เนื้อหาวันที่ : 2009-07-29 13:41:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1216 views

คลังโปรยยาหอม ศก.ไทยเริ่มดีขึ้นคาดตัวเลขติดลบเหลือ 5-6%

สมชัย เผยเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น คาด 2/52 หดตัว 5-6% มั่นใจฟื้นตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/52 แม้มีปัจจัยเสี่ยงเบิกจ่ายงบฯ ต่ำกว่าเป้า รายได้จากการท่องเที่ยวหดหาย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

.

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) แถลงภาวะเศรษฐกิจการคลัง เดือน มิ.ย.52 และไตรมาส 2/52 ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าไตรมาส 2/52 หดตัว 5-6% ลดลงจากไตรมาส 1/52 ที่หดตัว 7.1% และเชื่อมั่นว่าจะสามารถฟื้นตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4/52 แม้ว่าจะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงมาก

.

สัญญาณที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.และไตรมาส 2/52 สะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่กลับมาเพิ่มขึ้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวที่ชะลอลงเช่นกัน แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง 

.

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการจ้างงานในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงมาก 

.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชียวขชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีสัญญาณบวกมากขึ้น จากการส่งออกที่มีอัตราการหดตัวชะลอลง และการบริโภคภายในประเทศหดตัวน้อยลงเช่นกัน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าน่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่การลงทุนภาคเอกชนยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากยังหดตัวต่อเนื่อง 

.

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังน่ากังวลเกี่ยวกับการระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากกระทบความเชื่อมั่น ทำให้ประชาชนหยุดการใช้จ่าย 

.

ทั้งนี้ ในด้านนโยบายการคลังคงต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งงบประมาณประจำปี 52 ที่มีเป้าหมายเบิกจ่าย 94% และการเบิกจ่ายงบกลางปี 1.16 แสนล้านบาท ที่ต้องเบิกจ่ายให้หมดภายใน ก.ย.52 รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 

.

ขณะที่นโยยายการเงินจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้องมาเร่งการปล่อยสินเชื่อเข้าระบบ ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณที่ดีที่ธปท.เริ่มให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อ โดยมองว่าควรจะผลักดันให้สินเชื่อในปีนี้ขยายตัวให้ได้ 5% เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบ 

.

สำหรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน กระทรวงการคลังคงไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท. แต่ทำได้ตามกลไกที่มีอยู่ โดยการผลักดันการนำเงินออกนอกประเทศ ให้มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ 

.

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาปรับลงภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าทุน เพื่อใช้ในการส่งออก เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมผู้ส่งออกให้มีการส่งออกสินค้ามากขึ้น  

.
*คาดธปท.ปรับเป้าเงินเฟ้อหลังหลุดไป 1 ไตรมาส

นายเอกนิติ กล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้อพื้นฐานได้หลุดกรอบเป้าหมายของ กนง.มาแล้ว หนึ่งไตรมาส ซึ่งเห็นว่า หากปล่อยให้เงินเฟ้อพื้นฐานหลุดกรอบต่อไป เป็นห่วงว่าจะมีปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่วนจะมีการปรับกรอบเงินเฟ้อหรือไม่คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งนี้คาดว่าต้องคงรอเงินเฟ้อพื้นฐานอีก 1 ไตรมาส 

.

"เงินเฟ้อที่ดลลงจนติดลบ และหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมัน ...คิดว่าแบงก์ชาติ คงต้องรอดูเงินเฟ้อพื้นฐาน 2 ไตรมาส ซึ่งตอนนี้ติดลบไปแล้ว 1 ไตรมาสก่อน"นายเอกนิติ กล่าว 

.

อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI)ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน มิ.ย.52 อยู่ที่ระดับ 102.5 ลดลง 1.0% จากเดือน มิ.ย.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือน พ.ค.52 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - มิ.ย.52) ยังเพิ่มขึ้น 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน