เนื้อหาวันที่ : 2009-07-29 17:43:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1480 views

วรรณรัตน์ ชูธง อาเซียนเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานทดแทนในเอเชีย

รมว.พลังงาน คุยโวพร้อมผลักดันแผนปฏิบัติการอาเซียน ด้านพลังงาน ปี 2010 - 2015 ชี้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนกิจการด้านพลังงานร่วมกันกว่า 400,000 ล้านบาท ลดการใช้พลังงานลง 8 %

"วรรณรัตน์" ชูธง อาเซียนเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานทดแทนในเอเชีย พร้อมผลักดันแผนปฏิบัติการอาเซียน ด้านพลังงาน ปี 2010 - 2015 ชี้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนกิจการด้านพลังงานร่วมกันกว่า 400,000 ล้านบาท ลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 8 และเกิดการใช้พลังงานทดแทนสูงกว่าร้อยละ 15 ภายใน 5 ปี

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ครั้งที่ 27 (ASEAN Ministers on Energy Meeting : AMEM) ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศสหภาพพม่า โดยเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ชาติ การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน + 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) และการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน + 6 หรือ East Asia Summit (EAS) เพิ่ม อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 27 (ASEAN Ministers on Energy Meeting: AMEM) ได้ร่วมกันพิจารณา เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการอาเซียน 2010 - 2015 เพื่อความร่วมมือด้านพลังงาน หรือ ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation, APAEC ตามที่ประเทศไทยเสนอในฐานะประธานการจัดทำแผน ซึ่งจะเป็นกรอบความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยแผนปฏิบัติการอาเซียน ดังกล่าว จะประกอบด้วย 

.

1. แผนงานสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid, APG) 2. แผนงานการวางท่อก๊าซอาเซียน (Trans ASEAN Gas Pipeline, TAGP) โดยเฉพาะการวางท่อเชื่อมต่อในแหล่งก๊าซที่มีความเป็นไปได้สูง เช่น แหล่งนาทูน่า ในอินโดนีเซีย 3. ความร่วมมือด้านถ่านหิน ในการสนับสนุนให้ชาติในกลุ่มสมาชิกอาเซียนใช้เทคโนโลยีจากถ่านหินสะอาด ตลอดจนการวางมาตรฐานด้านราคา (Coal price index) 4. การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน 5. แผนการใช้พลังงานทดแทนในภูมิภาค 6. แผนปฏิบัติการรองรับในภาวะฉุกเฉิน และ 7. แผนความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ 

.

โดยแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน ทั้ง 7 ข้อ เชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการพลังงานร่วมกัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท รวมทั้งจะช่วยผลักดันให้ชาติในอาเซียน ลดการใช้พลังงานในภูมิภาคลง ร้อยละ 8 และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในภูมิภาคได้ ร้อยละ15 ของความสามารถในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ที่สำคัญจะผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนได้เป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนในทวีปเอเชีย โดยพลังงานทดแทนที่คาดว่าจะมีศักยภาพสูงสุดในอนาคต ได้แก่ ไฟฟ้าพลังน้ำ และพลังงานความร้อนใต้ภิภพ

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ยังได้เห็นชอบร่วมกันในกรอบความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตร ได้แก่ ความร่วมมือกับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) โดยเฉพาะการผลักดันด้านการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งคาดว่า EU จะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในการส่งออกไบโอดีเซลในอนาคต ความร่วมมือกับประเทศในชาติสมาชิกโอเปค ซึ่งประเทศไทยได้เสนอให้มีการประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในระดับรัฐมนตรีว่าการ ฯ และระดับผู้เชี่ยวชาญ

.

ในเรื่องสถานการณ์พลังงาน การพัฒนาตลาดน้ำมัน และเชื้อเพลิงชีวภาพ และความร่วมมือของประเทศในชาติสมาชิกอาเซียน ที่จะสนับสนุนประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต(UAE) ให้เป็นสถานที่ตั้งขององค์กร IRENA หรือทบวงพลังงานทดแทนโลก ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ ภายใต้สหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่ง UAE มีเป้าหมายที่จะพัฒนา เมืองหลวง กรุงอาบูดาบี ให้เป็นเมืองแห่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต