เนื้อหาวันที่ : 2009-08-03 10:32:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2060 views

ก.แรงงานญี่ปุ่นเผยค่าแรงเดือนมิ.ย. ร่วงต่อเนื่องหนังเอกชนเลิกจ่ายโบนัส

ค่าแรงในญี่ปุ่นร่วงลงอย่างรวดเร็วในเดือนมิ.ย. หลังบริษัทต่าง ๆ พากันยกเลิกการจ่ายโบนัส ส่งสัญญาณกลุ่มผู้บริโภคไม่ใช่ปัจจัยช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้น

ค่าแรงในญี่ปุ่นร่วงลงเร็วมากเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทต่างๆพากันยกเลิกการจ่ายเงินโบนัส เพื่อปกป้องผลกำไรที่หดตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งค่าแรงที่ลดลงนี้ถือเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่า กลุ่มผู้บริโภคยังไม่นับเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  

.

กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ค่าแรงที่นับรวมค่าทำงานล่วงเวลาและโบนัสของญี่ปุ่นอ่อนตัวลง 7.1% จากระดับปีที่แล้ว แตะ 430,620 เยน หรือ 4,500 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้มีการสำรวจค่าแรงเมื่อปี 2533 ขณะที่เงินโบนัสหดตัวลง 14.5%

.

บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นชาร์ปไปจนถึงโซนี่ต่างรายงานตัวเลขขาดทุนหลังจากที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงสุดหลังสงครมโลก ขณะที่อัตราว่างงานปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ 5.4% เมื่อเดือนมิ.ย. ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ 

.

บลูมเบิร์กรายงานว่า ยูอิชิ โคดามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเมจิ ยาซูดะ ไลฟ์ อินชัวรันซ์ กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่อ่อนตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้รับปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคแต่อย่างใด แรงกดดันเรื่องการลดค่าแรงจึงเป็นแรงกดดันที่หนักหน่วง และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างๆต้องเผชิญหน้ากับภาวะจำนวนแรงงานและการผลิตที่มากเกินไป 

.

ค่าแรงที่ลดลงนี้นับเป็นตัวเลขที่ลดลงติดต่อกันมา 13 ครั้งแล้ว ซึ่งถือเป็นสถิติการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องนานที่สุดในรอบ 6 ปี นับเป็นอีกสถานการณ์ที่ตอกย้ำเรื่องความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปอีกในญี่ปุ่น ส่วนราคาผู้บริโภคที่ไม่นับรวมอาหารสดอ่อนตัวลงถึง 1.7% ในเดือนมิ.ย.จากระดับปีที่แล้ว 

.

โดยปกติแล้ว เงินโบนัสฤดูร้อนของญี่ปุ่นจะจ่ายกันในเดือนมิ.ย.หรือก.ค. ซึ่งเงินโบนัสดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้ต่อปีของพนักงานที่ทำงามแบบเต็มเวลา 

.

เคียวเฮอิ โมริตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ส แคปิตอล กล่าวว่า การส่งออกและการผลิตตกลงถึงจุดต่ำสุดเมื่อเดือนก.พ. แต่ตราบใดที่ยังมีแรงกดดันเรื่องการลดต้นทุนแล้ว เป็นเรื่องยากที่กลุ่มผู้ผลิตและภาคครัวเรือนจะเข้าสู่ช่วงเวลาของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน