เนื้อหาวันที่ : 2009-07-28 16:14:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1909 views

นิด้าแนะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เร่งปรับตัว สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ตกต่ำถึงขีดสุด รอการฟื้นตัว นิด้าเผยดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยหลุดต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรก

.

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ตกต่ำถึงขีดสุด รอการฟื้นตัว ด้าน นิด้า บิซิเนส สคูล เผยดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยสะท้อนถึงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากดัชนีหลุดต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการจัดทำมา

.

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เปิดเผยว่า จากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 "ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555" ซึ่งได้ผ่านขบวนการอนุมัติของรัฐสภาในเดือน มิ.ย. 2552 นั้น SCRI ประเมินว่า จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2553-2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในกรอบ ปีละ 1.0-2.5% แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าจะส่งผลให้ภาพโดยรวมของเสถียรภาพการคลัง จะเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

.

โดย SCRI ประเมินสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 60% ต่อ GDP ภายในช่วงปี 2555 ขณะที่ความเสี่ยงในด้านของสภาพคล่อง จากผลของการออกพันธบัตรรัฐบาลเข้ามาดูดซับสภาพคล่องในตลาด คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักในช่วงปี 2552 เนื่องจากยังคงเหลือปริมาณเงินในระบบอีกพอสมควร 

.

อย่างไรก็ตาม SCRI ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป สภาพคล่องในระบบมีความเสี่ยงสูงที่จะตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปัจจัยการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเริ่มส่งผลให้มีความต้องการลงทุนเพิ่มเติมจากทางภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วอาจจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงิน มีโอกาสสูงที่จะเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป

.

นายสุกิจ กล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกโดยตรง โดยบริษัท

.

จดทะเบียนกลุ่มยานยนต์มีกำไรสุทธิในงวด Q1/52 ลดลงถึง 136% yoy นอกจากนี้ในมุมมองของนักวิเคราะห์แล้วข้อมูลจาก Analyst Consensus ได้มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2552 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มยานยนต์ลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2552 อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแนวโน้มของการปรับประมาณการแล้วจะเห็นได้ว่าการปรับประมาณการกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มยานยนต์นั้นเริ่มที่จะชะลอลงตั้งแต่เดือน พ.ค. - มิ.ย. 2552

.

ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในช่วงต่ำสุดของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้และกำลังรอการฟื้นตัว แต่ SCRI ประเมินว่าการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มยานยนต์ช่วง 2H/52 นั้นจะเป็นผลมาจากการกลับมาเดินเครื่องผลิตเพื่อชดเชยปริมาณสำรองที่ลดลงมากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

.

ผศ.ดร.ธัชวรรณ กนิษฐ์พงศ์  หัวหน้าโครงการจัดทำดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Business School) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศด้วยกันเอง พบว่าดัชนีมีแนวโน้มลดลงอย่างรุนแรง โดยลดลงจาก 102.70 ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 92.89 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีในช่วงปลายปี 2550 เป็นต้นมา ที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 

.

สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินครั้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐฯ ที่ลุกลามจนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งศักยภาพในการรองรับวิกฤติเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเองที่ยังมีจุดเปราะบางในหลายด้านด้วยกัน อาทิ การพึ่งพาตลาดส่งออกในสัดส่วนที่สูง เป็นต้น

.

ทั้งนี้ หากจำแนกผู้ผลิตชิ้นส่วนออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะการผลิต พบว่า กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน 1st-Tier มีขีดความสามารถสูงสุด รองลงมาคือ กลุ่ม 2nd- Tier และกลุ่ม 3rd- Tier โดยมีค่าดัชนี 93.80, 91.74 และ 88.81 ตามลำดับ ซึ่งจุดแข็งที่ผู้ผลิตทุกกลุ่มมีร่วมกันคือ การส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา คุณภาพสินค้า ความมีชื่อเสียงของบริษัท เป็นต้น

.

สำหรับปัจจัยด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เสถียรภาพทางการเมือง นโยบายของรัฐบาล การคอรัปชั่น โดยกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน 3rd- Tier จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

.

ผศ.ดร.ธัชวรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการมีต่อภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เร่งรัดโครงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบ แม่พิมพ์ และเครื่องมือเครื่องจักร พัฒนาฐานข้อมูลด้านการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดตั้งศูนย์ทดสอบชิ้นส่วน รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว