เนื้อหาวันที่ : 2009-07-28 09:34:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2879 views

กฟผ.เซ็นสัญญา ถิรไทยผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ใหญ่ที่สุดที่ผลิตภายในประเทศ

กฟผ. เซ็นสัญญากับถิรไทยซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้า 2 เครื่อง มูลค่าเกือบ 200 ล้านบาท เป็นหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดกำลังที่ใหญ่ที่สุดที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ผลิตของคนไทยรายแรกที่สามารถผลิตได้

.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไว้วางใจ บมจ.ถิรไทย หรือ TRT เซ็นสัญญาสั่งซื้อขายหม้อแปลงไฟฟ้า 300 MVA 230/121-11 kV auto-transformer จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าเกือบ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดกำลังที่ใหญ่ที่สุดที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ผลิตของคนไทยรายแรกที่สามารถผลิตได้ เตรียมติดตั้งสถานีไฟฟ้าบางพลี พร้อมรับรู้รายได้ประมาณไตรมาส 3 ปี 2553

.

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาด เปิดเผยว่า เป็นเกียรติประวัติของบริษัทอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ตกลงสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ตามหนังสือสั่งซื้อเลขที่ EGAT 944102-3/18051 ให้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาด 300 MVA 230/121-11 kV auto-transformer จำนวน 2 เครื่อง มูลค่างานรวม 196,670,500 บาท เพื่อใช้สำหรับติดตั้งสถานีไฟฟ้าบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และถือได้ว่าหม้อแปลงดังกล่าวเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดกำลังที่ใหญ่ที่สุดที่ผลิตภายในประเทศอีกด้วย

.

บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ดำเนินงานมายาวนานกว่า 20 ปี เป็นบริษัทของคนไทยเพียงรายเดียว ที่สามารถผลิตหม้อแปลงได้ครบทุกขนาด ตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายในการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงหม้อแปลงไฟฟ้าทุกประเภท เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบอุตสาหกรรม และระบบการจ่ายไฟฟ้าของประเทศ พร้อมที่จะให้บริการฉุกเฉินได้ทุกกรณี

.

นอกจากนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัว หรือการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทางบริษัท จึงได้มีการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญครั้งที่ 1 (TRT-W1) จำนวน 67,547,500 หน่วย ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา โดยมีราคาการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ ในราคา 3 บาท ต่อ 1 หุ้น และคาดว่าจะได้รับเงินจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นในครั้งนี้ประมาณ 200 ล้านบาท

.

โดยเงินดังกล่าวจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ทั้งยงช่วยสร้างฐานะทางการเงินให้มั่นคง โดยตั้งเป้า 2 ปีข้างหน้าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E RATIO) ลดลงเหลือ 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3-2 เท่า

.

สำหรับปีนี้บริษัทมั่นใจว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 2,600 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้งานในมือ (Back log) ที่มีอยู่มูลค่ากว่า 2,200 ล้านบาท และบริษัทจะพยายามรักษาอัตราการเติบโตของกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) นี้ให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 20-25 % ซึ่งรายได้หลักในปีนี้จะมากจากงานภาครัฐ เอกชน และส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 33 % เท่า ๆ กัน

.

"แม้เศรษฐกิจโลกจะมีการผันแปรไปตามสภาพ แต่บริษัทเราก็ถือว่ายังอยู่ในสภาพที่โชคดีกว่าธุรกิจอื่นๆ เพราะด้วยความที่ธุรกิจเรายังอยู่ในประเภทสาธารณูปโภคที่ยังมีความจำเป็นของประเทศและภูมิภาค ซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของภาคการไฟฟ้าในส่วนการส่งออกก็ยังคงมีการขยายไปเรื่อยๆ ตามอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเอเชียใต้" นายสัมพันธ์กล่าวปิดท้าย