เนื้อหาวันที่ : 2009-08-17 18:20:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1407 views

iTAPนำเอสเอ็มอีไทย บินลัดฟ้าศึกษางานยุโรป หวังนำความรู้-เทคโนโลยี ต่อยอดอุตฯ ไม้

iTAP ส่งผู้เชี่ยวชาญพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนไทยบินลัดฟ้าดูงานที่ประเทศเยอรมนี-สวิสเซอร์แลนด์ หวังเสาะหาเทคโนโลยีทันสมัยและเทคนิคการผลิตนำกลับมาอัพเกรดมาตรฐานโรงงานและผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน

.

โครงการ iTAP ส่งผู้เชี่ยวชาญพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนไทยบินลัดฟ้าดูงานที่ประเทศเยอรมนี-สวิสเซอร์แลนด์ หวังเสาะหาเทคโนโลยีทันสมัยและเทคนิคการผลิตนำกลับมาอัพเกรดมาตรฐานโรงงานและผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ด้านเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี รับโรงงานไม้ไทยไม่โตเพราะบุคลากรยังขาดความรู้และทักษะการใช้เครื่องจักร

.

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เสมอ จนดูเหมือนว่าในปัจจุบันกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านเรือน ที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งในระดับชุมชนไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการขยายธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยวิวัฒนาการอันล้ำสมัยของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้น 

.

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัดโครงการเสาะหาเทคโนโลยี ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหพันธ์สวิสเซอร์แลนด์ โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย จำนวน 21 คนจากภาคเอกชน รวมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานยังประเทศ เมื่อประมาณเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบุคลากร พัฒนากระบวนการผลิตให้สามารถเพิ่มช่องทางการแข่งขันในตลาดโลกได้ 

.

ในการเดินทางครั้งนี้ iTAP ได้นำนักวิชาการจากภาครัฐร่วมเดินทางไปด้วย โดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและด้านการออกแบบ นายยุทธการ อาจารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) 

.

ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ iTAP เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ การจัดกิจกรรมเสาะหาเทคโนโลยีในต่างประเทศก็เพื่อนำกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนไทย และในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเดินทางไปดูงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จึงมีเป้าหมายเพื่อนำประสบการณ์ที่ได้มาถ่ายทอดและชี้แนะให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบถึงวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี                            

.

รวมถึงการนำเทคนิคการทำงานของต่างประเทศมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและการผลิต เพื่อให้กิจกรรมทางธุรกิจของไทยเกิดความเข้มแข็งจนสามารถออกไปสู้กับธุรกิจต่างชาติได้ ซึ่งตรงตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ไทยเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะในยุคโลกาภิวัตน์คือการแข่งขัน หากปราศจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนไทยก็จะอ่อนแอ 

.

นายยุทธการ เปิดเผยอีกว่า จุดอ่อนของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัยหลักคือ 1.ความอ่อนแอด้านความรู้และด้านเทคโนโลยีที่จะพัฒนาการผลิตให้ได้คุณภาพ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการผลิต 2.ความอ่อนแอด้านทุนทรัพย์ หรือการขาดผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งปัจจุบันเรามี โครงการ iTAP เข้ามาช่วยเหลือผลักดันทั้งทางด้านผู้เชี่ยวชาญและทางด้านงบประมาณ

.

จากการช่วยเหลือดังกล่าวถือว่าเป็นการ "เกาถูกที่คัน" เพราะโดยการทำงานแล้วคนไทยเก่งด้านการผลิต เก่งด้านช่างฝีมือ แต่ยังขาดความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมาเรารับจ้างผลิตมาตลอดต่างจากต่างชาติที่มองว่าการออกแบบ คือหัวใจหลักของการผลิต เนื่องจากสินค้าจะขายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการออกแบบ" นายยุทธการ กล่าว

.

ผู้เชี่ยวชาญจาก มจพ. กล่าวอีกว่า วงการดีไซน์อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนไทย เพิ่งตื่นตัวด้านการออกแบบ ภายหลังจากต่างประเทศได้ให้ความเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรเพื่อต่อต้านสินค้าลอกเลียนแบบ เนื่องจากมีการตรวจพบว่านายทุนจากต่างประเทศทำการลอกเลียนแบบเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังแล้วมาว่าจ้างให้โรงงานในประเทศไทย หรือแม้แต่จีน และเวียดนามผลิตส่งขายตลาดโลก     

.

ซึ่งเป็นการตีตลาดเฟอร์นิเจอร์ทำให้ระบบได้รับความเสียหาย ในส่วนนี้เองทำให้ผู้ประกอบการไทยซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้นเกิดการปรับตัวหันมาให้ความสำคัญด้านการออกแบบ โดยมีดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่พยายามรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกมา

.

"ดีไซน์เนอร์ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานก่อนการออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการผลิต เพราะรากเง้าของการออกแบบกับการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์กัน ไม่ใช่คิดเรื่องการผลิตแล้วค่อยมาออกแบบที่หลัง แต่หลักการทำงานจริงๆ แล้วจะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่ นี้คือจุดบอดของดีไซน์เนอร์ในเมืองไทยในปัจจุบัน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ดีไซน์เนอร์ต้องปรับปรุงระบบการทำการงานให้เหมาะสมกับเครื่องจักรและวัตถุดิบที่มีอยู่" นายยุทธการ กล่าว

.

อาจารย์จามร วสุรัตน์มณี จากภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของ iTAP อีกท่านหนึ่ง กล่าวเสริมว่า การไปดูงานครั้งนี้ทำให้เห็นวิธีการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างคนไทยกับคนเยอรมนี แม้ในเรื่องของฝีมือคนไทยนั้นถือว่าไม่น้อยหน้าใคร แต่ในเรื่องของระเบียบวินัย ความตั้งใจในการทำงานและความตรงต่อเวลาแล้ว ต้องยอมรับว่าของเรายังน้อยกว่า และวิธีการทำงานของเขายังมีความแม่นยำมากกว่า นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าทันสมัย 

.

"การไปเสาะหาเทคโนโลยีฯ ครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์มาก ทั้งด้านเทคนิคการทำงาน และเครี่องจักรเทคโนโลยีของเยอรมนี ซึ่งสามารถนำความรู้และเทคนิคที่ได้กลับมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในโรงงาน อาทิ ระบบการใช้จิ๊ก และฟิกซ์เจอร์ หรือ ระบบการใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยการใช้เครื่องมือพื้นฐานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ระบบจิ๊กและฟิกซ์เจอร์ช่วยจับชิ้นงานแทนการใช้มือหยิบ จะทำให้การเจาะหรือการผลิตชิ้นงานนั้นๆ มีความแม่นยำมากขึ้น เป็นต้น" 

.

นายพิชิต เจียมเจริญ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด พาเลทเมกเกอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า การเดินทางไปดูงานยังต่างประเทศถือเป็นกิจกรรมที่ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะสามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างการทำงานของคนไทยและต่างชาติได้อย่างชัดเจน สามารถแยกออกเป็น 3 หัวข้อหลัก 

.

ดังนี้ 1.ด้านการตลาด บริษัทหรือโรงงานต่างประเทศจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตและการส่งจำหน่าย อีกทั้งในประเทศกลุ่มที่มีการพัฒนาแล้วจะมีต้นแบบหรือโมเดลที่ไม่หลากหลายและได้มาตรฐาน 2.ด้านบุคลากรหรือพนักงาน ประสิทธิภาพการทำงานของคนไทยยังไม่ได้มาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ดูได้จากโรงงานของไทยต้องใช้คนทำงานมากกว่า 40 - 50 คน จึงจะผลิตพาเลทได้วันละ 700 - 800 ตัว ขณะที่ต่างประเทศ ใช้พนักงานเพียง 2 คนก็สามารถผลิตพาเลทได้ในปริมาณที่เท่ากัน 

.

"นอกจากนี้บุคลากรของเขายังมีความรู้ มีทักษะการใช้เครื่องจักรอย่างดี เมื่อเกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติงานก็จะสามารถซ่อมบำรุงเครื่องจักรเองได้ ประกอบการพนักงานที่เข้ามาดูแลเรื่องเครื่องจักรจะต้องมีใบประกาศรับรองวิชาชีพ ในขณะที่บุคลากรของไทยมีปัญหาด้านการขาดความรู้ ความสามารถในการใช้เครื่องจักร ส่วนใหญ่จะไม่ได้ศึกษาด้านวิศวกรรมไม้โดยตรง เมื่อเครื่องจักรมีปัญหาติดขัดระหว่างการทำงานจึงไม่สามารถซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาเบื้องต้นได้ ทำให้งานที่ผลิตต้องหยุดชะงักส่งผลเสียต่อการผลิตหลายด้าน"

.

3.ด้านเครื่องจักรทันสมัย ประเทศเยอรมนีได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี จากการเยี่ยมชมโรงงานพบว่า เครื่องมือบางชิ้นไม่ได้แตกต่างจากโรงงานในประเทศไทย แต่ความแตกต่างคือ การผลิตชิ้นงานของต่างประเทศมีคุณภาพมากกว่าโรงงานของไทย อีกทั้งเกิดการสูญเสียระหว่างปฏิบัติงานน้อยกว่าหรือเกือบไม่มีเลย เมื่อนำมาตกผลึกแล้วทำให้ทราบว่าการขับเคลื่อนที่ดีต้องขึ้นอยู่กับทักษะ ความรู้ความสามารถและการเอาใจใส่ของบุคคลากรเป็นหลัก

.

"กิจกรรมการเสาะหาเทคโนโลยีของ สวทช.ที่จัดขึ้นโดยโครงการ iTAP จึงเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ที่ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ที่ได้กลับมาวิเคราะห์ประยุกต์ใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้องานการผลิต โดยเฉพาะการช่วยลดต้นทุนและเพื่อให้สินค้าได้มาตรฐาน ทางบริษัทฯ จึงต้องปรับปรุงระบบการทำงานโดยการนำจิ๊กและฟิกเจอร์มาใช้จับยึดต้นแบบการผลิตชิ้นงาน

.

ซึ่งพบว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนในประเทศเยอรมนีมีการใช้อย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากจะได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์แล้ว ยังช่วยเพิ่มการผลิต ลดเวลาการทำงาน ตลอดจนถึงการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงานได้ด้วย" นายพิชิต กล่าว

.
.