เนื้อหาวันที่ : 2009-08-10 14:14:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1500 views

พาณิชย์ แนะผู้ประกอบการปรับตัวพร้อมเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

พรทิวา รมว.พาณิชย์ ระบุอีก 6 ปี อาเซียนจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ แนะผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

.

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ระบุว่าอีก 6 ปีข้างหน้าหรือในปี 58 กลุ่มประเทศอาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community:AEC) อย่างสมบูรณ์แบบ หรือรวมตัวเป็นฐานการผลิตเดียวกัน(single market) ซึ่งช่วยให้ประเทศสมาชิกสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้เสมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน โดยสามารถใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานในการผลิตสินค้าที่ปราศจากอุปสรรคทั้งมาตรการกีดกันเรื่องภาษีและไม่ใช่เรื่องภาษี                

.

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการของไทยต้องเร่งปรับตัวทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยเชิงรุกต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างแบรนด์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้กลยุทธ์เชิงรุกเจาะตลาด พัฒนาและผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด ส่วนเชิงรับต้องปรับปรุงศักยภาพของสินค้าที่ไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนาบุคลากรและฝีมือแรงงาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อศึกษาหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ 

.

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs อาจจะมีปัญหาบ้าง ซึ่งกลุ่มอาเซียนเองเตรียมจัดตั้ง SMEs Council เพื่อเข้ามาช่วยเหลือในการบรรเทาผลกระทบและเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็ง โดยประชากรในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน 

.

มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรีมากขึ้นซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไทยออกไปลงทุนในกลุ่มอาเซียนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร ซึ่งมีการศึกษาพบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของประเทศสมาชิกอาเซียนจะขยายตัวได้ถึงปีละ 8-10% 

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เชื่อว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะมีมากกว่าผลเสีย โดยคาดว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกให้แก่สินค้าไทย ขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเ ช่น กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เพิ่มขีดความสามารถในการเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน, เพิ่มโอกาสของนักลงทุนไทยในการไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว และช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยและการขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค 

.

สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร, ประมง, ไม้, ยางพารา, ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มบริการ ได้แก่ ธุรกิจแฟรนไชส์, อาหาร, โลจิสติกส์, สิ่งพิมพ์ และธุรกิจบริการด้านสุขภาพและรักษาพยาบาล แต่ขณะเดียวกันยังมีสินค้าทั้งในกลุ่มการเกษตร และอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ปาล์มน้ำมัน, ถั่วเหลือง, ข้าว, กาแฟ, ชา, เหล็ก, ยานยนต์, สิ่งทอ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น 

.

ประธาน ส.อ.ท. แสดงความเป็นห่วงว่าผู้ประกอบการที่จะได้รับจากการเข้าสู่การเป็น AEC คือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ และชี้ให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนที่มีอยู่ คือ"กองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า" ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

.

"รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูเรื่องกองทุนฯ ให้ดี เพื่อช่วยรองรับผลกระทบให้แก่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในเรื่องการปรับตัว รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีปัญหาในอนาคตได้" นายสันติ กล่าวในงานสัมมนา "ไทยกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" 

.

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักสำคัญของไทยทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบไปด้วยนั้น ไทยจำเป็นต้องหันกลับมาพึ่งพาการส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น ซึ่งตลาดในอาเซียนที่ยังไม่นับรวมประเทศคู่เจรจาถือว่ามีกำลังซื้อมากถึง 560 ล้านคน 

.

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์และลดผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร, การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน, การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และผลการศึกษาวิจัยต่างๆ มาปรับใช้, การศึกษากฎระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนมาตรการทางการค้าให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

.

"เดิมเราพึ่งพาการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นหลักถึง 40% แต่ต่อไปเราอาจจะต้องพึ่งพาตลาดอาเซียนรวมทั้งประเทศคู่เจรจา ซึ่งอาจจะสูงถึง 30% เพราะฉะนั้นเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเปิดตลาดครั้งนี้" นายดุสิต กล่าว