เนื้อหาวันที่ : 2009-08-13 09:13:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2324 views

สมัชชาคนจนจี้จังหวัดจ่ายชดเชยผู้รับผลกระทบเขื่อนหัวนา-ราษีไศล

ตัวแทนสมัชชาคนจนที่ชุมนุมบนสันเขื่อนราษีไศล กว่า 500 คนบุกศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ จี้ผู้ว่าฯ เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการสร้างเขื่อน พร้อมจ่ายชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ

จากสันเขื่อนถึงศาลากลาง สมัชชาคนจนจี้จังหวัดจ่ายชดเชยผู้รับผลกระทบเขื่อนหัวนา-ราษีไศล

.

.

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.52  เวลา 9.00 น.ที่สันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ที่ได้ชุมนุมอยู่ที่สันเขื่อนราษีไศลมาตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. รวมเวลากว่า 2 เดือน ได้ส่งตัวแทนประมาณ 500 คน ตั้งเป็นขบวนรถกว่า 20 คัน เดินทางร่วม 40 กิโลเมตรมายังศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษเพื่อร่วมการประชุมคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง โครงการเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ

.

เพื่อรับรองผลการดำเนินงานตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ในเขตอำเภอกันทรารมย์ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอราษีไศล และยื่นหนังสือถึง นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนา รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสังคมจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล 

.

จากนั้นสมัชชาคนจนฯได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ และรวมกลุ่มอยู่ที่สนามหน้าศาลากลางฟังการปราศรัยของแกนนำระหว่างรอการประชุมคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินฯ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีนายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในการประชุม

.

ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ คือ 1.รับคำร้องของราษฎร ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนา ตามบัญชีรายชื่อที่ราษฎรกลุ่มสมัชชาคนจนเสนอ 2. ดำเนินการรังวัดและจัดทำแผนที่แปลงที่ดินราษฎรแต่ละราย พร้อมทั้งคำนวณเนื้อที่ให้ตรงกับความเป็นจริง ตามคำร้องของราษฎรข้อแรก

.

3.จัดทำบัญชีทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่ ที่ดำเนินการรังวัดตามข้อสอง 4. รับรองผลการดำเนินงานและเสนอผลการดำเนินงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษทุก 30 วัน เพื่อเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อพิจารณาต่อไป

.

.

นายแดง คาววี แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา กล่าวว่า ปัญหาเขื่อนหัวนายืดเยื้อมานานแล้ว ช่วงที่ผ่านมาการแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านมีความกังวลว่าน้ำจะท่วมที่นา สูญเสียที่ดินทำกิน หากมีการปิดเขื่อนหัวนาทั้งที่การศึกษาผลกระทบยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่มีการรับรองผลการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งในคณะทำงานระดับอำเภอและจังหวัด  

.

แต่หลังจากชุมนุมติดตามการแก้ปัญหาอยู่ที่สันเขื่อนราษีไศลมากว่า 2 เดือน ทำให้ได้มีการประชุมรับรองผลการดำเนินการตรวจสอบการรังวัด รว. 43 ก. และใบตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินทั้ง 3 อำเภอแล้วเสร็จไปแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา วันนี้ก็เป็นการมาประชุมคณะทำงานฯ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อรับรองผลการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของคณะทำงานระดับอำเภอ เพื่อจะได้เสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาต่อไป

.

ทั้งนี้ เขื่อนหัวนา เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ สร้างกั้นแม่น้ำมูนที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2535 ปัจจุบันเหลือเพียงการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้ไหลผ่านเขื่อน โครงการก็จะเสร็จสมบูรณ์  

.

ตัวเขื่อน มีความกว้าง 207.5 เมตร มีประตูเหล็กควบคุมน้ำจำนวน 14 บาน ขนาด 12.5 x 7.5 เมตร เพื่อเก็บกักน้ำ 115.62 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 115 ม.รทก .ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ ขนาด 18.11 ตร.กม. โดยปลายน้ำจะจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล ระยะทางตามลำน้ำมูน ประมาณ 90 กิโลเมตร

.

"เราชุมนุมอยู่ที่สันเขื่อนราษีไศลมายาวนานเป็นเวลา 2 เดือน กับ 6 วัน การมาที่ศาลากลางจังหวัดวันนี้ก็เพื่อมารับรู้ข่าวสารการแก้ปัญหาของพวกเราไปถึงไหนแล้ว และมาบอกให้สังคมรู้ว่าที่เราต้องชุมนุมก็เพราะความทุกข์ยากและความจำเป็น เพราะไม่มีข้าวจะกินเมื่อน้ำท่วมนาหลังการสร้างเขื่อนราษีไศล จึงอยากมาเร่งให้มีการดำเนินการขั้นตอนการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด หลังชาวบ้านเขื่อนราษีไศลถูกละเลยมา 16 ปีแล้ว" นายประดิษฐ์ โกศล แกนนำชาวบ้านเขื่อนราษีไศล กล่าว

.

.

ทั้งนี้ เขื่อนราษีไศล เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำมูนที่บ้านปากห้วย ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเขื่อนคอนกรีตปิดเปิดด้วยบานประตูเหล็กควบคุมโดย ระบบไฮโดรลิค เมื่อเก็บกักน้ำระดับ +119 ม.รทก.ก็เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ขนาด 93,000 ลูกบาศก์เมตร วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและเก็บกักน้ำในลำน้ำมูนและลำสาขา ได้พื้นที่ชลประทานของโครงการ เป็นพื้นที่ 34,420 ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2534 เริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี 2536  

.

จากนั้นเวลา 10.30 น. จึงได้มีการประชุมคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง โครงการเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตัวแทนชาวบ้าน

.

รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษกล่าวในที่ประชุมว่า วันนี้คณะทำงานระดับจังหวัดจะมาประชุมร่วมกันว่าที่มีการรับรองผลการตรวจสอบทรัพย์สินมาแล้วในระดับอำเภอของผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา ก็มาให้คณะกรรมการระดับจังหวัดกลั่นกรองพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนที่ส่งให้ทางรัฐบาลตัดสินใจต่อไป  

.

และการตรวจทรัพย์สินครั้งนี้จะเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ เป็นเอกสารที่เตรียมไว้ สมมติการดำเนินงานตามโครงการเขื่อนหัวนาเสร็จสมบูรณ์ ถ้ามีการเก็บกักก็จะได้ทราบว่า มีพื้นที่เท่าไรอยู่ในระดับที่ได้รับผลกระทบ แล้วจะดำเนินการจัดการค่าเสียหายให้แล้วเสร็จ

.

"ถ้ารัฐบาลตัดสินใจอย่างไรก็ต้องมาเช็ครายละเอียดให้ถี่ยิบในพื้นที่ของแต่ละรายอีกครั้ง เพราะนี่เป็นเพียงฐานข้อมูลในการตัดสินใจของกับรัฐบาล" รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษกล่าว

.

.

การประชุมใช้เวลาประมาณ 30 นาที และที่ประชุมมีมติเบื้องต้น รับรองผลการดำเนินงานตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง โครงการเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ในเขตอำเภอกันทรารมย์ อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอราษีไศล ทั้ง 3 อำเภอ โดยให้คณะทำงานฯ รับรองผลการดำเนินการของคณะกรรมการ(ชุดเดิม) ในการตรวจสอบแผนที่แปลงกรรมสิทธิ์ (ร.ว.43ก.) และใบตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินดังนี้ 

.

1.แผนที่แปลงกรรมสิทธิ์(ร.ว.43ก.) ในเขตอำเภอกันทรารมย์ จำนวน 336 แปลง 159 ราย
2.แผนที่แปลงกรรมสิทธิ์(ร.ว.43ก.)  ในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย จำนวน 45 แปลง 22 ราย
3.แผนที่แปลงกรรมสิทธิ์(ร.ว.43ก.) ในเขตอำเภอราษีไศล จำนวน 2,142 แปลง 621 ราย

.

ขณะที่การตรวจสอบที่ดินที่คงเหลือในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย ทั้งที่จับพิกัดแล้ว 42 แปลง 15 ราย และยังไม่จับพิกัดจำนวน 4 แปลง 3 ราย ให้มีการประมาณการงบประมาณในการดำเนินการแก้ปัญหาและส่งมาให้ทางจังหวัดทำหนังสือส่งไปให้กรมชลประทาน และทางจังหวัดจะพิจารณาจำนวนเงินถ้าไม่มากจนเกินไปจะพิจารณางบประมาณของทางจังหวัดไปดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินให้

.

นอกจากนี้ทางสมัชชาคนจนฯได้ยื่นหนังสือ เรื่อง เร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนา รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสังคมจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล ต่อนายประวัติ รัฐิรมย์ ตัวแทนนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ติดราชการ

.

นายสมบัติ โนนสังข์ แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา กล่าวว่า ผลการประชุมวันนี้เป็นที่พอใจ คณะทำงานระดับจังหวัดมีมติตามที่เราเสนอไปทุกประการ แต่งานก็ยังไม่จบเพราะไม่ได้เจอผู้ว่าฯ จึงยังไม่ได้คำตอบและวันเวลาของการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนา

.

รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสังคมจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล เราจึงต้องอยู่กดดันต่อจนกว่าจะมีการประชุมเรื่องการศึกษาผลกระทบฯของทั้งสองเขื่อน และใจจริงก็อยากให้มีการประชุมที่สันเขื่อน ไม่อยากมาที่ศาลากลางเพราะเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลา

.

จากนั้นสมัชชาคนจนฯจึงได้เดินทางกลับไปที่ชุมนุม ณ สันเขื่อนราษีไศลในเวลาประมาณ 12.00 น.

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท