เนื้อหาวันที่ : 2006-03-14 16:41:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3070 views

สวทช. ร่วมยินดีกับ 28 บริษัทหลังผ่านเกณฑ์ GMP

28 บริษัท ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP จาก อย. ยกระดับผู้ประกอบการไทย ด้วยหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต

 

สวทช. จัดพิธีมอบโล่ห์แสดงความยินดีแก่ผู้ผลิตของไทย ทางด้านเครื่องสำอาง , ยา และวัตถุอันตราย จำนวน  28 บริษัท หลังได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP จาก อย.  พร้อมจัดสัมมนา เคล็ดลับสู่ความสำเร็จในการพัฒนาระบบGMP” เพื่อมุ่งเสริมสร้างผู้ประกอบการไทยยกระดับการผลิตให้คุณภาพ ด้วยหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต   ระบุยังพบว่าผู้ผลิตวัตถุอันตรายที่ผ่านการรับรองจาก อย. ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ กับITAP ถึงร้อยละ 42

จากการที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ทำให้อุตสาหกรรมของไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากระเบียบการค้าโลกมีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจถูกยกเป็นข้อกล่าวอ้างในการกีดกันทางการค้าได้ ประเทศไทยจึงมีการกำหนดมาตรฐาน GMP ( Good Manufacturing  Practice ) หรือ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต  มาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อป้องกันมิให้อาหารที่ผลิตนั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในประเทศ และเพื่อให้สินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ

 

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)  ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย และความปลอดภัยของผู้บริโภค  ได้แก่ ยา เครื่องสำอาง  อาหาร  อุปกรณ์ทางการแพทย์  และวัตถุอันตราย  โดยได้มีการดำเนินการสนับสนุนโครงการ GMP มาอย่างต่อเนื่อง  ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ....ในการพัฒนาระบบGMP ” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการ , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  และ ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมมอบโล่ห์แสดงความยินดีแก่บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 21 บริษัท ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม 2549  ที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานฯ จำนวนกว่า 120 คน

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)   กล่าวว่า  โครงการพัฒนาระบบ GMP มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น  ด้วยอุตสาหกรรมจะมีสุขลักษณะที่ดีในการผลิต  เนื่องจากเป็นการวางระบบการจัดการด้านการผลิตและการประกันคุณภาพที่ดีที่มีมาตรฐานระดับสากล  รวมทั้งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น  ทั้งนี้ในปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้กำหนดให้ระบบ GMP เป็นข้อบังคับในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมอาหาร  ส่วนอุตสาหกรรมประเภทอื่นนั้นถึงแม้จะยังไม่ได้ใช้บังคับในปัจจุบัน แต่คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และถึงแม้ GMP จะยังไม่ได้บังคับใช้ในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม แต่ก็มีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากที่ได้เริ่มพัฒนาระบบ GMP แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย   เนื่องจากเป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก  และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ  การเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

ศ.ดร.ชัชนาถ  กล่าวอีกว่า โครงการ ITAP ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบ GMP ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย  จึงได้ดำเนินการสนับสนุนโครงการ GMP มาอย่างต่อเนื่อง  และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็อยู่เกณฑ์ที่น่าพอใจ  มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก  ล่าสุด  มีบริษัทที่ร่วมโครงการกับ ITAP สามารถผ่านการรับรอง GMP จาก อย. แล้วถึง 28 บริษัท โดยในโอกาสนี้ จึงขอแสดงความยินดีกับทุกบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP โดยเฉพาะกับ 21 บริษัทที่ได้รับมอบโล่แสดงความยินดีครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมระบบ GMP ในปี 2549 นี้ จะประสบความสำเร็จและได้รับการรับรอง GMP ตามที่คาดหวังไว้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์ TMC  กล่าวว่า โครงการITAP ได้เริ่มโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบ GMP มาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีผู้เชี่ยวชาญภาครัฐทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศเข้าให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่กลุ่มผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจร  โดยมีบริษัทเข้าร่วมโครงการ GMP ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 140 บริษัท  โดยมีการจัดฝึกอบรมไปแล้ว 70 บริษัท  และมีบริษัทที่ได้รับการรับรอง GMP เรียบร้อยแล้ว 28 บริษัท

สำหรับบริษัทที่ได้รับมอบโล่แสดงความยินดีครั้งนี้ มีจำนวน 21 บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมยา 2 บริษัท , อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 10 บริษัท , อุตสาหกรรมวัตถุอันตราย 8 บริษัท  และอุตสาหกรรมอาหาร 1 บริษัท  อาทิ   บจก.ห้าตะขาบ (ซิมเทียมฮ้อ) , บจก.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร.สาโรช , บจก.อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) , บมจ.เชอร์วู้ด เคมิคอล , บมจ.ล็อกซเลย์ ,  บจก.ไวท์เฮ้าท์ คลีนนิ่ง โปรดักส์ , บมจ.แจ๊กเจียอุตสาหกรรม(ไทย) , บจก. ไบรด์บิวตี้แคร์คอสเมติก  , บจก.ไบโอ แมนูแฟคเจอริ่ง  และ  บจก. ไบรด์บิวตี้แคร์คอสเมติก  เป็นต้น

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนบริษัทที่ได้รับการรับรอง GMP ด้านวัตถุอันตรายทั้งหมดจาก อย.นั้น เป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการกับ ITAP คิดเป็นสัดส่วนถึง 42% เมื่อเทียบกับบริษัททั้งหมดที่ได้รับการรับรอง

ด้าน ดร.ประสาน ธรรมอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเภสัชวิทยา คระเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวฝากในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง GMP แล้ว  จะต้องรักษามาตรฐานดังกล่าวไว้ให้เป็นนิสัย  พร้อมแนะให้ผู้ประกอบการพัฒนาห้องแล็ป เพื่อการทำ QC   เพราะถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบคุณภาพ