เนื้อหาวันที่ : 2009-08-16 07:36:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4363 views

เกาหลีใต้กับ Knowledge Based Economy

โดยทั่วไปประเทศที่มีระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงนั้นจะรวมตัวกันในนามของกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า OECD ซึ่งสมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นับเป็นองค์กรในระดับนานาชาติองค์หนึ่งที่มีบทบาทไม่แพ้องค์กรระดับโลก ประเทศแรกที่จะพาไปเกาะขอบริมหน้าต่างเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ OECD นั่นคือ "เกาหลีใต้"

ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ
เกาหลีใต้กับ Knowledge Based Economy

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

คอลัมน์ Macro Economic Outlook ฉบับนี้ ผู้เขียนเริ่มต้นซีรีส์ใหม่หลังจากที่ได้แนะนำศัพท์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว 6 ตอน สำหรับซีรีส์ใหม่นี้ผู้เขียนใช้ชื่อเรื่องว่า ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ ครับ

.

"ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ" เป็นซีรีส์ที่ผู้เขียนตั้งใจจะยกตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มีระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง ๆ เปรียบเสมือนเรานั่งมองภาพการพัฒนาเหล่านั้นอยู่ริมหน้าต่างของประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเราน่าจะมองเห็นปัจจัยอะไรบางอย่างที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้

.

โดยทั่วไปประเทศที่มีระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง ๆ นั้นเขารวมตัวกันในนามของกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า OECD หรือ Organization for Economic Co-operation and Development ครับ ซึ่งสมาชิกของกลุ่มประเทศ OECD ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ OECD นับเป็นองค์กรในระดับนานาชาติองค์หนึ่งที่มีบทบาทไม่แพ้องค์กรโลกบาลอย่าง World Bank, IMF หรือ WTO

.

สำหรับประเทศแรกที่ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านไปเกาะขอบริมหน้าต่างเศรษฐกิจดูด้วยกันก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ OECD นั่นคือ "เกาหลีใต้" ครับ

.
เกาหลีใต้: ดาวรุ่งแห่งศตวรรษที่ 21

จะว่าไปแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนกับการพัฒนาตัวเราเองนะครับ คนเราจะพัฒนาได้สิ่งสำคัญที่สุด คือ "ความขยันหมั่นเพียร" ซึ่งใครก็ตามที่มีคุณสมบัติของความขยันหมั่นเพียรอยู่ในตัวแล้วโอกาสที่จะประสบความสำเร็จย่อมมีมากกว่าคนที่มีความเกียจคร้าน

.

การพัฒนาเศรษฐกิจก็เหมือนกันครับ ประเทศใดหรือสังคมใดที่รู้จักทำมาหากิน ขยันทำงาน อดออม ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา รู้จักประดิษฐ์คิดค้นสินค้าและบริการแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อส่งขายตลาดโลกรวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาคนเก่ง ๆ ให้ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงาน ประเทศนั้นย่อมพัฒนาไปได้รวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี

.

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เยอรมนีและญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ ประเทศเหล่านี้เจริญเติบโตได้ด้วยความอุตสาหะของประชาชนในประเทศ ทุกคนมีจุดหมายร่วมกันนั่นคือนำพาประเทศให้ฟื้นจากการสูญเสียของสงครามให้เร็วที่สุด 

.

"เกาหลีใต้" ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เจริญเติบโตด้วยความอุตสาหะของประชาชนครับเพราะหลังจากแผ่นดินเกาหลีถูกแยกออกเป็นเหนือใต้ ชาวเกาหลีทุกคนรู้ดีว่าสิ่งที่จะทำให้พวกเขากลับมามีที่อยู่ที่ยืนได้บนเวทีโลก ไม่ใช่การประกาศอานุภาพทางการทหาร หากแต่เป็นการสำแดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจ

.

ด้วยเหตุนี้เองเกาหลีใต้จึงมีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนตั้งแต่สมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีปักจุงฮี (Park Chung Hee) และทุกวันนี้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจใหม่ของเอเชียโดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 15 ของโลกด้วยครับ จนการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “Miracle on the Han” รวมไปถึงเกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในสี่เสือเศรษฐกิจของเอเชียอีกด้วย

.

เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วเพียงไม่ถึงครึ่งศตวรรษ
 (ภาพจาก
www.wikipedia.org)

.

ท่านผู้อ่านเคยมีข้อสังเกตคล้าย ๆ กับผมหรือไม่ครับว่า ทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชียส่วนใหญ่มักมีภูมิประเทศอยู่บริเวณเอเชียตะวันออกและผู้คนของประเทศเหล่านั้นล้วนมีเชื้อสายมาจากประเทศจีนหรือเป็นชาวมองโกลลอยด์ ที่มีผิวเหลือง ผมดำ ตัวเล็ก ตาชั้นเดียว ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์

.

น่าสนใจนะครับว่าประเทศใดที่มีชาติพันธุ์ของชาวจีนไปผสมปะปนอยู่มาก โอกาสที่ประเทศเหล่านั้นจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนา   กลับมาที่เกาหลีใต้กันต่อครับ, กล่าวกันว่าการที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีปัจจัยสำคัญมาจากการใช้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศด้วยการสร้างเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้หรือ Knowledge Based Economy หรือ Knowledge Economy ครับ

.

การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในอดีตที่ผ่านมามีรูปแบบการพัฒนาคล้ายกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายนั่นคือขยับจากการเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาสินค้าเกษตรมาสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก

.

ในอดีตที่นั้นรัฐบาลเกาหลีใต้เล็งเห็นความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมจึงมีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ภายใต้การนำของกลุ่มแชโบล (Chaebol) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลปักจุงฮี

.

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เหล็ก หรือเคมี เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านี้ขายได้ทั่วโลก ซึ่งชื่อผลิตภัณฑ์อย่าง ซัมซุง (Samsung) ฮุนได (Hyundai) และแอลจี (LG) เป็นชื่อที่ผู้บริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าคุ้นเคยกันดี

.

ซัมซุงและแอลจี โกลบอลแบรนด์อันภาคภูมิใจของชาวเกาหลี
ภาพจาก
www.wikipedia.org

.
เกาลีใต้กับปัจจัยการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งความรู้ (Knowledge Based Economy)

คำว่า Knowledge Based Economy นั้นปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังสือเรื่อง The Age of Discontinuity; Guidelines to Our Changing Society (1969) ของปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) ยอดปรมาจารย์แห่งศาสตร์บริหารธุรกิจสมัยใหม่

.

ดรัคเกอร์ให้นิยาม Knowledge Based Economy ไว้ว่าเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้และการจัดการความรู้ที่เข้ามาช่วยสร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจครับ ซึ่งแนวคิดของดรัคเกอร์ในช่วงนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอย่างโรเบิร์ต โซโล (Robert Solow) ที่เชื่อว่าการที่ประเทศจะจำเริญเติบโตได้นั้นต้องมาจากการสร้างผลิตภาพหรือ Productivity ให้กับเศรษฐกิจผ่านสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี

.

ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker)
กูรูแห่งวงการบริหารธุรกิจสมัยใหม่

.

กุญแจสำคัญของ Knowledge Based Economy อยู่ที่การสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) โดยใช้การศึกษาและการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งดรัคเกอร์มองว่าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธุรกิจในโลกสมัยใหม่นั้นจะต้องสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัยตลอดเวลาจึงจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของธุรกิจนั้นได้เปรียบเสมือนเป็นสินทรัพย์ทางปัญญาอย่างหนึ่ง (Productive Asset)

.

ทั้งนี้พลังขับเคลื่อนที่ทำให้ Knowledge Based Economy ได้รับการพัฒนาคือพลังโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ทำให้ตลาดและสินค้าและบริการทั้งหลายมีการเคลื่อนย้ายกันได้ง่ายขึ้น พลังดังกล่าวถูกเสริมด้วยนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า (Free Trade) จึงสร้างปรากฏการณ์การแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ ผ่านการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

.

พลังขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Knowledge Based Economy เจริญเติบโตได้ ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญของพลังด้านไอทีประกอบไปด้วยการจัดการเรื่องข้อมูลข่าวสารและความรู้ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างสื่อทางเลือกใหม่ (New Media) ขึ้นมาโดยสื่อใหม่ ๆ เหล่านี้ได้รวบรวมสติปัญญา (Collective Intelligence) ของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาไว้ด้วยกันตามความสนใจของคนแต่ละกลุ่ม แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องใช้การเชื่อมโยงเครือข่ายของคอมพิวเตอร์หรือ Computer Networking ที่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

.

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ Knowledge Based Economy เต็มไปด้วยการพัฒนา แลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการถ่ายทอด การเรียนรู้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่หลากหลายจากต่างถิ่นต่างแดนซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้แต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญกับ Knowledge Based Economy เพิ่มมากขึ้น

.

ซึ่งสำหรับเกาหลีใต้แล้ว พวกเขาได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ Knowledge Based Economy ไว้นานแล้ว ทั้งนี้เกาหลีใต้มีอัตราการเข้าถึง Broadband Internet รายหัวสูงที่สุดในโลกและได้รับการจัดอันดับจาก Economist Intelligence Unit ให้เป็นประเทศที่ความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมสูงที่สุดหนึ่งในสามของโลก

.

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้วยว่าประชากรเกาหลีใต้มีอัตราผู้มีความรู้เชิงวิทยาศาสตร์หรือ Scientific Literacy สูงที่สุดในโลกขณะที่มีอัตราผู้มีความรู้เชิงคณิตศาสตร์ หรือ Mathematically Literacy สูงเป็นอันดับสองของโลก

.

ความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการเป็นต้นแบบของ Knowledge Based Economy นั้นส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางการพัฒนาของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถผลิตสินค้าและบริการส่งออกขายได้ทั่วโลกจนสินค้าหลายอย่างของเกาหลีใต้กลายเป็นโกลบอลแบรนด์ (Global Brand) ไปในที่สุด 

.

ปัจจุบันรัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาและวิจัย (R&D) ให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ ปี ๆ หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันเกาหลีใต้ยังมีสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายแห่ง เช่น The Korea Development Institute, The Korea Advanced Institute of Science, The Korea Atomic Energy Research Institute, Pohang Institute of Science and Technology และ The Research Institute of Industrial Science and Technology เป็นต้น

.

ตัวอย่างทั้งหมดที่ผู้เขียนยกขึ้นมานี้สะท้อนให้เห็นว่าการที่เกาหลีใต้ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจรายใหม่ทางเศรษฐกิจได้นั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือความบังเอิญแต่อย่างใดนะครับ หากมาจากการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจนและอดทนที่จะรอคอยเวลา… แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

เอกสารประกอบการเขียน

1. เอกสารและภาพประกอบจาก www.wikipedia.org
2. Drucker, P. (1969). The Age of Discontinuity; Guidelines to Our changing Society
.
.