เนื้อหาวันที่ : 2009-08-14 10:50:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3224 views

ดร.สำเริง ฮินท่าไม้ จากประสบการณ์ สู่แนวคิดด้านการอนุรักษ์พลังงาน

ปัจจุบัน ประเด็นทางด้านพลังงาน ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากพลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน การอนุรักษ์พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องพึงปฏิบัติ เพื่อชะลอวิกฤติทางด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ดร.สำเริง ฮินท่าไม้
ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

.

ปัจจุบัน ประเด็นทางด้านพลังงาน ได้ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากพลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน แหล่งกำเนิดพลังงานได้มาจากหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ ลม พลังงานหมุนเวียน หรือแม้แต่น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดพลังงานหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน แต่น้ำมันเชื้อเพลิงก็จะหมดไปในไม่ช้าอันเนื่องมาจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์พลังงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องพึงปฏิบัติ เพื่อชะลอวิกฤติทางด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

.

ดร.สำเริง ฮินท่าไม้

ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต

สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

.

วารสาร Industrial Technology Review ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สำเริง ฮินท่าไม้ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้คร่ำหวอดในวงการพลังงานมากว่า 10 ปี มาร่วมพูดคุยถึงพัฒนาการทางด้านพลังงาน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์พลังงานปัจจุบัน

.

ITR: ความสนใจทางด้านการอนุรักษ์พลังงานของอาจารย์มีที่มาอย่างไร

ดร.สำเริง: อย่างที่ทราบกันว่าทุกวันนี้ เรื่องของความต้องการพลังงานทั้งในประเทศหรือในระดับโลกก็ตามมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจปัจจุบันที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันเองที่เริ่มร่อยหรอลงไป เพราะฉะนั้นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงจูงใจ

.

และเราเองก็อยู่ในสาขาของทางด้านการศึกษา ซึ่งเป็นวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะตรงในส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงาน เพราะว่าพลังงานเองก็มีอยู่ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานจากเชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้งในตัวอาคาร หรือโรงงานที่เป็นภาคอุตสาหกรรมเองจะมีใช้อยู่แล้วเป็นพื้นฐานหลัก

.

เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นเหตุให้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งในส่วนของผมเองก็จะโฟกัสไปที่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งประเด็นหลักก็คือ ใช้อย่างไรให้เกิดการประหยัดพลังงาน ดังนั้นถ้าในโรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง ก็จะมีส่วนช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานขึ้น

.
ITR: อุปสรรคหรือปัญหาที่ทำให้การอนุรักษ์พลังงานในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ดร.สำเริง: ส่วนหนึ่งเกิดมาจากผู้ประกอบการเอง เพราะเท่าที่ผ่านมาทางรัฐบาลเองก็ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าปัจจัยมันเยอะ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยในการปรับปรุงพลังงาน แต่พอผู้เชี่ยวชาญออกมาทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม ตรงนี้ผมว่าอาจจะเกิดจากการสร้างจิตสำนึกให้กับบุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานนั้น ๆ ก็คืออาจจะไม่มีแรงจูงใจ ซึ่งตรงนี้มันก็เลยทำให้การอนุรักษ์พลังงานค่อนข้างจะล้มเหลวเหมือนกัน

.

ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของอาคารน้อมจิตต์ เขาจะใช้วิธีโดยการให้ผลตอบแทนกับเจ้าหน้าที่ พนักงาน แม่บ้าน ให้ทุกคนได้ช่วยกันประหยัดพลังงาน เพราะฉะนั้นเขาจะมีการจัดอบรมพนักงานเอง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทุก ๆ ส่วน ทุกคนก็จะได้มีความรู้ในเรื่องของการประหยัดพลังงาน พอทุกคนรับรู้ทุกคนก็สามารถที่จะทำได้แต่มันจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อตัวเขาเองได้ประโยชน์ด้วย เพราะในขณะที่ถ้าเขาทำแล้วเขาไม่ได้ประโยชน์ก็จะมีคำถามกลับมาว่าเขาจะทำไปทำไม

.

เพราะฉะนั้นตัวอย่างของอาคารนี้เท่าที่คุยกับเจ้าของอาคารเขาบอกว่าถ้าเขาประหยัดได้ 100 บาท เขาจะให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่อยู่ในอาคาร 30 บาท แล้วเขาจะเห็นได้ชัดเจนเวลาห้องหรือสถานที่ตรงไหนไม่มีคนใช้งานแม่บ้านก็จะช่วยกันปิด ทั้งน้ำ ไฟฟ้า ทุกคนก็จะช่วยกันดูแล เวลาพักเที่ยงก็จะปิดหมดเลย แอร์ทุกอย่างก็จะปิด ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประหยัดลงจริง ๆ

.

นี้คือสิ่งที่ผมว่าหลาย ๆ สถานประกอบการน่าจะต้องเอาไปทบทวนเพราะบางทีเราทำกันใหญ่เลย รัฐบาลเองก็ส่งเสริมทางด้านภาษี ลดภาษี ส่งเสริมการลงทุนอัดเข้าไป ช่วยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ถูก แต่สุดท้ายไปตายตรงที่แรงจูงใจของคนที่อยู่ในสถานประกอบการนั่นเอง จากเล็กไปหาใหญ่ก็ได้ น่าจะเห็นความแตกต่าง โดยเริ่มจากสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แต่มันเป็นอะไรที่สร้างได้แบบชัดเจน และยั่งยืนด้วย

.

ITR: หากเป็นผู้กำหนดนโยบายในระดับชาติได้ จะดำเนินการเรื่องการอนุรักษ์พลังงานไปในทิศทางใด 

ดร.สำเริง: ผมว่าทิศทางที่ทำกันอยู่ปัจจุบันก็ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งตามหลักแล้วมันคงไม่มีทิศทางใดที่ดีที่สุด หรือแย่ที่สุด แต่ว่าการสนับสนุนในแต่ละทิศทาง เมื่อมีการส่งเสริมหรือสนับสนุนแล้ว ต้องมองว่ามีการเข้าไปตรวจสอบทบทวนมาตรการนั้นกันมากน้อยแค่ไหน บางทีมาตรการที่มีอยู่มันดีอยู่แล้ว

.

คือทุกคนก็มีส่วนช่วยสร้างมาตรการกันขึ้นมาเพื่อให้เกิดผลตอบสนองต่อการประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจัง แต่ถ้าทำไม่ได้ เราก็ต้องกลับมาทบทวนกัน เพื่อทำการปรับปรุงหรือแก้ไข เพราะฉะนั้นในส่วนของผมเองอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าอยากให้เป็นไปในทิศทางไหน เพราะอย่างที่บอกว่าทางภาครัฐเองก็มีมาตรการที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่อยากให้มองเผื่อไปถึงการมีส่วนร่วมมากกว่า

.

คือทุกคนในองค์กรช่วยกันทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน ตั้งแต่ระดับบนไปจนถึงระดับล่าง ทุกคนในองค์กรได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการปฏิบัติเหล่านี้ โดยผู้ประกอบการเองอาจจะตอบแทนในรูปแบบของสินน้ำใจ โบนัส หรือผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดแรงจูงใจขึ้นในองค์กร ซึ่งพอปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องแล้วก็จะกลายเป็นความคุ้นเคย และจะติดเป็นนิสัยในที่สุด

.

ITR: จากนโยบายพลังงานที่รัฐบาลนำออกมาใช้ทั้งในรูปแบบของมาตรการหรือการรณรงค์ อาจารย์คิดว่าเพียงพอหรือไม่กับสถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.สำเริง: การรณรงค์ของทางภาครัฐตอนนี้เท่าที่ได้เห็น และได้รับฟัง ผมมองว่าคนแต่ละกลุ่มที่ได้รับข่าวสาร อาจจะมีความแตกต่างกัน คือคนที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือสัมผัสใกล้ชิดกับโครงการเหล่านี้ บางทีข่าวสารต่าง ๆ ก็ยังอาจจะยังไม่ชัดเจนเพราะฉะนั้นการรณรงค์ก็อาจจะต้องทำให้ทั่วถึง

.

แล้วอีกอย่างก็คือเรื่องของตัวโครงการ อาจจะต้องมีการขยายลงไปในระดับหน่วยที่เล็กลงไปเรื่อย ๆ เพราะหน่วยที่เล็กลงไปนี้จะมีปริมาณค่อนข้างเยอะ พอเยอะมันมีการใช้พลังงานค่อนข้างมากขึ้นเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้เราจะเริ่มจากหน่วยใหญ่ ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาคารควบคุมขนาดใหญ่ ซึ่งทำกันที 30-40 อาคาร

.

แต่ในกรุงเทพมีตั้งมากมายหลายหมื่นอาคาร หรือในนิคมอุตสาหกรรมก็มีตั้งหลายพันหลายหมื่นโรงงาน ดังนั้นความทั่วถึงจึงไม่มี เพราะฉะนั้นมันอาจจะต้องมีการทบทวนกันในเรื่องของการขยายผล ว่าจะต้องทำกันระดับไหน หรือจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการขยับลงไปสู่หน่วยเล็ก ๆ มากน้อยเท่าไหร่ ผมว่ามันควรจะมีมาตรการตรงนั้น

.

ITR: เคยมีคนพูดว่า การอนุรักษ์พลังงานต้องเริ่มที่บ้าน อาจารย์มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร และประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประชาชนในบ้านเรา มีมากน้อยแค่ไหน

ดร.สำเริง: การอนุรักษ์พลังงานต้องเริ่มต้นจากที่บ้านอันนี้ผมเห็นด้วยครับ เมื่อทุกคนในบ้านได้รับการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกแล้ว จากนั้นทุกคนก็จะนำไปใช้ในที่ทำงานของตัวเองหรือสถานที่ที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้อง จากจุดเล็ก ๆ ที่บ้านก็จะใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้นถ้ามีการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ หลาย ๆ จุดก็จะเกิดในวงกว้างขึ้น ส่วนประสิทธิภาพการใช้งานของประชาชนนั้น อย่างแรกเลยคือต้องมองว่าระดับการศึกษาของคนมีความแตกต่างกัน

.

ความเข้าใจในเรื่องของการใช้พลังงานก็ยังไม่ถูกต้องกันบ้างบางส่วน คนที่เข้าใจถูกต้องก็มี คนที่เข้าใจคลาดเคลื่อนก็ยังมีอยู่ อย่างเช่นเรื่องของการใช้หลอดไส้ คนส่วนใหญ่ก็เริ่มขยับไปเปลี่ยน แต่บางคนก็อาจจะสงสัยว่าจะต้องเปลี่ยนทำไมมันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเสียเงิน ซึ่งตรงนี้บางทีก็อาจจะต้องให้ความรู้เพิ่มเติมลงไปในระดับรากหญ้ามากขึ้นในระดับของคนที่มีการศึกษาไม่สูงมากนัก

.

ก็อย่างที่ว่าคือ อาจจะต้องเริ่มจากจุดข้างบนลงมาหรืออาจจะต้องเริ่มตั้งแต่ด้านล่างขึ้นไปด้วย เพื่อให้มันไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น คือต้องทำหลาย ๆ ทิศทาง จะเข้าจากจุดใหญ่เลยทีเดียวแล้วจุดเล็กยังไม่เริ่มมันก็ยังไม่ถูก เพราะฉะนั้นถ้าเราทำทั้งสองทาง โอกาสที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานมันก็จะใช้เวลาสั้นลง

.

"ในเรื่องของการใช้พลังงาน ต้องมองว่าเราจะใช้พลังงานอย่างไรให้ได้ผลคุ้มค่ายาวนานที่สุด สามารถใช้ได้อย่างพอเพียงไม่สูญเปล่า ตรงกับประสิทธิภาพ แล้วได้ประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งสุดท้ายเราก็จะได้มีพลังงานใช้กันอย่างยั่งยืน"

.
ITR: แนวทางหลัก ๆ ในการเข้าไปช่วยโรงงานอุตสาหกรรมลดการใช้พลังงานมีอะไรบ้าง

ดร.สำเริง: ยกตัวอย่างของอาคารก่อนก็แล้วกัน มีอาคารอยู่แห่งหนึ่งเขาเปิดมานานแล้วกว่า 10 ปี อาคารมีอยู่ 10 ชั้นแต่ใช้จริงแค่ 4 ชั้น เขาจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละสามแสนบาท คิดว่าเป็นเรื่องปกติก็มีวิศวกรที่ดูแลอาคาร แต่พอทีมพวกเราเข้าไปดูเราก็พยายามหาสาเหตุ ก็ไปเจอช่องที่เรียกว่า Fresh Air ซึ่งมันใหญ่มาก อากาศเข้าออกได้อย่างสบาย     

.

กลายเป็นความสูญเสียไปโดยที่เจ้าของอาคารไม่รู้ พอไปตรวจวัดเรื่องของอัตราลมที่ไหลเข้าออก ซึ่งมันเกินกว่าความต้องการ เราก็มีการวางมาตรการให้เขาว่าจะต้องอุดช่องตรง Fresh Air ซึ่งก็ชัดเจน พอสิ้นเดือนออกมาสามารถประหยัดไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลย จากที่เคยจ่าย 3 แสนบาททุกเดือน เหลือแค่แสนกว่าบาท ซึ่งก็เป็นอะไรที่มันชัดเจนคือสามารถประหยัดได้จริง 

.

ในส่วนของโรงงานก็จะมีหลายอย่างที่เข้าไปทำ ทั้งในเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิง ไฟฟ้า บอยเลอร์ เครื่องกล บางทีก็ผสมผสานกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะใช้พลังงานจากไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งตัวแปรหลักก็จะเริ่มตั้งแต่หม้อแปลงที่จ่ายไฟเข้าสู่ตัวโรงงาน ซึ่งก็จะมีในเรื่องของ Loss หรือความสูญเสียที่เกิดจากแกนเหล็กและขดลวด

.

เพราะฉะนั้นถ้ามีการออกแบบหม้อแปลงอย่างไม่เหมาะสมกับขนาดของโหลดก็จะเกิดความสูญเสียขึ้น อย่างสมมติว่าโหลดมี 50% แต่เราออกแบบหม้อแปลงไว้ที่ 100% ส่วนนั้นคือส่วนที่เราจะต้องสูญเสียไปโดยที่ไม่เกิดประโยชน์

.

เพราะโรงงานส่วนใหญ่จะมีการออกแบบเผื่อไว้มากเนื่องจากความตั้งใจที่จะขยายโรงงาน หรือกระบวนการผลิตในอนาคต บางครั้งติดตั้งไว้ 2 ลูกเลย สุดท้ายแต่ละลูกใช้เพียงแค่ 20% ทำให้เกิด Loss มหาศาล คือค่าไฟมันสูญเสียไปโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งแต่พอใช้งานไป กิจการมันไม่ใหญ่ขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็เลยกลายเป็นปัญหา     

.

ถ้าเจอกรณีเช่นนี้ก็จะแนะนำให้มีการใช้หม้อแปลงแค่ตัวเดียวโดยมีการสลับกันให้ อีกตัวก็เก็บไว้เป็นสแปร์ หรือถ้าเจอโรงงานที่มีหม้อแปลง 2 ลูกเท่ากัน ก็จะแนะนำให้ติด Tire Breaker เพื่อควบคุมการทำงาน และสามารถสลับถ่ายโอนการทำงานได้ซึ่งจะเป็นการลด Loss ที่เกิดขึ้นได้

.

อย่างที่สองก็คือเรื่องของคุณภาพไฟฟ้าภายในโรงงาน ซึ่งก็หมายถึงเรื่องของฮาร์มอนิก หรือสิ่งที่ทำให้เกิดการรบกวนของอุปกรณ์ไฟฟ้า เจ้าฮาร์มอนิกก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสีย เพราะโดยปกติสัญญาณไฟฟ้ามันจะเรียบ แต่พอมีฮาร์มอนิกเข้ามา สัญญาณไฟก็จะไม่เรียบเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน ก็ทำให้เกิด Loss ขึ้น ซึ่งผู้ใช้เองก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่ได้ทำการตรวจวัด

.

บางทีเราก็ใช้ไปตามปกติ ฮาร์มอนิกเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้อุปกรณ์จำพวกมอเตอร์ในโรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหล่านี้ก็จะทำให้คุณภาพของไฟฟ้าไม่ดี ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์กรองฮาร์มอนิกที่เรียกว่าฮาร์มอนิกฟิลเตอร์เพื่อจะกรองเอาฮาร์มอนิกออกไปเพื่อลดการสูญเสีย

.

หรือบางทีโรงงานที่เคยไปเจอก็จะมีการติดตั้งคาปาซิเตอร์แบงก์ (Cap Bank) ซึ่งก็จะช่วยลดความสูญเสียในสายตัวนำได้เยอะ เพราะบางทีสายไฟจากตู้ MBB ที่ต้นทางไปยังโหลดอาจจะเดินไกล พอเราใช้งานโหลด มันก็จะทำให้เกิดแรงดันตกต่ำกว่าปกติ การสตาร์ทโหลดที่เป็นมอเตอร์ก็กินกระแสมากขึ้น ความร้อนในมอเตอร์เพิ่มขึ้น Loss ก็เพิ่มขึ้น แทนที่มอเตอร์จะกินพลังงานเท่าเดิมก็ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจึงจะทำงานได้ตามปกติ

.

ดังนั้นสิ่งที่จะเจอก็คือ อายุการใช้งานของอุปกรณ์ก็จะสั้นลงโดยที่เราไม่รู้ ซึ่งบางโรงงานจะพบว่ามอเตอร์เสียอาทิตย์นึง 1-2 ตัว หลังจากใช้วิธีการติด Cap Bank ก็ทำให้แรงดันไฟฟ้าสมดุลขึ้น พบว่าอุปกรณ์ก็จะเสียหายน้อยลง อันนี้ก็คือประโยชน์ของ Cap Bank ซึ่งลงทุนแค่หลักหมื่น แต่มันจะช่วยรักษาในสิ่งที่เรามองไม่เห็นนั่นก็คืออายุของโหลดที่ใช้ในโรงงาน

.

ITR: ในระดับโรงงานอุตสาหกรรม อะไรคืออุปสรรคและปัญหาที่สำคัญในการดำเนินการด้านอนุรักษ์พลังงาน

ดร.สำเริง: ในโรงงานก็จะเจอเยอะ ปัจจัยหนึ่งก็คือแต่ละแผนกเขาจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเขาไม่อยากให้เกิดปัญหาในเวลาการผลิต เพราะฉะนั้นเขาเคยใช้อย่างไร เขาก็พยายามใช้อยู่อย่างนั้นด้วยความเคยชิน เขากลัวว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น

.

อันนี้จะเป็นอุปสรรคหลัก คือคนที่อยู่ตรงนั้นเขาไม่ยอมรับ คือถ้าเขายอมรับและปรับเปลี่ยนมันก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ อย่างที่เคยเจอ พอคุยเสร็จก็ไม่เอาไม่เปลี่ยน มันกลายเป็นว่าจะไปเพิ่มงานเขา ก็นำไปสู่ว่าถ้ามีแรงจูงใจ   

.

ผมเชื่อว่ามันสามารถเป็นไปได้หมด หรืออาจจะต้องแบ่งเป็นแผนกกันเลย คือถ้าสามารถแบ่งและควบคุมเป็นส่วน ๆ ได้ก็จะเกิดการแข่งขัน เมื่อมีแรงจูงใจและมีการแข่งขัน สุดท้ายโรงงานก็จะได้ประโยชน์ แต่ปัญหาก็คือจะต้องไปหาวิธีการ แต่ละโรงงานแต่ละแบบการผลิตซึ่งจะแตกต่างกัน อาจจะปรับเปลี่ยนการทำงาน ต้องดูปัจจัยหลาย ๆ อย่าง หาจุดที่ลงตัว ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการและทีมงาน 

.

ITR: ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีความเกี่ยวเนื่องกับการทำงานด้านอนุรักษ์พลังงานที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร และคาดหวังกับอนาคตของบัณฑิตวิทยาลัยไว้อย่างไร

ดร.สำเริง: ประเด็นแรกของการเปิดหลักสูตรปริญญาโททางด้านสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าขึ้นมา ก็เนื่องมาจากปัจจุบันเรามีความพร้อมหลายด้าน ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยเองและในส่วนของคณาจารย์ซึ่งมีศักยภาพทางด้านนี้หลายท่าน ประเด็นต่อมาก็คือ อาจารย์หลายท่านเคยมีประสบการณ์การทำงานทางด้านพลังงานมาก่อน

.

เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์พลังงานกับสาขาของวิศวกรรมไฟฟ้าจึงค่อนข้างจะไปด้วยกันได้อย่างลงตัว ซึ่งผู้ที่มาเรียนส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่กลุ่มของวิศวกรซึ่งมีประสบการณ์หรือกำลังทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทุกคนมีความรู้พื้นฐานทั้งหมดเลยในระดับปริญญาตรีที่เรียนมา แต่อาจจะหลงลืมไป

.

