เนื้อหาวันที่ : 2009-08-04 16:00:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1030 views

พลังงานยันไม่ลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แม้ราคาตลาดโลกสูงขึ้น

รัฐบาลปล่อยประชาชนรับภาระค่าน้ำมันแพง ยันไม่มีนโยบายลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อ้างเตรียมเงินสำรองไว้ดูแลราคาน้ำมันในภาวะฉุกเฉิน

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยังไม่มีนโยบายลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 71 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ ต้องเตรียมเงินสำรองไว้ใช้ในการดูแลราคาน้ำมันในอนาคตหากราคาปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรืออยู่ในภาวะฉุกเฉิน โดยเห็นว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระได้

.

"ยืนยันว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้มีนโยบายว่าจะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนให้ได้ 30,000 ล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว สำหรับอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบัน ได้แก่ เบนซิน 95 จำนวน 7 บาท/ลิตร, เบนซิน 91 จำนวน 5.7 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 E 10 จำนวน 2.27 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 จำนวน 1.67 บาท/ลิตร และไบโอดีเซล B2 จำนวน 1.70 บาท/ลิตร แต่ยังคงชดเชยราคาไบโอดีเซล B5 อยู่ที่ 2.23 บาท/ลิตร 

.

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า กรณีที่เริ่มขาดแคลนเอทานอลเพื่อนำมาผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์นั้น ทางกระทรวงพลังงานจะประสานกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้สมาคมผู้ผลิตเอทานอลซื้อแป้งมันสำปะหลังในสต๊อกรัฐบาลมาผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งขณะนี้มีอยู่สูงถึง 8 แสนตัน โดยจะได้เสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยความต้องการใช้แป้งมันสำปะหลังมาผลิตเป็นเอทานอลเพียง 2.8 แสนตัน สามารถผลิตเป็นเอทานอลได้จำนวน 6-8 แสนลิตร/วัน 

.

โดยปัจจุบันมีโรงผลิตเอทานอลจากแป้งมันสำปะหลังจำนวน 1 โรง คือ บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์  และจะเพิ่มขึ้นอีก 2 โรงในช่วงปลายปีนี้ คือ บริษัท มิตรผล และบริษัท ไทยแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังอยู่ที่ 5.5 แสนลิตร/วัน ซึ่งเชื่อว่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ ขณะที่กำลังการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล  มันสำปะหลัง แป้งมัน รวมกันอยู่ที่ 37.4 ล้านลิตร/วัน 

.

รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ออกมาเรียกร้องให้ผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชายุติดำเนินการชั่วคราวนั้นเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะยังไม่มีประเทศใดสามารถเข้าไปทำการสำรวจในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีการเจรจาเรื่องปัญหาเขตแดน แต่เป็นการเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน

.

ซึ่งในส่วนของกัมพูชาได้ให้บริษัทโทเทลจกาฝรั่งเศสได้สิทธิ์ในการสำรวจ ขณะที่ไทยมีผู้ได้สิทธิ์ในการสำรวจ เช่น เชฟรอน  บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) ซึ่งทั้งสองประเทศจะสามารถเข้าสำรวจได้ก็ต่อเมื่อมีข้อตกลงเรื่องการแบ่งผลประโยชน์เรียบร้อย