เนื้อหาวันที่ : 2009-09-12 00:38:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1167 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มเบาบาง ส่วนไทยยังคงต้องจับตาการเมือง

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มเบาบาง ส่วนไทยยังคงต้องจับตาการเมือง

.

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ออกบทวิเคราะห์ 1 ปีหลังเลห์แมนล้ม...ตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ในวันนี้ (11 ก.ย.) โดยระบุว่า นับเป็นช่วงเวลา 1 ปีแล้ว ที่ตลาดการเงินโลกต้องเผชิญกับผลกระทบจากความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ต่อปัญหาที่ลุกลามในภาคสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2551 โดยในครั้งนั้น บริษัทในภาคการเงินของสหรัฐฯ หลายแห่งได้เข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ

.

แต่ด้วยความรุนแรงของวิกฤตที่ได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งของสหรัฐฯ ต้องตกเป็นเหยื่อของวิกฤต และต้องปิดฉากลงด้วยการยื่นเรื่องล้มละลาย โดยบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ ในเวลานั้น ก็นับเป็นหนึ่งในเหยื่อของวิกฤตการเงินในรอบนี้ด้วยเช่นกัน

.

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ปีให้หลัง ตลาดการเงินบางส่วนเริ่มเข้าสู่สภาวะที่เป็น "ปกติ" มากขึ้น ขณะที่ เริ่มเห็นแนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปรากฎขึ้นบ้างแล้วในหลายๆ ประเทศ ทั้งนี้ คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เสถียรภาพที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินและเศรษฐกิจเหล่านั้น ได้รับอานิสงส์มาจากความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของทางการหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางและรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางความคาดหวังอย่างมากต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้ ยังคงมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่หลายประเด็น โดยปัจจัยเสี่ยงที่แฝงอยู่ในระบบเศรษฐกิจและการเงินในบางประเทศ อาจทำให้โมเมนตัมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น อ่อนแรงลงในช่วงถัดๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแรงกระตุ้นการใช้จ่ายจากมาตรการของทางการเริ่มเบาบางลง

.

โดยสถานการณ์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นรูปตัว "V" อย่างที่ตลาดการเงินคาดหวังกันเอาไว้ โดยประเทศชั้นนำกลุ่ม G-3 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซน) อังกฤษ และสิงคโปร์ นับเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตค่อนข้างรุนแรง และมี ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

.

สำหรับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในรอบนี้ แรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ ผสานเข้ากับนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยทยอยปรับตัวดีขึ้นและหลุดพ้นออกจากภาวะถดถอย ซึ่งถูกยืนยันด้วยข้อมูล GDP ล่าสุด ประจำไตรมาส 2/2552 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากประเมินภาพต่อเนื่องไปที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ก็จะพบว่า ณ ขณะนี้ แนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 และความยืดหยุ่นในการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/2553 เป็นอย่างน้อยนั้น น่าที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างราบรื่นในระยะข้างหน้า

.

อย่างไรก็ตาม อาจไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “เสถียรภาพการเมืองไทย” ยังคงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป (นอกเหนือไปจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย) ด้วยเช่นกัน โดยหากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพ ก็น่าจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องได้อย่างที่ควรจะเป็น

.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์