เนื้อหาวันที่ : 2009-09-08 23:43:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2164 views

โรงงานเอทานอลเริ่มหยุดผลิต หลังโมลาสหมดตลาด

โรงงานเอทานอลที่ผลิตจากโมลาสเริ่มหยุดผลิต หลังโมลาสหมดตลาด รอฤดูเปิดหีบอ้อย ธ.ค. เริ่มกลับมาผลิตใหม่ มั่นใจไม่ขาดแคลน แต่คาดราคาจะพุ่งอีก จี้รัฐให้ความชัดเจน

.

โรงงานเอทานอลที่ผลิตจากโมลาสเริ่มหยุดผลิต หลังโมลาสหมดตลาด รอฤดูเปิดหีบอ้อย ธ.ค. เริ่มกลับมาผลิตใหม่ มั่นใจไม่ขาดแคลน แต่คาดราคาจะพุ่งอีก จี้รัฐให้ความชัดเจน

.

นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ กรรมการและกรรมการบริหาร ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ผลิตเอทานอล กล่าวว่า ในขณะนี้โรงงานหลายแห่งเริ่มหยุดการผลิต ซึ่งเกิดจากโมลาส หรือกากน้ำตาลหมดแล้ว แต่เชื่อว่าเอทานอลจะไม่ขาดแคลน เพราะในขณะนี้โรงงานที่ผลิตจากมันสำปะหลังและแป้งมันฯ ได้เกิดขึ้นหลายแห่ง

.

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ราคาคงจะไม่ปรับลดลงจากที่อัตราปัจจุบันอยู่ที่ 23-24 บาท ส่วนจะขึ้นไปถึง 25-26 บาท/ลิตร ในไตรมาส 4 นี้ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ผลิตจากมันฯ และผู้ค้าน้ำมัน  โดยยอมรับว่าปีนี้ปริมาณโมลาสที่ขาดแคลนเป็นเพราะโรงงานคาดการณ์ผิดเรื่องปริมาณอ้อยพบว่า กำลังผลิตต่ำกว่าคาดการณ์เดิมถึงร้อยละ 10 เมื่อทำสัญญาส่งออกโมลาสไปแล้ว จึงทำให้โมลาสในประเทศขาดแคลน

.

"ในปีหน้าคาดว่าปัญหาโมลาสตึงตัวอาจจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากราคาน้ำตาลสูงขึ้น อาจจะเกิดแรงจูงใจให้ปลูกอ้อยเพิ่ม ประกอบกับในขณะนี้มีการผลิตจากมันฯ เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งช่วยเพิ่มปริมาณเอทานอล  แต่สิ่งที่เอกชนต้องการเห็นความชัดเจนจากภาครัฐ คือจะเดินหน้าแผนอนุรักษ์ 15 ปีตามเป้าหมายได้หรือไม่  อี 85 จะส่งเสริมจริงจังเพียงใด  รวมทั้งราคาขายพลังงานทดแทนด้วย เพราะหากรัฐยังใช้นโยบายควบคุมราคาน้ำมัน ก็ทำให้พลังงานทดแทนเกิดปัญหาตามไปด้วย" นายสีหศักดิ์ กล่าว

.

นายสีหศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ เตรียมแผนจะสร้างโรงงานเอทานอลโรงที่ 2 ในพื้นที่เดียวกับโรงงานที่ 1 ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะผลิตได้ทั้งไซรัปจากโรงงานน้ำตาล และมันฯ  ลงทุนเพิ่มประมาณ 1,200 ล้านบาท ผลิตเอทานอล 2 แสนตัน ในขณะที่จะมีการปรับปรุงโรงที่ 1 ที่มีกำลังผลิต 1 แสนตัน  ผลิตจากโมลาสให้ผลิตจากไซรัปได้ด้วย  ลงทุนเพิ่มอีก 250 ล้านบาท คาดจะเริ่มผลิตได้ประมาณปี 2554  ทำให้โรงงานสามารถผลิตได้ตลอดปี เพราะใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย

.

และในขณะนี้ บริษัทกำลังวางแผนจะต่อยอดด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล  รวมไปถึงการผลิตยา  เวชภัณฑ์จากเอทานอลในอนาคตอีกด้วย ซึ่งหากจะไปถึงจุดนั้น  ก็คงจะมีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

.

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ  กรมพัฒนาทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า  พพ. , สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน , กรมธุรกิจพลังงาน,  ผู้ค้าน้ำมันและ ผู้ผลิตเอทานอล  จะประชุมร่วมกันในเร็วๆ นี้ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเอทานอลตึงตัวเหมือนในปีนี้ โดยอาจจะดูไปเรื่องสตอก การสำรอง หรือการแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม

.

อย่างไรก็ตามแม้ว่า ปริมาณเอทานอลจะตึงตัว  แต่ก็มั่นใจว่า จะไม่ขาดแคลน เพราะจากการสำรวจสตอกในขณะนี้มีปริมาณ 40 ล้านลิตร ทำให้มีใช้ได้อย่างน้อย 35 วัน ในขณะที่กำลังผลิตเดือน ก.ย. และ ต.ค. จะออกมาประมาณ 40 ล้านลิตร

.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์