เนื้อหาวันที่ : 2009-08-20 10:31:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2042 views

บัวสมหมายกลืนน้ำลายตัวเอง กลับคำไม่ย้ายที่สร้างโรงไฟฟ้า

บ.บัวสมหมายกลับคำไม่ย้ายที่สร้างโรงไฟฟ้า ลุยยื่นเรื่องขอสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลต่อ ชาวอุบลฯ ผิดหวัง ไม่เชื่อมั่นบริษัท ชี้แค่ 14 วัน ก็กลืนน้ำลายตัวเอง ย้ำหวั่นหลักประกันความปลอดภัยหากมีโรงไฟฟ้าในชุมชน

.

ชาวอุบลฯ ออกอาการผิดหวัง หลังเจ้าของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด กลับคำประกาศยืนยันเดินหน้ายื่นเรื่องขอสร้างโรงไฟฟ้าพลังแกลบที่บ้านคำสร้างไชยต่อไป ชี้ไม่เชื่อมั่นบริษัท แค่ 14 วัน ก็กลืนน้ำลายตัวเอง  ย้ำหวั่นไม่มีหลักประกันความปลอดภัยหากมีโรงไฟฟ้าในชุมชน

.

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ณ ห้องประชุมวัฒนธรรม จ.อุบลราชธานี ได้มีการประชุมของคณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) ขนาด 9.9 เมกกะวัตต์ ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ณ บ้านคำสร้างไชย หมู่ 17 ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี

.

ที่ประชุมมีมติให้กระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการและให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจการอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นทุกกระบวนการในราวเดือนธันวาคม 2552 โดยมีนักวิชาการเป็นตัวกลางในการดำเนินการทุกขั้นตอน

.

นายกรณ์ มาตย์นอก ป้องกันจังหวัด ประธานในที่ประชุม แทน นายชาตรี ดิเรกศรี รองผู้ว่าราชการอุบลราชธานี ที่ติดภารกิจ ได้กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีบทเรียนการพัฒนาที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมและไม่มีความต้องการทำให้รัฐต้องแก้ปัญหาไม่สิ้นสุดเช่นกรณีเขื่อนปากมูล ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าแกลบครั้งนี้ ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเห็นด้วยจะมีการเปิดเผยข้อมูลและการศึกษาผลกระทบให้รอบด้านเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจอนุญาตการสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป

.

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่าในการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลมีความจำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้และการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างมีส่วนร่วม เพราะ มีกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สร้างปัญหากับชุมชนมาแล้ว อายุโครงการโรงไฟฟ้ายาวนาน เดินเครื่องต่อเนื่อง 25 ปี และชุมชนยังไม่รับทราบข้อมูลที่สำคัญของโครงการ

.

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้น กระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดของชาวบ้านฯ ต้องเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

.

โดยผ่านขั้นตอนคือ มีการเปิดเผยข้อมูลต่อราชการและชุมชนโดยบริษัทบัวสมหมาย มีเวทีสาธารณะที่เป็นการกำหนดขอบเขตและประเด็นอย่างมีส่วนร่วม มีการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ทางเลือกต่างๆ และจัดทำรายงาน แล้วจัดเวทีสาธารณะอีกครั้งเพื่อเป็นการตรวจสอบผลการศึกษาและร่างรายงานอย่างมีส่วนร่วม จากนั้นนำเสนอผลการศึกษาเพื่อการตัดสินใจการจะสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้า

.

นายสมหมาย สมทรัพย์ ประธานบริษัทบัวสมหมายฯ กล่าวว่า ทางบริษัทจะเดินหน้าขอยื่นเรื่องขอสร้างโรงไฟฟ้าที่บ้านคำสร้างต่อไป และทางบริษัทไม่มีเจตนาเลี่ยงกฎหมายการทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับซื้อไฟฟ้าแค่ 8 เมกะวัตต์ เท่านั้น หากที่ประชุมมีมติให้มีการศึกษาผลกระทบ ทางบริษัทก็พร้อมเปิดเผยข้อมูล 1000 เปอร์เซ็นต์ และทางบริษัทไม่รีบร้อนอะไรสามารถรอคอยได้ แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้ทำการประชาพิจารณ์เลยจะได้รู้ว่าตนจะสร้างโรงไฟฟ้าได้หรือไม่ ให้ชาวบ้านบอกมาเลยว่าต้องการสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ต้องการ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้องการตนก็จะย้ายไปสร้างที่อื่น

.

นายบุญชู สายธนู ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจต่อการทำธุรกิจของบริษัทบัวสมหมายเลย เพราะเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายสมหมายได้ลงมาพบชาวบ้านด้วยตนเองที่หมู่บ้านและบอกว่าจะย้ายโรงไฟฟ้าไปสร้างที่อื่นถ้าชาวบ้านไม่ต้องการและชาวบ้านก็ยืนยันไม่ต้องการแม้จะมีข้อเสนอต่างๆ จากโรงไฟฟ้าฯ  เวลาผ่านมาไปเพียงแค่ 14 วัน นายสมหมายก็เปลี่ยนใจยืนยันจะขอสร้างต่อ

.

อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยืนยันเช่นกันว่าจะไม่ยอมให้โรงไฟฟ้าแกลบมาสร้างในหมู่บ้านแน่นอนเพราะที่ตั้งของโรงไฟฟ้าไม่มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในชุมชนและถนนในหมู่บ้านก็เป็นแค่ซอยเล็กๆ การที่บัวสมหมายมากลับคำพูดเช่นนี้ หาหลักประกันอะไรไม่ได้เลยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน

.

หลังสิ้นสุดการประชุมชาวบ้านจากตำบลท่าช้างและตำบลบุ่งมะแลงจำนวน 50 กว่าคนที่ได้เข้าร่วมฟังการประชุมและเตรียมช่อดอกไม้มามอบให้บัวสมหมายเพราะคิดว่า ทางบริษัทจะมาประกาศยุติการขอสร้างโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เมื่อบัวสมหมายประกาศเดินหน้าขอสร้างต่อไป ชาวบ้านได้โยนช่อดอกกุหลาบสีแดง ลงกองขยะข้างถนน ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท