เนื้อหาวันที่ : 2006-11-21 09:54:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1212 views

ไอเดียรัฐบาลใหม่ให้ ก.ไอซีทีตั้งบริษัทโฮลดิ้งดูแล 3 รัฐวิสาหกิจ

กระทรวงไอซีทีมีมติตั้งโฮลดิ้งดูแล 3 รัฐวิสาหกิจภายใต้ชื่อ บริษัท ไอซีทีไทยแลนด์ จำกัด ขณะที่การประชุมบอร์ดทีโอทีนัดแรก มีมติตั้งหน่วยงานตรวจสอบการโทรเข้า-ออก

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวกระทรวงไอซีทีมีมติตั้งโฮลดิ้งดูแล 3 รัฐวิสาหกิจภายใต้ชื่อ บริษัท ไอซีทีไทยแลนด์ จำกัด ขณะที่การประชุมบอร์ดทีโอทีนัดแรก มีมติตั้งหน่วยงานตรวจสอบการโทรเข้า-ออก  พร้อมเรียกร้อง กทช.เลื่อนประกาศค่าเชื่อมโยงเครือข่าย และจ้างบุคคลที่ 3 มาตรวจสอบการทำงาน หากพบข้อสงสัยทุจริตจะส่ง คมช.ตรวจสอบ พร้อมเตรียมเชิญผู้สมัครกรรมการผู้จัดการใหญ่แสดงวิสัยทัศน์ 24 พฤศจิกายนนี้ 

.

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ได้ประชุมร่วมกับประธานคณะกรรมการของ 3 บริษัท ที่ดูแล ประกอบไปด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

.

พล.อ.มนตรี ศุภาพร ประธานคณะกรรมการ ทีโอที กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันที่จะตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อดูแลรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 หน่วยงาน โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ไอซีทีไทยแลนด์ จำกัดเพื่อควบคุมการลงทุนไม่ให้ซ้ำซ้อน และมุ่งเป้าหมายเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือยุค 3 หรือ 3 จี และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์รายใหญ่ของประเทศ โดยมีกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ผลักดันให้หน่วยราชการหันมาเช่าใช้เครือข่ายดังกล่าว โดยจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งโดยเร็วที่สุด 

.

นอกจากนี้ การประชุมคณะกรรมการทีโอทีนัดแรกยังมีมติให้ตั้งหน่วยงานตรวจสอบจำนวนการโทรเข้า-ออกผ่านเครือข่ายของทีโอที เพื่อกำหนดเป็นอัตราค่าเชื่อมโยงเครือข่ายซึ่งจัดเก็บจากภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาข้อร้องเรียนที่ดีแทคและทรูมูฟระบุว่า ต้องการยกเลิกการจ่ายเงินให้แก่ทีโอที เพื่อไปใช้หลักการจัดเก็บค่าเชื่อมโยงเครือข่ายของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แทน  ดังนั้น  ทีโอทีจึงได้ขอให้ กทช. เลื่อนกำหนดการประกาศใช้ออกไปก่อน เพื่อขอศึกษาข้อมูลดังกล่าว

.

สำหรับการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีนั้น คณะกรรมการฯ มีมติให้ดำเนินการต่อเนื่องจากคณะกรรมการชุดก่อน เนื่องจากได้มีการเสนอผู้สมัครเข้ามาแล้ว โดยวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้จะเชิญผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ และให้กรรมการเลือกด้วยการลงคะแนนลับ ซึ่งจะทำให้คัดสรรได้เร็วขึ้น   ขณะที่การเดินหน้าตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการทีโอทีนั้น มีมติให้ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย เน้นที่ความบกพร่อง แต่ไม่ใช่จับผิดพนักงาน หากมีความผิดปกติโดยทุจริตชัดเจนจะส่งเรื่องถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  แต่ถ้าเป็นเพียงข้อสงสัยจะส่งให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตรวจสอบ   

.

ย้ำว่าการทำงานของบอร์ดชุดนี้จะเน้นการอุดช่องโหว่ของค่าใช้จายที่ไม่จำเป็น เพื่อลดข้อครหาจากบุคคลภายนอก เชื่อว่าทีโอทีไม่ได้มีการทจุริตร้ายแรง เพียงแต่อาจจะขาดการเปิดเผยข้อมูล ทำให้เกิดกระแสข่าวในทางไม่ดี มั่นใจหลังจากนี้หากทุกโครงการสามารถตรวจสอบได้ จะทำให้ภาพลักษณ์รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ดีขึ้น พล.อ.มนตรี กล่าว.