แต่หลักสูตรในระดับปริญญาโทของเราจะเน้นเสริมในส่วนของการวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นเชิงลึกมากขึ้น สามารถเข้าใจได้ว่าปัญหาแบบนี้จะต้องแก้ด้วยวิธีการอย่างไร โดยต่อยอดจากพื้นฐานความรู้ที่นักศึกษามีอยู่ และนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ ผมว่าตรงนี้เป็นตัวหนึ่งที่จะไปเสริมและสอดคล้องกับการอนุรักษ์พลังงานด้วย แต่จริง ๆ แล้วสาขาเราอาจจะยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานมากนัก แต่คาดว่าอีก 1-2 ปี เราก็จะมีหลักสูตรเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานโดยเฉพาะเข้ามา

.

ส่วนปริญญาโทสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จะเปิดสอนเป็นรุ่นแรกในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับความคาดหวังจากมหาบัณฑิตของเราก็คือ หวังว่าเขาจบไปแล้วจะสามารถไปเป็นระดับหัวหน้าโครงการ เป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ได้ คือในโรงงานโรงงานหนึ่งถ้าไม่มีใครใหญ่ที่สุดแล้ว เขาสามารถขึ้นนั่งแทนได้ คือเขาสามารถมองระบบไฟฟ้าในโรงงานได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าตั้งแต่ไฟฟ้าแรงสูงลงมาจนถึงเรื่องของการจัดการพลังงานในโรงงาน อันนี้คือสิ่งที่เราจะใส่ให้เขา เพราะฉะนั้นก็จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงานอย่างชัดเจน

.

ส่วนเรื่องของปัจจัยที่เกิดผลกระทบกับคุณภาพทางไฟฟ้าก็คือ วิชาเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีส่วนแน่นอนที่จะนำไปใช้ได้ สำหรับคนที่เรียนจบไปก็จะมีความรู้ว่าเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้มันสร้างฮาร์มอนิกแบบไหน เพราะฉะนั้นเขาจะมีความรู้ทั้ง 3-4 ด้าน ที่จะเข้าไปเพื่อบริหารจัดการให้กับวิศวกรที่อยู่ในโรงงานได้ดีมากยิ่งขึ้น คือเขาเป็นคนสั่งการได้ และถ้าไม่มีใครทำเขาก็สามารถทำเองได้ อันนี้คือสิ่งที่เราวาดฝันไว้กับมหาบัณฑิตทั้งหลาย 

.
ITR: ข้อคิดที่ต้องการฝากไปสู่สาธารณะผ่านทางวารสาร Industrial Technology Review

ดร.สำเริง: อันดับแรกสุดต้องขอฝากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก่อนก็คือ ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้เปิดหลักสูตรสาขาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ขึ้นมา เพราะฉะนั้นผมคิดว่า หลักสูตรนี้จะมีประโยชน์ตอบสนองต่อทางภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอนเพราะว่าตัวเป้าหมายของหลักสูตรเราก็คือ เพื่อผลิตมหาบัณฑิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

.

เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดในอุตสาหกรรมก็คือ ปัญหาที่เราสามารถให้มหาบัณฑิตเราเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ตรงนี้คือส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของพลังงาน ทุกวันนี้อย่างที่ทราบกันก็คือต้นทุนในการผลิตพลังงานก็เริ่มแพงขึ้น เพราะฉะนั้นในฐานะที่ผมคือส่วนหนึ่งของแผนก ของผู้ใช้งาน ไม่ใช่ส่วนของผู้ผลิต เราเป็นผู้ใช้เราก็ต้องช่วยกันประหยัด

.

ประหยัดอย่างไร ก็เลยเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าเข้าไปช่วยในการประหยัดพลังงานอันนี้คือจุดหนึ่งที่เราเปิดขึ้นมา ก็คือเอาหลักสูตรเข้าไปเสริมด้วยส่วนหนึ่ง ก็หวังว่าน่าจะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละโรงงาน แล้วก็จะขยายมากขึ้นกลายเป็นภาคอุตสาหกรรม อีกหน่อยโรงงานทุกโรงงานในบ้านเราน่าจะมีผลของการอนุรักษ์พลังงานได้มากขึ้น

.
.