เนื้อหาวันที่ : 2006-11-29 10:52:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1401 views

สามารถคอมเทค ปลื้มในความสำเร็จวางระบบไอทีสุวรรณภูมิ

บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด (มหาชน) มั่นใจระบบไอทีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไร้ปัญหา เชื่อมโยง 45 ระบบครบถ้วน เล็งโปรเจกส่วนขยายเฟส 2 รองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต คาดปี 2569 มีผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 120 ล้านคน เตรียมบุกธุรกิจติดตั้งระบบไอทีสนามบินในภูมิภาคเอเชียและอินโดจีน

.

บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด (มหาชน) มั่นใจระบบไอทีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไร้ปัญหา เชื่อมโยง 45 ระบบครบถ้วน เล็งโปรเจกส่วนขยายเฟส 2 รองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต คาดปี 2569 มีผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 120 ล้านคน พร้อมนำประสบการณ์จากสุวรรณภูมิบุกธุรกิจติดตั้งระบบไอทีสนามบินในภูมิภาคเอเชียและอินโดจีน

.

นายไพโรจน์ วโรภาษ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สามารถคอมเทค หนึ่งในสายธุรกิจ ICT Solutions  ของกลุ่มบริษัทสามารถ ซึ่งโชว์ฝีมือคนไทยจับมือยักษ์พันธมิตรข้ามชาติ คว้าโครงการ AIMS (Airport Information Management System) วางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ในนาม Airport System Integration Specialist Consortium อันประกอบด้วย สามารถคอมเทค Siemens   Satyam Computer Srvices  ABB และ ABB Airport Technologies โดยใช้เวลาในการดำเนินการไม่ถึง 3 ปี นับจากวันเซ็นสัญญาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 ติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารในสนามบินสุวรรณภูมิทั้งการวางระบบ การควบคุม การตัดสินใจ การจัดสรรทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการเชื่อมโยงระบบย่อยรวม 45 ระบบให้เกิดการบูรณาการ (Integration) ได้อย่างสมบูรณ์

.

แม้ว่าจะประสบปัญหาด้านเทคนิคบ้างในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ เช่น ระบบเช็คอิน ซึ่งผู้ชำนาญจากสามารถคอมเทคก็ได้เข้าแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว จนระบบสามารถใช้งานได้อย่างปกติ ณ ปัจจุบันระบบไอทีต่าง ๆ  ที่สามารถคอมเทคติดตั้ง สามารถให้บริการได้ทุกระบบอย่างสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตามทีมผู้เชี่ยวชาญของสามารถคอมเทคและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็ยังมีการประชุมกันทุกวันเพื่อประเมินปัญหาพร้อมระดมหาวิธีแก้ไขปัญหากันอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่เปิดให้บริการ เพื่อให้บริการที่สมบูรณ์ที่สุด นายไพโรจน์กล่าว

.

.

ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถคอมเทคดูแลวางระบบให้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครอบคลุม 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติการสนามบินหรือ AODB (Airport Operation Database) ที่เชื่อมโยงไปยังระบบย่อยต่าง ๆ ในสนามบิน ซึ่งถือเป็นงาน Front Office ทั้งหมด กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มระบบฐานข้อมูลบริหารสนามบิน หรือ AMDB (Airport Management Database) เป็นงานระบบหลังบ้าน (Back Office) ทั้งในส่วนงานบัญชีการเงิน งานธุรการ บุคคล การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มระบบเช็คอินหรือ CUTE ซึ่งต้องสามารถรองรับการออกบัตรโดยสาร และบัตรติดกระเป๋าของสายการบินที่มีการบินเข้า-ออกจากการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้

.

นอกจากนี้ยังมีระบบ LDCS เป็น Departure Control ให้สามารถเช็คผู้โดยสารแต่ละไฟล์ตว่ามีใครบ้าง รวมถึงระบบ PBRS ที่ช่วยยืนยันตรวจสอบกระเป๋าของผู้โดยสาย เช่น ถ้าผู้โดยสารไม่ขึ้นเครื่องก็สามารถนำกระเป๋าออกได้ และระบบบริหารข้อมูลการบิน FIMS (Flight Information Management System) ซึ่งเป็นระบบย่อยของระบบหลัก AODB ทำหน้าที่จัดการข้อมูลทั่วไปทั้งขาเข้าและขาออกจากสนามบิน โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลองค์กรสากลในสนามบินอื่น ๆ โดยระบบเหล่านี้จะมีตัวเชื่อมต่อเชื่อมโยงระบบเข้าหากันทั้งหมดภายใต้ระบบ EAI (Enterprise Application Integration) และสามารถคอมเทคยังดูแลระบบเน็ตเวิร์กซึ่งกระจายไปทั่วสนามบิน เพื่อเชื่อมโยงระบบที่มีทั้ง 40 ตึกเข้าหากัน รวมถึงการเชื่อมโยงกับอาคารผู้โดยสารด้วย ก่อนเชื่อมทั้งหมดเข้าไปที่ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นห้องคอมพิวเตอร์สำหรับการควบคุม Data Center และ Network Management Center

.

.

ห้องควบคุมหลัก 3 ห้องในอาคารสารสนเทศ จะประกอบด้วย AOC (Airport Operation Center) หรือศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการสนามบินที่จะคอยตรวจสอบควบคุมอุปกรณ์ทุกส่วนทุกระบบของสนามบินตลอด 24 ชั่วโมงครอบคลุมถึงการปฏิบัติการด้านภาคพื้นดิน ภาคพื้นอากาศ รวมทั้งอาคารผู้โดยสารตลอดจนระบบความปลอดภัยในสนามบิน หรือ SCC (Security Control Center) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในห้องควบคุมรักษาความปลอดภัยโดยการเชื่อมโยงระบบ CCTV ในสนามบินเข้าด้วยกัน และ CCC (Crisis Control Center) เป็นระบบที่ใช้ในห้องควบคุมพร้อมบัญชาการของผู้บริหารเพื่อใช้ตัดสินใจโดยมีระบบสื่อสารสั่งการไปยังทุกส่วนได้ นอกจากระบบหลัก ยังมีระบบที่ทำงานสำรองที่สามารถคอมเทคได้ออกแบบเชื่อมโยงแบบวงแหวน เพื่อเป็นระบบทำงานสำรองเมื่อมีระบบใดระบบหนึ่งไม่ทำงานอีกด้วย

.

หลังจากวางระบบทุกระบบเสร็จสิ้น สามารถคอมเทคยังมีสัญญาต่อกับ ทอท. อีก 2 ปี ในการรับประกันระบบและสัญญาอีก 1 ปี ในส่วนของการสนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งนับตั้งแต่วางระบบจนถึงวันนี้เราก็ได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของ ทอท. ในการใช้แอพพลิเคชันทุกอย่างจนมีความชำนาญ ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงมั่นใจได้ว่าระบบงานต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิให้สามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น นายไพโรจน์กล่าวเพิ่มเติม

.

ในเรื่องโครงการต่อไปในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายไพโรจน์ เปิดเผยว่า นอกจากโปรเจกวางระบบไอทีในเฟสแรก สามารถคอมเทคยังมีความสนใจที่จะเข้าประมูลโครงการขยายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งสามารถขยายต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องสร้างใหม่และใช้งบลงทุนไม่มาก เนื่องจากระบบที่วางไว้เป็นโครงสร้างที่พร้อมรองรับการขยายบริการในอนาคต ซึ่งในเฟสแรกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน และจะมีการขยายไปเรื่อง ๆ อีกหลายเฟส จนสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 120 ล้านคน ภายในปี 2569 นอกเหนือจากโครงการขยายต่อเนื่องของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 สามารถคอมเทคยังมีแผนที่จะรุกธุรกิจติดตั้งระบบสารสนเทศในสนามบินในประเทศอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย

.

.

ตามที่สามารถคอมเทคได้รับประสบการณ์จากโครงการขนาดใหญ่อย่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีความยากและซับซ้อน และการนี้ยังได้รับเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายหลัก (Strategic Reseller) ในการขายและให้บริการไอทีโซลูชัน เพื่อบุกตลาดสนามบินในประเทศไทยและในภูมิภาคอินโดจีนจาก SItA Information Network Computing (SITA INC) ผู้นำตลาดในด้านการให้บริการไอทีแอพพลิเคชันแก่สนามบินชั้นนำทั่วโลก ทำให้สามารถคอมเทคได้เรียนรู้ระบบการทำงานกับพันธมิตรระดับโลก รวมถึงได้รับการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีความพร้อมที่จะให้บริการในการวางระบบโปรเจกใหญ่ ๆ ต่อไปได้อีก

.

เราเห็นโอกาสและความเป็นได้ในอนาคต เพราะธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเติบโตขึ้น มีผู้โดยสารมากขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สนามบินทุกประเทศจะมีการขยายตัว ซึ่งทุกสนามบินจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเรื่องการบริการเพื่อรองรับผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและงบประมาณของแต่ละประเทศในขั้นแรกกลุ่มสามารถวางแผนที่จะขยายไปที่ระบบเช็คอินเป็นหลักก่อน เนื่องจากเป็นระบบที่มีความชำนาญที่สุด ซึ่งแม้ว่าในก้าวแรกจะต้องมีการแข่งกับผู้ให้บริการรายใหญ่อื่น ๆ  ของโลกอีกหลายราย แต่เราก็มั่นใจว่าประสบการณ์ที่ได้จากโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและความชำนาญจากการร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกของเราจะทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่สนามบินต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับ นายไพโรจน์กล่าวทิ้งท้าย