เนื้อหาวันที่ : 2006-11-16 10:25:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6118 views

เศรษฐกิจนอกระบบเหมาะสมหรือไม่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยิน คำว่าเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งก็อาจจะมีคำถามว่าเศรษฐกิจนอกระบบที่พูดถึงนั้น คืออะไร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยิน คำว่า เศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งก็อาจจะมีคำถามว่าเศรษฐกิจนอกระบบที่พูดถึงนั้น คืออะไร แล้วระบบ ที่ว่ามัน คืออะไร และการนำเอาของที่มันอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบจะดีหรือไม่ หรือปล่อยให้อยู่นอกระบบอย่างเดิมจะดีกว่า

.
เศรษฐกิจนอกระบบหรือในระบบ

เมื่อพูดถึง เศรษฐกิจในระบบ เราก็จะหมายถึง ธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบบัญชีที่ใช้ในการวัด GDP ของสหประชาชาติ หรือ Statistical of National Account (SNA) ซึ่งระบบบัญชีนี้ได้จัดตั้งเป็นมาตรฐานสากลขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะวัดระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในแต่ละประเทศ โดยยึดเอา GDP เป็นมาตรวัดที่สำคัญ โดย GDP สามารถวัดได้จาก 3 ทาง คือ ผลผลิต รายได้และรายจ่าย  ทั้งนี้ในทางปฏิบัติจริงมักจะทำจากฝั่งรายจ่ายมากกว่า  เพราะสามารถวัดได้ง่ายและถูกต้องมากกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านพึงรู้ไว้ คือ GDP ไม่ได้แสดงถึงระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในประเทศเสมอไป ยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เข้ามามีอิทธิพลควบคู่กันไปด้วย เช่น ปัจจัยด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีสามารถทำให้สินค้าคุณภาพดีขึ้นในขณะที่ราคาสินค้าถูกลง นั้นหมายถึงว่ารายจ่ายที่จ่ายออกมามีมูลค่าลดลง ตัวเลขที่บันทึกลงในบัญชีก็ลดลง แต่ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ โทรศัพท์มือถือปัจจุบันราคาลดลงไปมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ราคาเครื่องเป็นแสน

.

เมื่อ เศรษฐกิจในระบบ ความหมายครอบคลุมถึงธุรกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่อยู่ในระบบบัญชีรายได้ประชาชาติ (SNA) เศรษฐกิจนอกระบบ ก็ต้องหมายถึง ธุรกรรมทางเศรษฐกิจทุกธุรกรรมที่ไม่ได้อยู่ในระบบบัญชีของ SNA ดังนั้น เศรษฐกิจนอกระบบประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

..

1.เศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่เป็นทางการ เป็นเศรษฐกิจที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น กฎหมายแรงงาน ประกันสังคม ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดเล็ก ซึ่งค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งด้านความมั่นคงในการทำงานและรายได้ เช่น เกษตรกรรายย่อย หาบเร่ แผงลอย ตลาดนัด รถจักรยานยนต์รับจ้าง การรับงานมาทำที่บ้าน ธุรกิจชุมชน และธุรกิจในครัวเรือน การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริการเหมือนตลาดปกติ แต่กลับไม่ได้ใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ทำให้ปริมาณสินค้า และบริการไม่ผ่านการบันทึกเป็นข้อมูลทางการ

.

2.เศรษฐกิจนอกระบบที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ การพนัน การค้าประเวณี การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธสงคราม การค้าน้ำมันเถื่อน และการค้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกรรมที่ผิดกฎหมายก็จะไม่อยู่ในระบบ SNA ของสหประชาชาติอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นที่น่าสังเกตว่า มีหลายคนที่สับสนและเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจนอกระบบ คือ เศรษฐกิจผิดกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วเศรษฐกิจผิดกฎหมายนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนอกระบบ  หากพิจารณาดูประเภทของเศรษฐกิจนอกระบบแล้ว จะมีคำถามว่ารัฐจะจัดการที่ดี และเป็นธรรมได้อย่างไรกับธุรกิจเหล่านี้ ที่มีทั้งฝ่ายการเมืองและหน่วยงานรัฐในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องอยู่ด้วยจำนวนไม่น้อย

.

นอกจากนี้เศรษฐกิจนอกระบบยังอาจเกิดจากการแทรกแซงของรัฐบาลต่อธุรกิจเอกชน หรือต่อเศรษฐกิจตลาดอย่างไม่เหมาะสม ที่มีทั้งฝ่ายการเมือง หน่วยงานรัฐในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องอยู่ด้วยจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างเช่น        

.

1) ภาษีอากร นโยบายการจัดเก็บภาษีอากรในอัตราที่สูง หรือสูงมากขึ้น อาจทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมากขึ้น และยิ่งกว่านั้นถ้าประชาชนมีข้อมูลข่าวสารว่าเงินภาษีที่จัดเก็บไปแล้วนั้น รัฐบาลนำไปใช้จ่ายในลักษณะสูญเปล่า และจัดเก็บอย่างไม่เป็นธรรม จะทำให้ประชาชนพยายามหลีกเลี่ยงภาระภาษีเพิ่มมากขึ้น   

.

2) ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ มักมีความพยายามที่จะหนีออกจากการควบคุมก็จะมากขึ้น โดยเฉพาะกฎระเบียบในตลาดแรงงาน ตลาดสินค้า ตลาดการเงินในประเทศและตลาดเงินตราต่างประเทศ        

.

 3) การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย การคอร์รัปชั่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน การออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของนักการเมือง อำนาจหน้าที่การงานในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อในการให้คุณให้โทษเหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มต้องให้สินจ้างรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน เช่น เงินใต้โต๊ะจากโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และส่วยประเภทต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้สิทธิพิเศษนั้น และโดยทั่วไปรายได้ส่วนนี้จะไม่ถูกรายงานต่อเจ้าหน้าที่ภาษีของรัฐ ไม่ว่าเศรษฐกิจนอกระบบจะครอบคลุมกว้างถึงกิจกรรมใดก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคงเป็นเรื่องของการที่รัฐบาล จะนำเอาเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาไว้ในระบบเพื่อให้ GDP เพิ่มขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นผลรวมของผลผลิตทั้งสินค้าและบริการ ที่คนในชาติช่วยกันสร้างขึ้นมาในแต่ละปี ยิ่งผลิตมากก็ยิ่งมีการจ้างงาน และมีรายได้สูงขึ้น  GDP จึงเป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งของชาติ และเป็นตัวชี้วัดขนาดของเศรษฐกิจ ที่อยู่ในระบบของแต่ละประเทศ ว่ามีขนาดใหญ่มากน้อยเพียงใด แต่เมื่อเราจับประเด็นนี้มาวิเคราะห์อย่างจริงจังแล้ว เศรษฐกิจนอกระบบทั้งแบบไม่ผิดและผิดกฎหมายนั้น ไม่ได้ทำให้ GDP ดีขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ คำถาม คือ ทำไม คำตอบ ก็คือ เพราะว่าการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายไม่น่าจะมีการรายงานรายได้ที่แท้จริง และธุรกรรมผิดกฎหมายเหล่านั้นก็จะมีการดำเนินต่อไป โดยผ่านการฟอกเงินและนำไปใช้จ่าย เมื่อมีการนำไปใช้จ่ายนั้นหมายความว่าธุรกรรมเหล่านั้นได้มีการบันทึกลงไปใน GDP โดย Expenditure Approach เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในทำนองเดียวกันธุรกรรมที่ไม่ได้ผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็น หาบเร่ แผงลอย ตลาดนัด รถจักรยานยนต์รับจ้าง ฯลฯ ก็มีการบันทึกลงใน GDP ผ่านทาง  Expenditure Approach แล้วเช่นกันการดำเนินการที่ผ่านมา

.

ที่ผ่านมามีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การจัดการการเงินนอกระบบ เนื่องจากว่าการกู้ยืมเงินจากธนาคาร ให้แก่ผู้ที่ที่ยังไม่มีเครดิตทางการเงินดีพอ เช่น พ่อค้า แม่ค้ารายย่อย ประชาชนผู้ที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก คนกลุ่มนี้จึงต้องกู้เงินจากการเงินนอกระบบที่โดยทั่วไปมีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก และมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ในประเด็นนี้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขโดยการตั้งธนาคารประชาชนขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้ธนาคารประชาชนเป็นแหล่งเงินกู้สำหรับท้องถิ่น และเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย บุคคลที่มีรายได้น้อยสามารถมีการจัดระบบระเบียบแบบแผนในการจัดการการเงินของตนเองให้ดีขึ้น เพราะสาเหตุของการเข้าไปสู่เงินกู้นอกระบบส่วนหนึ่งก็คือ การขาดการจัดการที่ดี การขาดวินัยทางการเงิน ขาดการวางแผนล่วงหน้าในการใช้เงิน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องหันเข้าสู่การเงินนอกระบบในที่สุด  

.

การนำหวยเถื่อนขึ้นมาอยู่บนดิน หากพิจารณาในแง่ศีลธรรมอาจไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับการแข่งม้า การขายลอตเตอรี่ แต่หากพิจารณาในด้านบวกแล้วอาจทำให้สามารถลดปัญหาสังคมที่รุนแรงลงได้มาก ตลอดจนสามารถนำรายได้ที่เคยเป็นของแหล่งอิทธิพลมาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคม และยังมีโอกาสที่จะกำจัดให้หมดไปได้ในระยะยาว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องตั้งโจทย์ถามว่า รัฐนำเงินที่ได้จากการเอาหวยมาอยู่บนดินไปพัฒนาให้เกิดความเจริญแบบยั่งยืนกับชุมชนของประชาชนผู้มีรายไดน้อยจริงหรือไม่ และไม่เป็นการสนับสนุนให้เกิดการฟุ้งเฟ้อ และคาดหวังกับการรวยจากการถูกรางวัลมากกว่าการมีมานะทำงาน เพราะหลายครั้งที่รัฐออกมาบอกว่าไม่อยากให้มีการเล่นหวย แต่กับออกสลากพิเศษหลายประเภทมาล่อใจคนจนมากขึ้น จนปัจจุบันทำให้หวยกลายเป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ของคนจนหรือเรียกว่าเป็น ภาษีคนจน ก็ได้      

.

อีกประเด็นที่พูดถึงกันมากนั้นคือ ความต้องการที่จะเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย โดยอ้างว่าเป็นการนำรายได้เข้าประเทศ และถึงอย่างไรคนก็แอบเล่นกันอยู่แล้ว ในประเด็นนี้ผมขอนำหลักคิดสองหลักมาจับ Zero Sum Game กับ Wealth Transfer การเล่นพนันจะมีลักษณะเป็นเกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์ (Zero Sum Game) ซึ่งการเสียพนันของคนๆ หนึ่งจะต้องตกเป็นการได้พนันของอีกคนหนึ่งเสมอ หากเจ้ามือกินรวบ เงินที่เจ้ามือได้ทั้งหมดก็จะเท่ากับ ผลรวมของเงินที่ลูกมือทั้งวงเสีย ซึ่งในกรณีนี้นับได้ว่าเป็นเพียงการโอนความมั่งคั่ง (Wealth Transfer) หรืออำนาจการจับจ่ายใช้สอย จากผู้เล่นพนันไปสู่เจ้ามือเท่านั้น โดยมิได้มีสินค้า หรือบริการเกิดขึ้นในระบบแต่อย่างใด และเมื่อเป็นการเปลี่ยนของความมั่งคั่งไม่ได้เกิดผลผลิต ดังนั้น เงินที่เกิดขึ้นจากการพนันจึงไม่ถูกบันทึกลงเป็น GDP หรือ หลายท่านอาจแย้งว่าถ้าเราเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย ก็จะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น แต่ GDP ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่ จุดนี้ก็น่าจะเป็นจุดที่ต้องคำนึงถึงเช่นกันต้นทุนทางสังคม 

.

การมองปัญหาหรือการคำนึงถึงปัญหาต่อเศรษฐกิจนอกระบบไม่ควรมองเป็นเพียงด้านผลได้เป็นหลัก การคิดเพียงว่าจะนำเม็ดเงินที่มีอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างไร จะมีวิธีการไหนที่ทำได้บ้าง ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เพียงพอ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นการสร้างความสับสนให้กับเด็ก เยาวชน และผู้คนในสังคม เนื่องจากศาสนาสอนให้คนทำความดี แต่การที่รัฐเข้าไปบริหารจัดการกิจกรรมเหล่านี้ให้ถูกกฎหมายเป็นแนวทางที่บังคับให้สังคมเกิดการยอมรับในลักษณะค่อยๆ ซึมซับกันไป และมีความมั่นใจมากขึ้นว่า สามารถทำได้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะมีกฎหมายรองรับ ในอนาคตถ้า GDP ของไทยก็จะรวมเอาผลผลิตหรือรายได้ ซึ่งมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายเป็นอบายมุข ผิดศีลธรรม เข้าไปรวมไว้ใน GDP เพราะถูกแปลงให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย มีการเสียภาษีถูกต้องอยู่ในระบบ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งของชาติที่ตั้งอยู่บนความเสื่อม การเบียดเบียนกัน และเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ แม้ประเด็นของจีดีพีอาจจะเป็นผลพลอยได้ก็ตาม เพราะในปัจจุบันปัญหาความเสื่อมทางสังคมก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ ทุกวัน สิ่งเหล่านี้ก็กำลังขยายตัวเป็นพฤติกรรมเลียนแบบทั้งการค้าประเวณี การพนัน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ค่านิยมที่ผิดๆ นี้ ถือว่าเป็นการแสวงหาความมั่งคั่งโดยทางลัดอย่างหนึ่ง ยิ่งหากได้เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มีการแข่งขันเสรีก็ยิ่งจะสร้างปัญหาให้กับสังคม ผลกระทบของต้นทุนทางสังคมก็จะทวีความรุนแรงขึ้นในระยะยาวและยากต่อการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการใฝ่ศึกษาเรียนรู้ยิ่งลดลง ครอบครัวขาดความอบอุ่น เกิดปัญหาการเงินและหนี้สิน ปัญหาอาชญากรรม ขาดอิสรภาพ ถูกทารุณกรรม ขาดการพัฒนาศักยภาพ เกิดปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งปัญหาโรคเอดส์ ภาพสะท้อนของสังคมที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ไปทำลายทุนชีวิตและทำลายทรัพยากรมนุษย์โดยแท้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมแบบอย่าง หรือค่านิยมผิดๆ ให้กับสังคมไทย

.
สรุป   

การนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบเป็นสิ่งที่จะพิจารณาดูกันต่อไป โดยควรให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ที่เพียงพอการที่จะเข้าไปจัดการหรือควบคุมเศรษฐกิจนอกระบบจึงเป็นสิ่งที่ยาก เพราะพื้นฐานการจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ ทำได้ยากอยู่แล้ว และควรศึกษาวิเคราะห์ในการดำเนินการนำเศรษฐกิจนอกระบบประเภทใดประเภทหนึ่งเข้ามาอยู่ในระบบแล้วนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคมมากน้อยเพียงใด หากการนำธุรกรรมเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบแล้วมีผลที่เกิดขึ้นกับสังคมมีมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้ทางสังคม ในส่วน GDP ที่เพิ่มขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เราคนไทยซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนเมืองพุทธจะภาคภูมิใจได้ โดยเฉพาะ GDP ที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายอย่าง การพนันและการค้าประเวณี ซึ่งไม่ควรแปลงให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วในช่วงต้นว่า GDP ไม่ได้เป็นสิ่งที่แสดงการพัฒนาหรือชีวิตความเป็นอยู่สภาพสังคมที่ดีขึ้นเสมอไป

.

เอกสารอ้างอิง

1. “จัดการเศรษฐกิจนอกระบบ เคียงคู่องค์ความรู้ของภาครัฐรัตพงษ์ สอนสุภาพ, กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กรกฎาคม 2547

2. “เศรษฐกิจนอกระบบ ต้องเสริมค่านิยมสังคมดีงามกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547

3. “เศรษฐกิจ (นอกระบบ)ดร.นิตินัย ศิริสมรรถ, ประชาชาติธุรกิจ   ตุลาคม 2546

4. “เศรษฐกิจนอกระบบ: เศรษฐกิจที่ต้องกำกับ ดูแล มุมมอง ทนง พิทยะบทความพิเศษ   มติชนรายสัปดาห์   วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1226

5. “หัวใจ เศรษฐกิจนอกระบบ เศรษฐกิจ"กาสิโน" มุมมองของ สันติ บางอ้อ รองเลขาธิการสภาพัฒน์บทความพิเศษ มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1245

6. “เศรษฐกิจใต้ดิน: (1) การงอกงาม ใต้ร่มเงาโลกาภิวัตน์บทความพิเศษโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย (TTMP) โดยการสนับสนุนของ สกว.  มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1213