เมียนมาร์ ผ่านเมืองเมียวะดี ก่อนจะเข้าสู่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประเทศไทย และผ่านจังหวัดพิษณุโลก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่สองเข้าสู่แขวงสะหวันนะเขต ของ สปป. ลาว ผ่านแดนสะหวัน และเข้าสู่ประเทศเวียดนามที่เมืองลาวบาว ผ่านเมืองเว้ ดองฮา และสิ้นสุดที่เมืองดานัง เมืองท่าสำคัญของเวียดนาม รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,450 กิโลเมตร 

.

เส้นทาง EWEC อาจเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามันก็ว่าได้นะครับ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการสร้างเส้นทาง EWEC ก็เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งในพื้นที่ตลอดจนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น EWEC ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยวให้กับเมืองขนาดกลางของทั้งสี่ประเทศอีกทางหนึ่งด้วยครับ

.

สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่สอง
ที่จังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขต จุดเชื่อมต่อเส้นทาง EWEC

.

อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างเส้นทาง EWEC จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาลซึ่งกลุ่มประเทศ GMS ได้ใช้เงินกู้ของ ADB และ JBIC ในการพัฒนาเส้นทางต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเปิดใช้เส้นทาง EWEC จะทำให้เมืองขนาดกลางหลายเมืองได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

.

หลังจากที่เส้นทางนี้เปิดใช้แล้วได้เกิดนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นใหม่หลายแห่ง เช่น โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมุกดาหาร เขตนิคมอุตสาหกรรมผาอัน ในเมียนมาร์ เขตนิคมอุตสาหกรรมเมาะละแหม่ง เขตนิคมอุตสาหกรรมเมียวะดี เขตเศรษฐกิจพิเศษเซโน ใน สปป. ลาว เขตการค้าเสรีบ้านแดนสะหวัน เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ในเวียดนาม เป็นต้น

.

อุโมงค์ไฮวัน (Hai Van)
เส้นทางจากเมืองเว้ไปเมืองดานัง หนึ่งในเส้นทาง EWEC
ที่ลอดภูเขายาว 7 กิโลเมตรเพื่อร่นระยะทางในการอ้อมขึ้นเขา

.

เส้นทาง EWEC นับเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมระหว่างทะเลจีนใต้และทะเลอันดามัน ระยะทางกว่าหนึ่งพันห้าร้อยกิโลเมตรมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งสี่ประเทศ ในอนาคตผู้เขียนเชื่อว่าเส้นทางสายนี้จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสายสำคัญที่จะยกระดับให้เมืองขนาดกลางของทั้งสี่ประเทศได้รับการพัฒนาเร็วขึ้น… แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.
เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1. www.wikipedia.org
2. East West Economic Corridor, EarthRights International ,June 28, 2005
.