เนื้อหาวันที่ : 2006-11-17 13:24:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 785 views

บีโอไอย้ำยอดการลงทุนอุตสาหกรรมหลักปี 49 ยังเข้าเป้า

บีโอไอย้ำปี 49 ยอดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหลักยังเป็นไปตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ชี้แนวโน้มในปีหน้ายังเชื่อว่าน่าจะเท่ากับปีนี้ โดยจะปรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนมุ่งเน้นสร้างเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เลขาธิการบีโอไอย้ำปี 49 ยอดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหลักยังเป็นไปตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ชี้แนวโน้มในปีหน้ายังเชื่อว่าน่าจะเท่ากับปีนี้ โดยจะปรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนมุ่งเน้นสร้างเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

.

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงกรณีที่ตัวเลขการนำเงินเข้ามาลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (เอฟดีไอ) ลดลงถึงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ว่า แม้ตัวเลขการนำเงินเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติจะลดลงก็น่ากังวล เพราะในสภาพความเป็นจริงแล้ว

.

การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร ปิโตรเคมี และธุรกิจบริการยังคงมีตัวเลขขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเป็นไปตามเป้าหมาย คือ มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาสูงถึงประมาณ 424,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดการลงทุนของต่างชาติที่น่าพอใจ เพราะเป็นยอดรับการส่งเสริมการลงทุนเท่า ๆ กับปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เห็นว่า มียอดในปีก่อนหน้าสูงถึง 600,000 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขการลงทุนที่เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่นานปีจะมีการเข้ามาลงทุนครั้งหนึ่ง

.

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป้าหมายในปี 2549 บีโอไอยังเป้าหมายไว้ที่ 500,000 ล้านบาทตามเดิม และเชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และแนวโน้มในปีหน้าก็เช่นกันโดยการส่งเสริมการลงทุนจะมุ่งเน้นสร้างเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายของนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุตสาหรรม ขณะเดียวกันก็จะเน้นส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในการผลิต และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิตให้มากขึ้น

.

นายสาธิต กล่าวถึงการจัดกิจกรรมของหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) ว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2541 ที่ได้เริ่มงานมาจนถึงปัจจุบันได้ส่งเสริมให้มีการจับคู่ทางธุรกิจและการพบกันระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้พบผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศมาแล้วนั้น มียอดสะสมของตัวเลขการค้าขายที่เกิดขึ้นมาแล้ว 18,000 ล้านบาทนั้น เชื่อว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขสะสมการซื้อขายจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 30,000 ล้านบาทได้

.

โดยส่วนใหญ่เป็นการตกลงในธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณร้อยละ 80  ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมเครื่องจักรและมีแนวโน้มว่าในอนาคตยอดในส่วนเครื่องจักรจะมีมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้นเช่นกันและล่าสุดในวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2550 นี้ บีโอไอจะร่วมมือกับภาคเอกชนจัดงาน Subcon 2007 ซึ่งจะเป็นงานที่รวบรวมเอสเอ็มอีไทยใน 4 อุตสาหกรรมหลักให้ได้พบกับผู้ซื้อจากเอเชียและยุโรปด้วย สำหรับ 4 อุตสาหกรรมที่ร่วมงานประกอบด้วย อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ หล่อโลหะ รับช่วงการผลิตและโลจิสติกส์.