เนื้อหาวันที่ : 2009-08-28 14:57:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1698 views

ไอซีที ระดมสมองวางกรอบ National Single Window และ e-Logistics

ก.ไอซีที เร่งระดมความคิดเห็นวางกรอบ ระบบ National Single Window และระบบ e-Logistics หนุนบริการสินค้านำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

.

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด "การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นในการวางกรอบความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ National Single Window และระบบ e-Logistics ครั้งที่ 2" ภายใต้โครงการบริหารจัดการและประสานงานการพัฒนาระบบ e-Logistics ของหน่วยงานภาครัฐ ว่า การสนับสนุนระบบ Logistics และ e-Commerce หรือ National Single Window ให้มีต้นทุนต่ำลงนั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาบริการสินค้านำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย 

.

"ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีต้นทุนของกิจกรรม Logistics อยู่ในระดับสูง คือ ราวร้อยละ 20 ของ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนต้นทุน Logistics ราวร้อยละ 10 ของ GDP นับว่าแตกต่างกันครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น หากมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มาใช้กับกิจกรรม Logistics ด้านต่างๆ ทั้ง ในส่วนของภาคราชการหรือภาคเอกชนอย่างเหมาะสมและขยายวงกว้างออกไปให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในกิจกรรมการขนส่ง การจัดซื้อจัดหา การบริหารคลังสินค้า ตลอดจนในการติดต่อสื่อสาร ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนในการขนส่ง การเดินทาง และการใช้พลังงานเป็นอย่างมาก" นายธานีรัตน์ กล่าว

.

กระทรวงไอซีทีจึงได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐพัฒนาระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ โดยสนับสนุนการพัฒนาจัดทำรายการข้อมูลมาตรฐาน (Data Harmonization) การพัฒนาระบบเชื่อมต่อของหน่วยงาน และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ (Back Office) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการและเอกสารนำเข้าและส่งออกสินค้า

.

ซึ่งการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น จำเป็นต้องมีการร่างวิสัยทัศน์การพัฒนาระบบ National Single Window และระบบ e-logistics สำหรับประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นในการวางกรอบความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องฯ และรวบรวมข้อเสนอแนะด้านการวางนโยบาย รวมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อนำมาหารือแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาระบบร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดแนวทาง การดำเนินงานที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

.

"การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 2 นี้ กระทรวงไอซีที ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร รวมทั้งหน่วยงานที่ได้รับเงินสนับสนุนโครงการฯ จากกระทรวงฯ ทั้ง 12 หน่วยงาน ตัวแทนภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 55 คน เข้าร่วมการประชุมฯ ระดมสมองเสนอความคิดเห็น และทบทวนประเด็นทิศทาง กลยุทธ์การพัฒนาระบบฯ

.

เพื่อร่วมกันร่างวิสัยทัศน์การพัฒนาระบบ e-Logistics ของประเทศไทยที่มาจากมุมมองของทุกหน่วยงานตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะด้านการวางนโยบายและแผนภาพรวมในการเชื่อมโยงระบบ National Single Window ที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับเชื่อมโยงกับต่างประเทศต่อไปในอนาคต" นายธานีรัตน์ กล่าว

.