เนื้อหาวันที่ : 2006-11-29 20:56:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1657 views

ซีเกทร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและเอไอที จัดแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย

เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาหลากหลายสาขาวิชา เข้าร่วมแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะไร้คนขับ ชิงเงินรางวัลกว่า 200,000 บาท

การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยถือเป็นการแข่งขันครั้งแรก ที่ใช้ศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ผนวกกับศาสตร์ด้านยานยนต์ เครื่องกลและคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัวเพื่อให้ได้ รถอัจฉริยะไร้คนขับ ที่สามารถขับเคลื่อนได้เองบนเส้นทางที่กำหนด ให้ได้ระยะทางไกลที่สุด และเร็วที่สุด ทั้งนี้รถทุกคันที่เข้าร่วมการแข่งขันจะเก็บข้อมูลการออกแบบ การเคลื่อนที่ โปรแกรมต่างๆ ในฮาร์ดดิสก์ของซีเกทรุ่น อีอี 25 (EE 25 series) ที่ผลิตเพื่อตอบสนองการทำงานในรถยนต์ด้วย

ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม ศกนี้ โดยการแข่งขันรอบคัดเลือกจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2550 และรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2550 โดยทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท พร้อมโอกาสในการเข้าร่วมสังเกตการณ์การแข่งขัน Urban Challenge ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รายละเอียดสามารถดูได้ที่ www.ise.ait.ac.th/TIVChallenge/index.htm

รองศาสตราจารย์ ดร. ประภาส จงสถิตวัฒนา นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานคือ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและยานยนต์ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เตรียมความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยในการทำโครงการรถอัจฉริยะและท้ายที่สุดคือ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์การพัฒนารถอัจฉริยะระดับนานาชาติ

ดร. พรชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายปฎิบัติการ ภาคพื้นเอเชีย บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่า บริษัทฯ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดโอกาสให้กับภาคเอกชนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนไทย โดยเป็นผู้สนับสนุนหลัก การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความมุ่งมั่นของซีเกทในการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน ทางซีเกทหวังว่า เวทีนี้จะสร้างคนเก่งให้แก่วงการอุตสาหกรรมไทยต่อไป 

รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า เอไอทีขอขอบคุณทางสมาคมฯ และซีเกท ที่มอบความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถอัจฉริยะไร้คนขับครั้งแรกของประเทศ

สิ่งแตกต่างของการแข่งขันนี้กับการแข่งขันหุ่นยนต์ทั่วไปคือ ความยากของการที่รถจะต้องวิ่งไปบนถนนจริง สิ่งแวดล้อมเปิด ซึ่งมีปัจจัยภายนอกมารบกวนตลอดเวลาแบบอัตโนมัติ ไม่ใช่เฉพาะบังคับรถให้วิ่งไปบนถนนเท่านั้น แต่ยังต้องหลบหลีกสิ่งกีดขวางที่อาจจะพบเจอ รวมทั้งต้องสามารถปฏิบัติตามกฎจราจรที่กำหนดไว้ให้ได้ 

การแข่งขันหุ่นยนต์ทั่วไป ใช้เซนเซอร์ตรวจจับเส้นบนพื้นสนามแล้วโปรแกรมหุ่นยนต์ให้วิ่งตามเส้นก็อาจจะเพียงพอ แต่การแข่งขันรถอัจฉริยะนั้น จำเป็นต้องติดตั้งกล้องแล้วตรวจดูว่าตรงไหนเป็นถนน ตรงไหนไม่ใช่ถนน เพียงเท่านี้ก็เป็นปัญหาที่ยากมาก หากต้องการให้รถวิ่งได้เร็วขึ้นจำเป็นต้องมีเซนเซอร์ที่สามารถวัดระยะถึงสิ่งกีดขวางได้อย่างรวดเร็ว เซนเซอร์เหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูง ก็อยากขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษาและเงินทุนในการสร้างรถอัจฉริยะให้แก่ทีมต่าง ๆ ด้วย

ติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย โทร.0-2218-6956 หรือ  www.trs.or.th