เนื้อหาวันที่ : 2009-08-03 15:03:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1046 views

ธปท.เตรียมคลายกฎนำเงินไปลงทุน ตปท. หวังลดแรงกดดันบาทแข็ง

ผู้ว่าการธปท. รับปีนี้หมดโอกาสเห็นเงินบาทอ่อน เล็งผ่อนคลายหลักเกณฑ์นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศหวังลดแรงกดดัน มั่นใจไม่กระทบบรรยากาศการลงทุน

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

.

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ปีนี้คงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นค่าเงินบาทอ่อนค่ากลับไปที่ 36 บาท/ดอลลาร์ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่คงจะกลับไปอยู่ในจุดเดิมได้ยาก แต่ ธปท.ก็จะมีมาตรการออกมาช่วยลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า เช่น การผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น

.

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในช่วงที่เงินบาทแข็งค่ามากในขณะนี้คือ การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะตอนนี้เงินบาทแข็งค่าจากการที่เราเกินดุลการค้า แต่หากเศรษฐกิจดีขึ้นก็น่าจะทำให้การเกินดุลการค้าลดลง แต่ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังแข็งค่าในระดับปานกลางเมื่อเทียบภูมิภาค จึงไม่ได้ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในด้านการส่งออกมากนัก 

.

นางธาริษา กล่าวอีกว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/52 ถ้าเทียบรายไตรมาสและรายเดือนเริ่มเห็นสัญญาณเป็นบวกในตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัว อาทิ การผลิต ยานยนต์ อิเล็คทรอนิคส์ การใช้จ่ายเอกชนที่เร่งตัวขึ้น ส่งออกรายเดือนเทียบเดือนต่อเดือนเป็นบวก นำเข้าก็ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน

.

"ในครึ่งแรกปีก่อน เศรษฐกิจเราดีมาก ฐานจึงสูง แต่หากเทียบ Q-o-Q หลายตัวยังติดลบแต่ก็ในอัตราชะลอลง และจากนี้ไปจะเริ่มดีขึ้น แต่จะยั่งยืนต่อเนื่องหรือไม่ ไม่มีใครกล้าฟันธง จากข้อมูลน่าจะดีขึ้นแต่ยังชะล่าใจไม่ได้"ผู้ว่า ธปท. กล่าว 

.

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ อาจทำให้เกิดความผันผวนบ้าง แต่ไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน โดยรวมมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในแง่ของเม็ดเงินผู้ลงทุนยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะเงินฝากที่มีอยู่ 6 ล้านล้านบาท 

.

ขณะเดียวกันการที่จะลงทุนในต่างประเทศได้ก็จะต้องมีความรู้และความพร้อม อีกทั้งหากเราสามารถออกไปลงทุนได้ ก็จะมีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในบ้านเราเช่นกัน ซึ่งจะทดแทนกัน 

.

ทั้งนี้ มองว่าการผ่อนเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและการเพิ่มเม็ดเงินในการลงทุน โดยที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้มีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งผ่านกองทุน FIF ซึ่งขณะนี้เป็นที่นิยมในการลงทุนมากขึ้น 

.

"ไม่ได้ห่วงหรือกังวลมากกับการที่แบงก์ชาติจะผ่อนคลาย เพราะถ้าดูแล้ว 2 ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติก็ได้ผ่อนเกณฑ์ในการไปลงทุนในระดับหนึ่ง เพียงแต่มีการจำกัดวงเงินในการลงทุนเท่านั้น"นางภัทรียา กล่าว 

.

สำหรับตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง นางภัทรียา กล่าวว่า น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อดูจากสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีนักวิเคราะห์ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนก็อยู่ในทิศทางที่ดี ทำให้เราได้รับผลดีตามไปด้วย 

.

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่เข้าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น จากช่วงต้นปีถึงปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนเข้ามาใหม่แล้ว 8 บริษัท และที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)แล้ว 8-10 บริษัท และอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติอีก 8-10 บริษัท หากภาวะตลาดเอื้ออำนวยก็เชื่อว่าจะทำให้บริษัทเหล่านั้นมีความสนใจเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเอง